กขร.เร่งกระทรวงคลังจัดทำร่าง พ.ร.บ.สถาบันการเงินชุมชน ใช้โมเดลศูนย์จัดการกองทุนชุมชน ของกรมพัฒนาชุมชนที่มีอยู่แล้ว หวังพัฒนา-บริหารการจัดเงินชุมชน พบแหล่งเงินทุนเข้าชุมชนจำนวนมาก ทั้งของราษฎร์-รัฐ แต่ขาดการบูรณาการ เหตุกองทุนแต่ละกองทุนมีระเบียบต่างกัน ขนาดกรรมการแตกต่างกัน แถมครัวเรือนเป็นหนี้ซ้ำซ้อนทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ
วันนี้ (4 ก.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล (กขร.) ที่มีนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เห็นชอบให้กระทรวงการคลัง ดำเนินการขับเคลื่อนและเร่งรัดการจัดทำร่างพระราชบัญญัติสถาบันการเงินชุมชน พ.ศ. ... เพื่อการพัฒนาการจัดการการเงินชุมชนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติสถาบันการเงินชุมชน พ.ศ. ... ถือเป็นกฎหมายในการปฏิรูปการเงินฐานรากในการพัฒนาการจัดการการเงินชุมชนของรัฐบาล จากรายงานของกรมการพัฒนาชุมชนพบว่า มีการจัดตั้งสถาบันการเงินชุมชน (ศูนย์จัดการกองทุนชุมชน) ซึ่งทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุนต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่หมู่บ้านตำบลในการบูรณาการข้อมูลเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่มีปัญหา จากสถานการณ์ปัจจุบันพบว่าชุมชนมีแหล่งเงินทุนจำนวนมาก ขาดการบูรณาการมีกองทุนแต่ละกองทุนมีระเบียบต่างกัน (นิติบุคคลและไม่เป็นนิติบุคคล) มีกรรมการหลายคณะ/คณะเดียว มีครัวเรือนเป็นหนี้ซ้ำซ้อนหลายกองทุนทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ
ขณะที่สถาบันการเงินทุนชุมชน (ศูนย์จัดการกองทุนชุมชน) มีการรวมตัวของกลุ่ม/องค์กร/กองทุนการเงินที่มีอยู่ในหมู่บ้าน/ชุมชน ทั้งที่จัดตั้งโดยภาคประชาชนและสนับสนุนจากภาครัฐ โดยการบูรณาการข้อมูลกองทุนในพื้นที่และบูรณาการเชื่อมโยงการบริหารจัดการเงินทุนในชุมชนให้สามารถใช้เงินทุนอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด มีวัตถุประสงค์เอส่งเริมการบูรณาการกลุ่ม/องค์กร/กองทุนการเงินให้มีการเชื่อมโยงการบริหารจัดการเงินทุนชุมชนให้เป็นระบบ มีความเป็นเอกภาพ สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินและบริหารจัดการชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีเป้าหมายเพื่อการบริหารจัดการหนี้ไปสู่ 1 ครัวเรือน 1 สัญญา
มีรายงานว่า สำหรับรูปแบบสถาบันการเงินทุนชุมชน (ศูนย์จัดการกองทุนชุมชน) ซึ่งคณะกรรมการขับเคลื่อนเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล (กขร.) ให้กระทรวงการคลังไปร่างเป็นพระราชบัญญัตินั้นจะต้องมีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่เข้มแข็งเป็นแกนหลักจัดตั้ง มีระเบียบการบริหารจัดการสถาบันการเงินทุนชุมชน กองทุนการเงินที่มีอยู่ในชุมชนเป็นสมาชิก และคณะกรรมการสถาบันมาจากตัวแทนกองทุน ผู้นำชุมชน มีหน้าที่บริหารหนี้ สำรวจจัดทำฐานข้อมูลลูกหนี้ (ลูกหนี้ของกลุ่ม/ภาวะหนี้สินครัวเรือน) วิเคราะห์ข้อมูล จัดประเภทลูกหนี้ แบ่งกลุ่มหนี้ ประชุมหารือ เจรจาต่อรองหาเจ้าภาพกลุ่ม กองทุนที่รับผิดชอบ โดยการปรับโครงสร้างหนี้ (อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาการชำระหนี้) ดำเนินการบริหารจัดการหนี้ (โอนภาระหนี้ ปรับเปลี่ยนสัญญา ทำทะเบียนครัวเรือน) ส่งเสริมอาชีพ ลดราย่าย เพิ่มรายได้ และติดตามดำเนินงาน
ข้อมูลของกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ปัจจุบันปี 2560 มีศูนย์จัดการกองทุนชุมชนครบทุกอำเภอทั่วประเทศ 924 แห่ง สามารถบริหารจัดการหนี้ตามนโยบาย 1 ครัวเรือน 1 สัญญา จำนวน 10,019 ครัวเรือน สามารถลดหนี้ 2,029 ครัวเรือน เป็นเงิน 66,282,454 บาท สามารถปลดหนี้ 552 ครัวเรือน เป็นเงิน 20,170,520 บาท