“คลัง” ย้ำแบงก์รัฐต้องดูแลประชาชน ไม่ควรมุ่งแสวงหากำไรเพียงอย่างเดียว สั่งแยกบัญชี 3 บัญชี เพื่อลดความซ้ำซ้อน พร้อมดูแลเอ็นพีแอลเพื่อให้สามารถสนับสนุนนโยบายของรัฐได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่จำเป็นต้องลงไปแข่งขันกับแบงก์พาณิชย์ แต่ควรเข้าไปรองรับในส่วนที่ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถให้บริการประชาชนได้
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ โดยระบุว่า เป็นการติดตามผลการดำเนินงาน และหารือหลักการทำงานในระยะต่อไปของแบงก์รัฐที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกิจของแต่ละธนาคาร รวมทั้งเติมเต็มช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนด้วย โดยไม่ต้องการให้มุ่งแค่การทำกำไรแต่เพียงอย่างเดียว
ด้าน นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เร่งประสานกับแบงก์รัฐทุกแห่งในการเร่งแก้ไขกฎหมายของแต่ละธนาคารในส่วนที่จำเป็น หลังจากที่การดำเนินงานเดินหน้าไปช้ามาก โดยการแก้กฎหมายครั้งนี้เพื่อปลดล็อก และเพิ่มบทบาทในการทำงานของแบงก์รัฐให้มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมมากขึ้น เช่น บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) บรรษัทสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (บสย.) และธนาคารออมสิน เป็นต้น
นอกจากนี้ ในปีบัญชีหน้าได้มอบหมายให้ทุกแบงก์รัฐเสนอคณะกรรมการธนาคารแต่ละแห่งให้มีการแยกบัญชีผลการดำเนินงานออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ บัญชีภาพรวม บัญชีโครงการตามนโยบายรัฐ (PSA) และบัญชีผลการดำเนินงานปกติ เพื่อลดความซ้ำซ้อนทางบัญชีลง รวมถึงให้ทุกแบงก์รัฐเตรียมความพร้อมรองรับผลกระทบที่จะเกิดจากการใช้ระบบ E-Payment ในปีหน้าด้วย ไปจนถึงการเพิ่มความใส่ใจในการยกระบบสถาบันการเงินชุมชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งส่วนนี้เป็นหน้าที่โดยตรงของธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
“ฐานะทางการเงินของแบงก์รัฐทั้งหมดส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง แต่มีบางแห่งที่ต้องเร่งดำเนินงานตามแผนฟื้นฟู ส่วนแห่งไหนที่แข็งแกร่งแล้วก็ให้ทำงานตามบทบาทของตัวเอง แต่ย้ำว่าต้องไม่ลงไปแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ เพียงแต่เข้าไปรองรับในส่วนที่ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถให้บริการประชาชนได้ ต้องดูแลเรื่อง NPL เพื่อให้สามารถสนับสนุนนโยบายของรัฐได้อย่างต่อเนื่อง”
ขณะเดียวกัน อาจพิจารณาให้ธนาคารออมสินเข้ามาเป็นพี่ใหญ่ในการดูแลสภาพคล่องของแบงก์รัฐแห่งอื่นๆ ที่มีปัญหา รวมถึงให้เร่งดำเนินการในการดูแลปัญหาหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันยังมีปัญหาเรื่องนี้อยู่มาก โดยอาจให้เข้ามาดูเรื่องกลไกทางการเงิน เพื่อเติมเต็มการเข้าถึงแหล่งเงินของรายย่อยซึ่งอาจเกี่ยวโยงกับอัตราแลกเปลี่ยนของสถาบันการเงินด้วย
สำหรับในส่วนของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) นั้น ได้มอบนโยบายให้มีการเพิ่มบทบาทในการสนับสนุนผู้นำเข้าและส่งออกมากขึ้น เช่น การออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น