ขรก.ภูมิภาค มหาดไทย โวย! “มาตรฐาน สตง.” เตรียมยื่น ป.ย.ป.เสนอ “แนวทางการใช้ดุลพินิจชี้มูลความผิด” ยกคดีทุจริตการจัดซื้อปุ๋ยและยาฆ่าแมลง หลัง สตง.ส่งหนังสือแจ้งมหาดไทยฟันวินัย ชี้มูลข้าราชการระดับสูง-ฝ่ายปฏิบัติแต่ละจังหวัดแตกต่างกันทั้งที่กระบวนการจัดซื้อเหมือนกัน เผย สตง.ชี้มูลอดีตผู้ว่าฯ บึงกาฬ-อุบลฯ-อำนาจเจริญ แต่มหาสารคาม-พิจิตรกลับชี้มูลแค่คณะกำหนดราคากลาง
วันนี้ (28 มิ.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า ในเร็วๆ นี้ คณะกรรมการเชิงยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กระทรวงมหาดไทย เตรียมเสนอแนวทางการใช้ดุลยพินิจในการชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ไปในมาตรฐานเดียวกัน ให้คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปกรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) รับทราบ รวมถึงข้อมูลร้องเรียนจากข้าราชการระดับปฏิบัติ ในประเด็นการใช้ดุลยพินิจในการชี้มูลความผิด กรณีการตรวจสอบพบการทุจริตการจัดซื้อสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืช (ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง)
ทั้งนี้ แนวทางที่เสนอประกอบด้วย 1. เมื่อมีโครงการจัดซื้อจัดจ้างซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ตามนโยบายของรัฐบาล สตง.ในฐานะหน่วยงานตรวจสอบควรลงตรวจ (ตรวจปราบ) หากพบการกระทำผิดก็สามารถแก้ไขได้ทัน เพราะบางครั้งเจ้าหน้าที่อาจจะกระทำผิดก็สามารถแก้ไขได้ทัน เพราะบางครั้งเจ้าหน้าที่อาจจะกระทำผิดเพราะความไม่รู้กฎหมาย กฎ ระเบียบ ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงาน ดีกล่าวลงไปตรวจสอบภายหลังจากที่ทำเสร็จแล้ว (ตรวจปราบ) ซึ่งหากพบการกระทำผิดก็จะลงโทษเจ้าหน้าที่ได้เพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไข หรือบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทางราชการได้
2. กรณีที่เป็นความผิดในลักษณะเดียวกัน สตง.ควรจะชี้มูลความผิดไปในทิศทางเดียวกัน และ 3. ให้นำมาตรการคุ้มครองพยานที่ให้การซักทอดมาใช้ โดยการปกปิดชื่อหรือถ้อยคำที่จะไม่ปรากฏในรายงานการสอบสวน แต่สามารถใช้ประกอบการพิจารณาให้ความเห็นได้ ก็จะได้ทราบความจริงที่ชัดเจนขึ้น
มีรายงานว่า ข้อเสนอดังกล่าวภายหลังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ตรวจพบการทุจริตการจัดซื้อสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืช (ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง) และชี้มูลความผิดผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งข้าราชการระดับสูงของจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด นายอำเภอ และข้าราชการระดับปฏิบัติ ประกอบด้วย เสมียนตราอำเภอ คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติระดับจังหวัด (ก.ช.ภ.ช.) คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติระดับอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) และคณะกรรมการจัดหาเจรจาต่อรองและตกลงราคา
ต่อมามีการส่งเรื่องให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาดำเนินการทางวินัยต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ หากพบว่ามีข้อบกพร่องเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรี ก็มีหนังสือแจ้งให้ชี้แจงหรือไขข้อบกพร้องหรือปฏิบัติให้ถูกต้องได้ตามาตรา 44
ส่วนกรณีที่ผลการตรวจสอบแล้วปรากฏว่ามีพฤติกรรมน่าเชื่อถือว่าเป็นการทุจรติหรือมีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เงินหรือทรัพย์สินของราชการให้คณะกรรมการแจ้งผลการตรวจสอบดังกล่าวให้แก่ผู้บังคับบัญชา ดำเนินการตามกฎหมายหรือตามระเบียบแบบแผนที่ราชการกำหนดไว้แก่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบด้วยตามาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
