“ยะใส” ถาม 2 พรรคใหญ่ไม่เอา “ไพรมารีโหวต” แล้วจะแก้ปัญหา “แฟมิลีโหวต” อย่างไร เสียดายนักการเมืองทิ้งโอกาสกู้วิกฤตศรัทธาระบบตัวแทน
วันนี้ (2 ก.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) แสดงความเห็นว่า ไม่แปลกใจที่บรรดาพรรคการเมืองโดยเฉพาะสองพรรคใหญ่ทั้งพรรคเพื่อไทย และ พรรคประชาธิปัตย์ ประการศจุดยืนในนามพรรคค้านระบบไพรมารีโหวต (primary vote) หรือการเลือกตั้งชั้นต้นที่ปรากฏในร่าง พ.ร.ป. พรรคการเมือง และก็ไม่แปลกใจที่บรรดา ส.ส. ที่เคยออกมาสนับสนุนตอนนี้ก็เงียบหายไป ซึ่งก็ตอกย้ำวัฒนธรรมพรรคการเมืองแบบไทยๆ ที่มีเจ้าของไม่กี่คน
ถ้อยแถลงของทั้งพรรคเพื่อไทย และ พรรคประชาธิปัตย์ มีจุดยืนคล้ายๆ กัน คือ การโจมตีจุดอ่อนของระบบไพรมารีโหวตล้วนๆ แต่ไม่ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อดีเลย โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับระบบสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองในขณะนี้ที่ไม่เป็นระบบ ผูกขาดโดยเจ้าของพรรคไม่กี่คน และนายทุนพรรค ทำให้คนขับรถ คนติดตาม หรือเครือญาดิใกล้ชิดเจ้าของพรรค ก็สามารถเลือกพื้นที่ลงเลือกตั้งได้โดยไม่สนใจประชาชนในเขตนั้นว่าจะรู้สึกอย่างไร จนกลายเป็นระบบแฟมิลีโหวต (family vote)
อย่าลืมว่าวิกฤตศรัทธาต่อนักการเมืองที่รุนแรงขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนและสังคมไม่ไว้วางใจนักการเมืองมากขึ้น จนกลายเป็นวิกฤตระบบตัวแทน เพราะผู้แทน หรือ ส.ส. ไม่ได้สะท้อนความเป็นตัวแทนของประชาชนจริงๆ
ระบบไพรมารีโหวตที่ปรากฏใน ร่าง พ.ร.ป. พรรคการเมือง แม้มีปัญหาอยู่บ้าง แต่กรรมาธิการร่วม สนช. และ กรธ. ก็สามารถปรับแก้เพื่อให้สามารถปฏิบัติจริงได้ เช่น การกำหนดพื้นที่นำร่อง การสนับสนุนทุนและทรัพยากรให้พรรคการเมือง หรือมีแผนริเริ่มที่ยืดหยุ่นในช่วงแรกๆ แต่ถ้าจะตั้งธงค้านไม่เอาเลยในขณะที่ของเก่าก็ไม่ยอมรับว่ามีปัญหา อันนี้เราก็ไม่สามารถคาดหวังการปฏิรูปพรรคการเมืองได้เลย
พรรคการเมืองก็มีสิทธิค้าน แต่ก็ต้องมีทางออกให้กับประชาชนที่คาดหวัง และอยากเห็นการปฏิรูปพรรคการเมืองด้วยโดยเฉพาะการทำลายรื้อระบบแฟมิลีโหวต และปรับตัวสู่พรรคการเมืองที่ประชาชนเป็นเจ้าของ และมีส่วนร่วมมากขึ้น น่าเสียดายที่พรรคการเมืองกำลังจะทำลายโอกาสของตัวเองในครั้งนี้ และเชื่อว่า วิกฤตศรัทธาต่อพรรคการเมืองและนักการเมืองก็ยังเป็นสิ่งที่เราจะเผชิญต่อไป