xs
xsm
sm
md
lg

รบ.เคาะ ม.44 ชะลอโทษหนัก พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว ให้ 120 วันทำให้ถูกต้อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ ถกฝ่ายเกี่ยวข้องแก้ปัญหา พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว ก่อนเคาะงัด ม.44 ชะลอ โทษปรับรุนแรง หลังเจอปัญหา ให้เวลา 120 วันให้นายจ้าง-ลูกจ้างกลับไปทำให้ถูกต้อง

วันนี้ (30 มิ.ย.) เมื่อเวลา 12.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกพล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน, นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน ตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.), ตัวแทนสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.), คณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย สถาบันภาคเอกชน (กกร.), สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าหารือการแก้ปัญหาหลัง พ.ร.ก.การบริหารจัดการของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ประกาศใช้ โดยใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง ก่อนรายงานนายกรัฐมนตรีทราบ

โดยนายวิษณุแถลงภายหลังการหารือว่าจะมีการออกมาตรา 44 เพื่อชะลอการบังคับใช้ 3 มาตรา ใน พ.ร.ก.ดังกล่าว ได้แก่ มาตรา 101, 102 และ 122 โดยกำหนดค่าปรับรวมถึงบทลงโทษที่รุนแรงต่อลูกจ้างและนายจ้างที่ทำผิดกฎหมาย โดยจะมีผลย้อนไปถึงวันที่ 23 มิ.ย.คือวันที่ พ.ร.ก.ประกาศใช้ เนื่องจากพบว่าทั้ง 3 มาตรามีปัญหาการบังคับใช้ นายกฯ จึงเห็นควรให้ชะลอไปก่อน 120 วัน

นายวิษณุกล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบถึงปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ดังกล่าว โดยภาคเอกชนได้ยื่น 4 ข้อเสนอถึงรัฐบาล ได้แก่ 1. การตั้งศูนย์รับจดทะเบียนใหม่ 2. ขอให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาออกกฎหมายลูกเกี่ยวกับเรื่องแรงงานต่างด้าว 3. การจ่ายเงินชดเชย กรณีลูกจ้างเดินทางกลับประเทศ หรือหยุดงาน และ 4. การประชาสัมพันธ์ พ.ร.ก.ดังกล่าวให้นายจ้างและลูกจ้างรับทราบ เพราะ พ.ร.ก.ดังกล่าว 145 มาตรา อ่านแล้วเข้าใจยาก ควรต้องประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจง่าย ซึ่งภาครัฐรับได้กับข้อเสนอทั้งหมด ยกเว้นข้อแรก เพราะการเปิดศูนย์รับจดทะเบียนใหม่ในประเทศไทยมีอุปสรรค ถ้าทำจะขัดต่อบันทึกความเข้าใจที่ไทยทำไว้ไว้กับพม่า ลาว และกัมพูชา และขัดต่อข้อตกลงเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย (ไอยูยู) ว่าจะแก้ปัญหาการเข้าเมืองผิดกฎหมายของคนต่างด้าว นอกจากนี้ยังมีปัญหาการรับจดทะเบียนในประเทศจะเป็นการเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวทะลักเข้าไทย เสี่ยงต่อการผิดกฎหมายหลบหนีเข้าเมือง

นายวิษณุกล่าวว่า จากปัญหาข้างต้นนายกฯ จึงเห็นชอบ ดังนี้ 1. ไทยยังเคารพในพันธกรณีที่ตกลงไว้กับประเทศต่างๆ 2. พันธกรณีสำคัญและต้องดำเนินการต่อ คือ การต่อต้านการค้ามนุษย์ จะไม่ให้การใช้หรือไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้มาเป็นอุปสรรคแก้ปัญหา 3. เพื่อผ่อนคลายความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น เนื่องจากการที่ออกเป็นพ.ร.ก.ทำให้นายจ้างและลูกจ้างเตรียมตัวไม่ทัน จึงจำเป็นต้องใช้มาตรา 44 ชะลอ หรือเลื่อนการบังคับใช้บางมาตราที่มีบทลงโทษรุนแรงไปก่อน แต่มาตราที่เหลือยังบังคับใช้อยู่ อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้จะไม่มีการจับกุมหรือกวดขันแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย เว้นแต่จะเกี่ยวข้องความผิดค้ามนุษย์ ส่วนการชะลอบางมาตราออกไป 120 วัน เพราะต้องการให้แรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย กลับไปทำเรื่องให้ถูกต้องก่อน ผ่าน 3 ช่องทางคือ กลับไปทำเรื่องยังประเทศต้นทาง ทำเรื่องที่ชายแดน และที่ศูนย์พิสูจน์บุคคลกรณีชาวพม่าที่มีอยู่ 5 แห่งในไทย โดยส่วนนี้กำลังเจรจากับทางพม่าว่าจะยินยอมหรือไม่ ส่วนแรงงานอีกกลุ่มที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย แต่ไปทำงานผิดจังหวัดที่รับอนุญาต ให้ไปที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดเพื่อแจ้งขอเปลี่ยนจังหวัดทำงาน โดยมาตรการนี้ไม่เกี่ยวข้องกับเวลา 120 วันที่ประกาศชะลอ

รองนายกฯ กล่าวอีกว่า มาตรการทั้งหมดจำเป็นต้องใช้กฎหมายเพื่อให้มีผลบังคับใช้ นั่นคือมาตรา 44 เพื่อผ่อนคลายสิ่งเหล่านี้ และจะเป็นนโยบายนอกจากจะเขียนไว้ในกฎหมาย เพราะเรารู้ว่าจะมีจุดเสี่ยงอะไรเกิดขึ้น เช่น แรงงานถูกจับขณะเดินทางกลับประเทศ ซึ่งเป็นช่องทางให้ถูกรีดไถหรือข่มขู่ จึงเห็นควรให้ใช้มาตรการเดิมกับช่วงสงกรานต์ คือ แรงงานสามารถเดินทางกลับบ้านได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เว้นผิดคดีค้ามนุษย์ต้องจัดการขอให้แรงงานต่างด้าวไม่ว่าจะผิดกฎหมายเข้าเมืองหรือกรณีอื่นกรุณาอยู่ในความสงบและไปดำเนินการให้ถูกต้อง ส่วนนายจ้างจะใช้มาตรการอย่างเดียวกัน ซึ่งไม่ว่ามาตรา 44 จะประกาศเมื่อไหร่จะมีผลย้อนหลังถึงวันที่ 23 มิ.ย.ที่ พ.ร.ก.ประกาศใช้
กำลังโหลดความคิดเห็น