ปธ.กสม.แจงผลงาน 1 ปี 7 เดือนสางเรื่องร้องเรียนแล้วเกือบ 50% คุยเลื่องลือทั้งในและต่างประเทศ แต่โอดบกพร่องการสื่อสารข้อมูลต่อสาธารณะ หวังทีมสื่อสารองค์กรฯที่ตั้งขึ้นสดๆ ร้อนๆ โชว์ผลงานโค้งสุดท้าย จน สนช.ยอมทบทวนปมเซตซีโร่ “ประกายรัตน์” ยัน กสม.ชุดปัจจุบันมีความหลากหลายสอดคล้องหลักการปารีส
วันนี้ (6 ก.ค.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นำโดยนายวัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทำพิธีเปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยประจำสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เนื่องในโอกาสวันสถาปนาองค์กร กสม.ครบ 16 ปี พร้อมกับจัดกิจกรรม กสม.พบสื่อมวลชน : มิติความก้าวหน้าในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยระบุว่า ช่วงระยะเวล 1 ปี 7 เดือนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดปัจจุบัน ได้รับเรื่องร้องเรียนรวมจำนวนมาก จากสถิติ ณ วันที่ 31 พ.ค. 2560 มีเรื่องร้องเรียนรวม 937 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นประเด็นสิทธิชุมชนอันดับ 1 จำนวน 131 เรื่อง รองลงมาได้แก่ สิทธิมนุษยชนในพื้ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 91 เรื่อง สิทธิในกระบวนการยุติธรรม 82 เรื่อง สิทธิในที่ดินและการจัดทรัพยากรป่าไม้ 76 เรื่อง สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง 40 เรื่อง สิทธิผู้สูงอายุ ผู้พิการและการสาธารณสุข 35 เรื่อง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม 33 เรื่อง สิทธิสถานะกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าเมือง 31 เรื่อง และอื่นๆ ตามลำดับ ทั้งนี้ กสม.มีเป้าหมายในการสะสางเรื่องร้องเรียนให้ได้ 50% โดยขณะนี้ทำได้แล้ว 40-45%
นายวัสกล่าวถึงการเซตซีโร่ในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ สนช.รับหลักการวาระที่ 1 ไปแล้วว่า ได้มอบหมายให้เลขากรรมการสิทธิไปร่วมเป็นกรรมาธิการฯด้วย ซึ่งตนยังเห็นว่าไม่มีเหตุผลที่จะเซตซีโร่ กรรมการสิทธิฯ จึงหวังว่า สนช.จะพิจารณาปัญหานี้อย่าละเอียดรอบคอบในหลายด้าน เพราะเรามีผลงานแต่อาจบกพร่องในเรื่องการสื่อสารข้อมูลสู่สาธารณะ จึงมีการตั้งคณะทำงานสื่อสารองค์กรขึ้นมาเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมาซึ่งจะมีการประสานงานกับสื่อได้รวดเร็วขึ้น แต่ไม่ว่าจะเกิอะไรขึ้น กรรมการสิทธิฯ ชุดนี้จะทำงานไปเรื่อยๆ ผลงานของเราในประเทศมีเยอะและเป็นที่เลื่องลือในต่างประเทศ จึงอยากให้ สนช.พิจารณาให้รอบคอบ แต่ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็พร้อมยอมจะปฏิบัติตามนั้น เพราะ กสม.ไม่ใช่องค์กรออกกฎหมาย
นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิฯ กล่าวถึงกรณีที่มีการอ้างว่าหลักการปารีสกำหนดให้กระบวนการสรรหา กสม.ต้องมีความหลากหลาย เป็นเหตุให้ใช้เป็นข้ออ้างในการเซตซีโร่ กสม.ว่า หลักการปารีสไม่ได้ระบุเรื่องกระบวนการสรรหาต้องมีความหลากหลาย แต่ให้ความสนใจตัวกรรมการสิทธิต้องมีความหลากหลาย ซึ่งต้องบอกว่ากรรมการสิทธิฯ ชุดนี้มีความหลากหลายมากจริงๆ จึงฝากให้พิจารณาด้วย
นางเตือนใจ ดีเทศน์ ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร กล่าวถึงกรณีพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยนั้นได้มีการจัดทำเข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ รัฐสภา และกระทรวงคมนาคม ให้แก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่อขยายเวลาการแจ้งการฝ่าฝืนตามมาตรา 18 ออกไปอีกไม่น้อยกว่า 1 ปี พร้อมแก้ไขกฎกระทรวงโดยกำหนดให้อาคารและบ้านเรือน ศาลาริมน้ำ สะพานทางเดินลงน้ำ เป็นอาคารที่มีลักษณะและประเภทสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่พึงอนุญาต โดยกรมเจ้าท่าได้ขยายระยะเวลาการแจ้งสิ่งล่วงลำน้ำออกไป และสำนักนายกรัฐมนตรีได้บรรจุเรื่องดังกล่าวเข้าสู่วาระคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแล้ว
ส่วนกรณีผลกระทบจากโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่จังหวัดเชียงราย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร สระแก้ว ตราด ตาก กาญจนบุรี สงขลา และนราธิวาส ซึ่งประชาชนร้องเรียนรวม 14 คำร้อง เกี่ยวกับเรื่องผังเมือง การจัดการที่ดิน เพราะมีการดำเนินการโดยปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ เห็นว่าการกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการบริหารจัดการที่ดินและประเภทควรคำนึงถึงความเหมาะสมกับบริบทของสังคมในแต่ละพื้นที่ โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นและต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมด้วย พร้อมกับเสนอให้ครม.จ่ายชดเชยเยียวยาให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบ โดยได้รับการตอบสนองจากภาครัฐด้วยการระงับหรือชะลอโครงการ เช่นที่จังหวัดเชียงรายออกไปจนกว่าจะได้ข้อยุติ ทั้งนี้ อนุกรรมการฯ จะสรุปผลการตรวจสอบและข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลอีกครั้งภายในเดือนกันยายนนี้