ปปง. อายัดเพิ่ม 91 รายการ “ขบวนการส่อทุจริตจัดซื้อยาฆ่าแมลงปี 54 - 55” มูลค่ารวม 68 ล้านบาท เชื่อ เป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างที่มีพฤติการณ์แห่งการกระทำผิดอันเป็นมูลฐาน พบส่วนใหญ่เป็นรถนั่งส่วนบุคคล “ปอร์เช่ - บีเอ็มฯ - มินิคูเปอร์” และ รถบรรทุกพ่วง - รถน้ำมัน - รถลากจูงส่วนบุคคล กว่า 79 คัน พร้อมที่ดิน 5 แปลง บ้านพักหรูมูลค่าหลักล้าน เผย บ้านพักเมืองนนทบุรี ตีราคากว่า 55 ล้านบาท เผย อายัดรวม 2 ครั้ง รวม 450 ล้านบาทเศษ
วันนี้ (23 มี.ค) มีรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้เผยแพร่คำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย.23/2560 เรื่อง ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว (เพิ่มเติม) ลงนามโดย นายอธิคม อินทุภูติ ประธานกรรมการธุรกรรม ภายหลังมีคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย.15/2560 ลงวันที่ 9 ก.พ. 2560 เรื่อง ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว รายกรณีร้องเรียนการทุจริตในการจัดซื้อสารเคมีผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีโรคระบาดด้านพืช จำนวน 229 รายการ 384 ล้านบาท มีกำหนดไม่เกิน 90 วันนั้น
จากการตรวจสอบรายงานธุรกรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมของบุคคล รวมทั้งผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐาน หรือความผิดฐานฟอกเงินในคดีดังกล่าว พบข้อมูลเพิ่มเติมว่า นางณุธษา พลเขต กับพวก เป็นเจ้าของทรัพย์สิน หรือมีสิทธิครอบคอรงเพิ่มเติม อีกจำนวน 91 รายการ ประกอบด้วย รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถบรรทุกส่วนบุคคล สังหาริมทรัพย์อื่นๆ ที่ดินสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเชื่อได้ว่า เป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างที่มีพฤติการณ์แห่งการกระทำผิดอันเป็นมูลฐาน จึงมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว 91 รายการ
รวมทรัพย์สินที่อายัด 91 รายการ ราคาประเมินทั้งสิ้นประมาณ 68,201,744 บาท พบว่า เป็นที่ดิน ต.บางรักน้อย อ.เมืองนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง มูลค่า 55 ล้านบาท มี น.ส.วิมลสิริ โตวิริยะกุล ครอบครอง โดยพบว่า ขายฝากที่ดินและบ้านพัก 2 ชั้น ราคาขายฝาก 25 ล้านบาท กับ นางสุเนาวรัตน์ สิงห์กาญจนาวงศา ยังมีที่ดิน 79 ตารางวา ต.ในเมือง อ.เมืองขอนแก่น มูลค่า 1.58 ล้านบาท ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 1 งาน 67.3 ตารางวา มูลคา 4.18 ล้านบาทเศษ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 1 งาน 70.1 ตารางวา ต.ในเมือง อ.เมืองขอนแก่น มูลค่า 4.25 ล้านบาทเศษ และที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 1 งาน 21.2 ตารางวา ต.แม่เหี้ย อ.เมืองเชียงใหม่ มูลค่า 3.18 ล้านบาท
ขณะที่อายัดรถส่วนบุคคล พบว่า เป็นรถเก๋งหรู เช่น รถปอร์เช่ (CAYENNE) รถออดี้ (ทีทีคูเป้) รถบีเอ็มดับเบิลยู รถมินิคูเปอร์เอส รถแวนฮัมเมอร์ รถนั่งสามตอน รถนั่งส่วนบุคคล 7 ที่นั่ง รถบรรทุกพ่วง - กึ่งพ่วง รถซีเมนต์ รถพ่วงท้ายลาด รถลากจูง รถบรรทุกน้ำมัน บรรทุกยางมะตอย บรรทุกน้ำ ฯลฯ หลายหลายยี่ห้อ จำนวน 79 คัน โดยส่วนใหญ่มี ทะเบียนกทม. ทะเบียนขอนแก่น ทะเบียนอำนาจเจริญ
มีรายงานว่า ทรัพย์สินที่ถูกอายัดเพิ่มเติม 91 รายการ ส่วนใหญ่ปรากฏชื่อของบริษัท นิลธาร จำกัด, บริษัท ธนาเอกอนันต์ จำกัด, นายศักดา หอมจันทร์, นายวริษฐ์ วรรณเสริมสกุล, น.ส.นิชานันท์ วรรณเสริมสกุล, นายนิคม ปุยะติ, นางณุธษา พลเขต และ นายโชคอนันต์ พลเขต
