มหาดไทย สั่ง ผู้ว่าฯ - คสช. 31 จังหวัด ดับเบิลเช็ก “โรงสี - ผู้ส่งออกข้าว 13 ราย 125 คลัง” ที่ชนะประมูลข้าวสารในสต๊อกของรัฐ 1.62 ล้านตัน รอบแรก เข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน ระบุสั่งสอบเพิ่มเติม เพื่อนำเสนอพิจารณายับยั้ง เหตุมีเบาะแส อาจมีผู้กระทำการพิรุธ หรือส่อพฤติกรรมในการนำข้าวไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ อ้างมีกระแสการนำข้าวในสต็อกของรัฐ ไปจำหน่ายให้ผู้ประกอบการประเทศเพื่อนบ้าน
วันนี้ (26 มิ.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย ว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 22 มิ.ย. ที่ผ่านมา นายประยูร รัตนเสนีย์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือด่วนที่สุดที่ มท 0310.3/ว3477 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด 31 จังหวัด ในฐานะประธานคณะทำงานระดับจังหวัด เพื่อดำเนินการตรวจสอบการนำข้าวไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมสำหรับการจำหน่ายข้าวสารในสต๊อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน ครั้งที่ 1/2560 ที่กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการจำหน่ายข้าวสารในสต๊อกให้แก่ผู้เสนอซื้อ 13 ราย จำนวน 125 คลัง ซึ่งมีพื้นที่ที่ตั้งคลังและพื้นที่ที่ตั้งโรงงาน 31 จังหวัด ปริมาณรวมทั้งสิ้น 1.62 ล้านตัน
โดยหนังสือระบุว่า ให้ผู้ว่าฯ 31 จังหวัด โดยคณะทำงานระดับจังหวัด เพื่อดำเนินการตรวจสอบการนำข้าวไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากผู้ว่าฯ แล้วยังประกอบไปด้วย ผู้แทนกองกำลังรักษาความสงบพื้นที่ (คสช. พื้นที่) อุตสาหกรรมจังหวัด พาณิชย์จังหวัด และ หัวหน้าคลังสินค้า (อ.ต.ก. จังหวัด) ดำเนินการตรวจสอบข้าวที่นำไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มเติม เพื่อนำเสนอพิจารณายับยั้ง ภายหลังกระทรวงมหาดไทย ได้รับแจ้งจาก กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กรณีมีเบาะแสข้อมูลพบผู้กระทำการพิรุธหรือส่อพฤติกรรมในการนำข้าวไปใช้ผิดวัตถุประสงค์
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้รับแจ้งเกี่ยวกับกระแสการนำข้าวในสต๊อกของรัฐที่กำหนดให้นำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนไปจำหน่ายให้ผู้ประกอบการประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์การนำข้าวไปใช้ในอุตสาหกรรมที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) กำหนด และอาจะส่งผลกระทบด้านลบต่อความเชื่อมั่นในคุณภาพข้าวและชื่อเสียงของข้าวไทย
มีรายงานว่า สำหรับ 31 จังหวัดดังกล่าว ประกอบไปด้วย ภาคเหนือ กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สุโขทัย อุทัยธานี, ภาคกลาง กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา ชัยนาท ชลบุรี นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ราชบุรี ระยอง ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอนแก่น นครราชสีมา ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี, ภาคใต้ พัทลุง และสงขลา
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 24 พ.ค. กระทรวงหมาดไทย มีคำสั่งให้ผู้ว่า 31 จังหวัด ดำเนินการจรวจสอบมาก่อนครั้งหนึ่งแล้ว
มีรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ ว่า เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา กรมการค้าต่างประเทศ ได้เปิดให้เอกชนยื่นซองราคาเสนอซื้อข้าวสารในสต็อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนครั้งที่ 2/2560 ล็อตสุดท้าย มีผู้เสนอราคาซื้อสูงสุด จำนวน 16 ราย ใน 157 คลัง ปริมาณ 2.12 ล้านตัน (คิดเป็น 96.36% ของปริมาณที่เปิดประมูลทั้งหมด) มูลค่าที่เสนอซื้อประมาณ 11,465.90 ล้านบาท โดยช่วงราคาเสนอซื้อสูงสุด 2,000 - 6,740 บาท/ตัน สำหรับชนิดข้าวที่มีผู้เสนอราคาซื้อมากที่สุดเป็นข้าวขาว 5% ปริมาณ 1.2 ล้านตัน คิดเป็น 56.47% รองลงมาได้แก่ ปลายข้าว A1 เลิศ ปริมาณ 0.52 ล้านตัน คิดเป็น 24.56% โดยคณะทำงานได้รายงานผลต่อคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว และเตรียมเสนอประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) พิจารณาให้ความเห็นชอบการจำหน่ายข้าวสารในสต๊อกของรัฐในเร็วๆ นี้
สำหรับ 16 บริษัทที่ยื่นราคาประมูลข้าวที่ไม่ใช่การบริโภคของคน สูงสุด แบ่งเป็น 1) กลุ่มอาหารสัตว์ ได้แก่ บจก.เอพีเอ็มอะโกร 155,625.316 ตัน, บจก.SPM อาหารสัตว์ 30,880.832 ตัน, บจก.V.C.F กรุ๊ป 291,699.564 ตัน, บจก.มหาทรัพย์ฟีด 38,569.303 ตัน และ บจก.กาญจนอาหารสัตว์ 123,316.357 ตัน
2) กลุ่มโรงสี - ผู้ส่งออกข้าว ได้แก่ บจก.บุรีรัมย์สหสินข้าวไทย 9,683.479 ตัน, หจก.แสงฟ้าโปรดิวส์ 967,362.099 ตัน, หจก.เฮงเพิ่มพูน 22,195.694 ตัน, หจก.โรงสีทรัพย์แสงทอง ( 2550) 13,300.038 ตัน, บจก.โรงสีธันยบูรณ์ อินเตอร์เทรด 100,868.712 ตัน
3) กลุ่มผู้ค้ามันสำปะหลัง บมจ. P.S.C สตาร์ชโปรดักส์ 65,309.732 ตัน 4) กลุ่มผู้ค้าปุ๋ย บจก.วีออร์แกนนิค 229,040.539 ตัน 5) กลุ่มไซโล/ค้าส่งค้าปลีกขายวัสดุทางการเกษตร ได้แก่ บจก.เจริญวัฒนา (โง้วเทียนเซ้ง) 14,413.038 ตัน, บจก.ชิโนไทย อะโกร โปรดักซ์ 1,648.818 ตัน, บจก.จิรชัย โปรดิ้วซ์ 9,995.977 ตัน และ บจก.เชียงรายกิจศิริโซโล 1995 ปริมาณ 30,601.944 ตัน รวม 16 ราย ปริมาณเสนอซื้อข้าว 2,104,512.197 ตัน
มีรายงานด้วยว่า การที่กลุ่มโรงสีและผู้ส่งออก ถึง 11 ราย ได้เข้าร่วมประมูลครั้งนี้ด้วย จากจำนวนผู้ที่ผ่านคุณสมบัติ 23 ราย มีการใช้วิธีไปแจ้งจดขอใบอนุญาตประกอบโรงงาน (ใบ รง.) ประเภทอื่นเพื่อไม่ให้ขัดกับหลักเกณฑ์การประมูล ที่ระบุไว้ว่าเป็นข้าวที่ไม่ให้คนบริโภค