“กฤษฎีกา” เบรกกรมควบคุมมลพิษออกประกาศให้ “โรงงานแป้งมัน” ระบายน้ำทิ้งไปใช้เฉพาะในพื้นที่เพาะปลูก ระบุพื้นที่บางแห่งอาจมีลักษณะกายภาพและชีวภาพที่แตกต่าง แม้รัฐมีนโยบายหนุนโรงงานอุตสาหกรรมนำน้ำทิ้งจากการประกอบกิจการไปใช้เฉพาะในพื้นที่การเกษตรแทนการปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม แนะ ทส.แก้ไข เหตุกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน
วันนี้ (26 มิ.ย.) มีรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าเมื่อเร็วๆ นี้ นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ลงนามในเรื่องเสร็จที่ 727/2560 บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ภายหลังคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 7) ได้พิจารณาข้อหารือของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ต่อแนวทางการออกประกาศกำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด ตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535
ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษได้มีหนังสือที่ ทส 0302/13553 ขอหารือกรณี มาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 บัญญัติให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมมลพิษ และโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีอำนาจประกาศกำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด สำหรับควบคุมการระบายน้ำทิ้ง การปล่อยทิ้งอากาศเสีย การปล่อยทิ้งของเสีย หรือมลพิษอื่นใดจากแหล่งกำเนิดออกสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ได้มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ และมาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมมลพิษ มีอำนาจประกาศกำหนดประเภทของแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยน้ำเสีย หรือ ของเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ หรือออกสู่สิ่งแวดล้อมนอกเขตที่ตั้งแหล่งกำเนิดมลพิษไม่เกินมาตรฐานควบคุมมลพิษที่กำหนดไว้ตามมาตรา 55 หรือมาตรฐานที่ส่วนราชการใดกำหนดโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายอื่น และมาตรฐานนั้นยังมีผลใช้บังคับตามมาตรา 56 หรือมาตรฐานที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกำหนดเป็นพิเศษสำหรับเขตควบคุมมลพิษตามมาตรา 58
สำหรับความหมายของคำว่า “สิ่งแวดล้อม” มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดลอมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 บัญญัติให้หมายความว่า สิ่งต่าง ๆ ที่มีลักษณะทางกายภาพและชีวภาพที่อยู่รอบตัวมนุษย์ซึ่งเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ และสิ่งที่มนุษย์ได้ทำขึ้นเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐ ที่สนับสนุนให้โรงงานอุตสาหกรรมนำน้ำทิ้งจากการประกอบกิจการโรงงานไปใช้เฉพาะในพื้นที่การเกษตรแทนการปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม
กรมควบคุมมลพิษจึงหารือแนวทางการออกประกาศโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 55 และ มาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดลอมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ในประเด็นดังต่อไปนี้
1. การกำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษ ตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 สามารถกำหนดพื้นที่สำหรับเป็นแหล่งรองรับน้ำทิ้งเป็นการเฉพาะ เช่น กำหนดมาตรฐานควบคุม การระบายน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ประกอบกิจการทำแป้ง ที่จะนำไปใช้เฉพาะในพื้นที่ เพาะปลูกได้หรือไม่
2. หากสามารถออกประกาศตามข้อ 1 ได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามารถอาศัยอำนาจตามมาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ กำหนดให้แหล่งกำเนิดมลพิษดังกล่าว เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่ถูกควบคุม การปล่อยน้ำทิ้งได้หรือไม่
3. นอกจากขอหารือตามข้อ 1 และข้อ 2 แล้ว สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีข้อแนะนำหรือขอเสนออย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่)
ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 7) เห็นว่า มาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยคำแนะนำ ของคณะกรรมการควบคุมมลพิษ และโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ออกประกาศกำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด สำหรับควบคุมการระบายน้ำทิ้ง การปล่อยทิ้งอากาศเสีย การปล่อยทิ้งของเสีย หรือมลพิษอื่นใดจากแหล่งกำเนิดออกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการให้อำนาจในการกำหนดค่ามาตรฐานน้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิดที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ ออกสู่สิ่งแวดล้อม โดยมิได้ให้อำนาจในการกำหนดประเภทแหล่งรองรับน้ำทิ้งไว้
การที่บทบัญญัติมาตรา 55 ดังกล่าวบัญญัติไว้เช่นนี้ก็เพื่อให้สามารถระบายน้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษที่มีการบำบัดให้ได้ค่ามาตรฐานการระบายน้ำทิ้งออกสู่สิ่งแวดลอม โดยมิได้กำหนดว่าน้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษจะต้องเป็นการระบายลงสู่แหล่งรองรับน้ำทิ้งที่เป็นแหล่งน้ำสาธารณะเท่านั้น
“ด้วยเหตุนี้จึงอาจมีการระบายน้ำทิ้งที่มีการบำบัดไปยังพื้นที่แหล่งรองรับน้ำทิ้งอื่นที่มีความเหมาะสมนอกเหนือจากแหล่งน้ำสาธารณะก็ได้ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอาจมีลักษณะทางกายภาพและชีวภาพที่แตกต่างกันไป”
ดังนั้น เพื่อให้น้ำทิ้งหรือของเสียที่ระบายออกสู่สิ่งแวดล้อมเป็นไปเพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ได้มาตรฐาน คุณภาพสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย การกำหนดค่ามาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้ง ที่จะปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีความชัดเจนว่าเป็นค่ามาตรฐานน้ำทิ้งที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้น้ำทิ้งที่ปล่อยออกมาจะไม่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษต่อแหล่งรองรับน้ำทิ้งไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใดๆ โดยมีการกำหนดค่ามาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้ง บนพื้นฐานของหลักวิชาการ กฎเกณฑ์ และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งจะต้องมีมาตรการ ตรวจสอบและติดตามอย่างสม่ำเสมอ โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐควบคู่กับมาตรการทางกฎหมายด้วย
“คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 7) จึงเห็นว่า การกำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจาก แหล่งกำเนิดมลพิษโดยกำหนดพื้นที่สำหรับเป็นแหล่งรองรับน้ำทิ้งเป็นการเฉพาะโดยอาศัยอำนาจ ตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 จึงไม่อาจกระทำได้”
อนึ่ง เมื่อบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องให้อำนาจในการกำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งออกสู่สิ่งแวดล้อมที่ใช้บังคับอยู่ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน จนทำให้ไม่อาจคุ้มครอง หรือรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงสมควรเสนอให้มีการดำเนินการเพื่อแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องต่อไป