สำหรับ นางณุธษา พลเขต อายุ 35 ปี อยู่บ้านเลขที่ 233 หมู่ที่ 5 ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.ขอนแก่น ลงลายมือชื่อรับรองพยาน ในการจดทะเบียน บริษัท โชครับทรัพย์อนันต์ จำกัด และ มีเงินลงทุน หจก. นำทรัพย์เจริญ
คดีนี้ สืบเนื่องมาจาก ปปง. ได้รับแจ้งรายงานผลการสอบสวนของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ในกรณีการใช้จ่ายเงินทดรองราชการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ด้านพืช) การเกิดโรค หรือการแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืช ช่วงปี 2554 - 2555 ของ อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม อ.นาตาล อ.วารินชำราบ อ.เมืองอุบลราชธานี อ.น้ำยืน อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี อ.เมืองอำนาจเจริญ และ อ.พนา จ.อำนาจเจริญ มีการจัดซื้อสารเคมีแจกจ่ายให้กับราษฎร โดยไม่ถูกต้องตามระเบียบของกระทรวงการคลัง และส่อไปในทางทุจริต เป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย
โดยมีข้าราชการพลเรือนสามัญต่างกรม สังกัดกระทรวงมหาดไทย ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงร่วมกัน ประกอบด้วย หัวหน้าและเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินระดับอำเภอ ผู้อนุมัติในการจัดซื้อสารเคมี เสมียนตราอำเภอ คณะกรรมการจัดหาและเจรจาต่อรองราคา และคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ และนิติบุคคล ที่ร่วมเสนอราคาขายวัตถุเคมีอันตราย ในลักษณะสมยอม ร่วมกันกระทำผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม ถือเป็นการร่วมกันกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
ขณะที่จากการตรวจสอบข้อมูลธุรกรรมทางการเงินของ ปปง. ปรากฏหลักฐานเชื่อได้ว่า นายสุรพล สายพันธ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นางนฤมล มะลิวัลย์ หัวหน้าฝ่ายบริหารทั่วไป ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 13 อุบลราชธานี และ นายเกรียงไกร วรรณเสริมสกุล กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 229 รายการ รวมราคาประเมินทรัพย์สินไว้เบื้องต้น 384,129,127.73 บาท และเนื่องจากทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในคดีนี้ประกอบด้วยสังหาริมทรัพย์ประเภทเงินในบัญชี เงินฝากธนาคาร สิทธิเรียกร้อง เฟอร์นิเจอร์ สิ่งอำนวยความสะดวก และอื่นๆ อันเป็นทรัพย์สินที่สามารถโอน ยักย้าย ปกปิด ซ่อนเร้น ได้โดยง่าย รวมทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถบดถนน รถแทร็กเตอร์ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง โรงเรือน ห้องชุด อาจมีการทางนิติกรรมโอนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ได้ หากไม่ได้มีการออกคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราว และหากต่อมาศาลได้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน อาจไม่สามารติดตามทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมาได้ ปปง. จึงออกคำสั่งอายัดทรัพย์ทรัพย์สินเหล่านี้ไว้ นับตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค. - 29 เม.ย. 60 และเปิดให้ผู้ถูกยึดและอายัดทรัพย์ หรือมีส่วนได้ส่วนเสียนำหลักฐานมาแจ้งขอเพิกถอนคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์ว่า ไม่ใช่ทรัพย์ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งหรือรับทราบคำสั่งนี้
จากการตรวจสอบรายละเอียดทรัพย์สินที่ถูกอายัด ส่วนใหญ่ปรากฏชื่อของบริษัท นิลธาร จำกัด, บริษัท ธนาเอกอนันต์ จำกัด, นายศักดา หอมจันทร์, นายวริษฐ์ วรรณเสริมสกุล, น.ส.นิชานันท์ วรรณเสริมสกุล, นายนิคม ปุยะติ, นางณุธษา พลเขต และ นายโชคอนันต์ พลเขต มิได้มีทรัพย์สินที่เป็นชื่อของนายสุรพล และนางนฤมล แต่อย่างใด