มีรายงานว่า สำหรับข้อร้องเรียนจากปัญหาการใช้ดุลยพินิจในการชี้มูลความผิด ข้าราชการระดับปฏิบัตินั้น พบว่า ไม่ไดให้ความเป็นธรรมเท่าที่ควร โดยมีการชี้มูลข้าราชการระดับปฏิบัติที่ได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมประชุมแทนคณะกรรมการ ก.ช.ภ.ช. และ ก.ช.ภ.อ. หรือคณะกรรมการจัดหาเจรจาต่อรองและตกลงราคา และปรากฏชื่อเพราะเข้าร่วมประชุมแทน
“การชี้มูลความผิดของ สตง.ไม่ได้มาตรฐาน เนื่องจากการจัดซื้อสารเคมีในแต่ละจังหวัดจะมีกระบวนการในการจัดซื้อเหมือนกัน แต่ สตง.ชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ในแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน เช่น จ.บึงกาฬ สตง.ชี้มูลความผิดผู้ว่าราชการจังหวัด คณะกรรมการกำหนดราคากลาง นายอำเภอ เสมียนตราอำเภอ และคณะกรรมการจัดหาเจรจาต่อรองและตกลงราคา, จ.อุบลราชธานี สตง.ชี้มูลความผิด ผู้ว่าราชการจังหวัด ป้องกันภัยจังหวัด เกษตรจังหวัด นายอำเภอ คณะกรรมการ ก.ช.ภ.อ. เสมียนตราอำเภอ และคณะกรรมการจัดหาเจรจาต่อรองและตกลงราคา, จ.อำนาจเจริญ สตง.ชี้มูลความผิดผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัด ป้องกันภัยจังหวัด เกษตรจังหวัด นายอำเภอ คณะกรรมการ ก.ช.ภ.อ. เสมียนตราอำเภอ และคณะกรรมการจัดหาเจรจาต่อรองและตกลงราคา, จ.มหาสารคาม สตง.ชี้มูลความผิดเกษตรจังหวัด และคณะกรรมการจัดหาเจรจาต่อรองและตกลงราคา, จ.พิจิตร สตง.ชี้มูลความผิดเฉพาะคณะกรรมการจัดหาเจรจาต่อรองและตกลงราคา”
มีรายงานว่า คดีนี้คณะกรรมการธุรกรรม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว 2 ครั้ง กว่า 300 รายการ วงเงินกว่า 400 ล้านบาท
คดีนี้ สืบเนื่องมาจาก ปปง.ได้รับแจ้งรายงานผลการสอบสวนของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ในกรณีการใช้จ่ายเงินทดรองราชการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ด้านพืช) การเกิดโรคหรือการแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืช ช่วงปี 2554-2555 ของ อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม อ.นาตาล อ.วารินชำราบ อ.เมืองอุบลราชธานี อ.น้ำยืน อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี อ.เมืองอำนาจเจริญ และ อ.พนา จ.อำนาจเจริญ มีการจัดซื้อสารเคมีแจกจ่ายให้แก่ราษฎรโดยไม่ถูกต้องตามระเบียบของกระทรวงการคลัง และส่อไปในทางทุจริต เป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย
โดยมีข้าราชการพลเรือนสามัญต่างกรม สังกัดกระทรวงมหาดไทย ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงร่วมกันประกอบด้วย หัวหน้าและเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินระดับอำเภอ ผู้อนุมัติในการจัดซื้อสารเคมี เสมียนตราอำเภอ คณะกรรมการจัดหาและเจรจาต่อรองราคา และคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ และนิติบุคคล ที่ร่วมเสนอราคาขายวัตถุเคมีอันตราย ในลักษณะสมยอม ร่วมกันกระทำผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม ถือเป็นการร่วมกันกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
ชณะที่ ปปง.ได้อายัดทรัพย์ของนายสุรพล สายพันธ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นางนฤมล มะลิวัลย์ หัวหน้าฝ่ายบริหารทั่วไป ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 13 อุบลราชธานี และนายเกรียงไกร วรรณเสริมสกุล กับพวก 229 รายการ มูลค่าประเมิน 384,129,127.73 บาท และ ปปง.ยังอายัดทรัพย์ 91 รายการ มูลค่าประเมิย 68,201,744 บาท ส่วนใหญ่ปรากฏชื่อของบริษัท นิลธาร จำกัด, บริษัท ธนาเอกอนันต์ จำกัด, นายศักดา หอมจันทร์, นายวริษฐ์ วรรณเสริมสกุล, น.ส.นิชานันท์ วรรณเสริมสกุล, นายนิคม ปุยะติ, นางณุธษา พลเขต และนายโชคอนันต์ พลเขต
โดยคดีนี้มีมูลค่าความเสียหายรวม 1,195,802,947 บาท โดยพื้นที่ที่ตรวจสอบพบปัญหาใน 13 จังหวัด 176 อำเภอ วงเงินที่ทำสัญญาอยู่ที่ 2,686 ล้านบาท สำหรับจังหวัดที่มีการสรุปรายงานผลการตรวจสอบเป็นทางการแล้ว และเตรียมนำเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย ได้แก่ พิจิตร สุราษฎร์ธานี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา บึงกาฬ มหาสารคาม โดยพฤติกรรมการกระทำความผิดไม่แตกต่างจากกรณีของจังหวัดอุบลราชธานีมากนัก