ตัวแทนสื่อ 11 องค์กร พบรองนายกฯ ถกร่างกฎหมายคุ้มครองสื่อ 2 ชั่วโมง เห็นชอบร่วมกันปฏิรูปสื่อตามหลักการควบคุมกันเอง โดยมีกฎหมายรองรับ โดยรัฐบาลจะเชิญตัวแทน สปท.- นักวิชาการสื่อ ร่วมหารือตั้งคณะทำงานร่วมวางกรอบยกร่างกฎหมายขึ้นใหม่ นัดถกอีกรอบ 26 มิ.ย. เชิญ สวีเดน -
ออสเตรเลีย แจม
วันนี้ (21 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 14.00 น. ตัวแทน 30 องค์กรสื่อ นำโดย นายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นายมานิตย์ สุขสมจิตร ที่้ปรึกษาสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้เข้าพบ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือถึงร่าง พ.ร.บ. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่คณะกรรมาธิการในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมายังรัฐบาลให้พิจารณาออกเป็นกฎหมาย
ทั้งนี้ ตัวแทนองค์กรสื่อ ยืนยันในหลักการว่า ไม่เห็นด้วยกับการร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เพราะเปิดช่องให้รัฐบาลเข้าแทรกแซงสื่อมวลชน เนื่องจากให้มีตัวแทนภาครัฐเข้ามาเป็นคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อ ซึ่งผิดหลักตรวจสอบถ่วงดุล ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่องค์กรวิชาชีพสื่อเห็นด้วยกับการกำกับกันเอง โดยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้เริ่มผลักดันให้มีระบบผู้ตรวจการของสื่อในแต่ละสังกัด ทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน และวินิจฉัยปัญหาสื่อที่ละเมิด นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ยังมีปัญหาการนิยามความหมายสื่อมวลชน ที่หมายรวมถึงประชาชนที่ใช้สื่อออนไลน์ หรือ สื่อบุคคลที่จะควบคุมโดยภาครัฐ
อย่างไรก็ดี ในอดีตเคยมีการยกร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อฯ มาแล้วในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และผ่านความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน แต่ไม่ ได้มีการประกาศใช้ ซึ่งมีหลักการให้มีสภาวิชาชีพสื่อที่สื่อควบคุมดูแลกันเอง โดยที่รัฐบาลไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งหากต้องมีกฎหมายมาบังคับใช้ องค์กรสื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้
จากการหารือของทั้งสองฝ่าย ได้ข้อสรุปว่า สนับสนุนให้มีการปฏิรูปสื่อ โดยจะมีการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชนโดยมีกฎหมายรองรับ หลักการสำคัญจะให้มีองค์กรขึ้นมา 1 องค์กร และต้องมีนิยามสื่อที่ชัดเจน และหารูปแบบว่า สมาชิกขององค์กรควรจะเป็นใคร กรรมการ หรือบอร์ดขององค์กรนั้นจะมาจากไหนให้เกิดการยอมรับและเป็นอิสระ ต้องมีมาตรการที่จะดูแลควบคุมสมาชิก ตลอดจนส่งเสริมด้านวิชาชีพ ขณะที่รัฐบาลจะเชิญตัวแทน สปท. มาหารือ รวมถึงฝ่ายที่สามที่อาจจะเป็นนักวิชาการสื่อ จากนั้นการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อวางกรอบและยกร่างกฎหมายขึ้น
ด้าน นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อที่เคยคัดค้าน พ.ร.บ. ดังกล่าวได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนายวิษณุ ประเด็นที่เห็นตรงกันคือต้องมีการปฏิรูปสื่อได้หารือกันถึงรูปแบบว่าควรเป็นอย่างไร หลังจากนี้ รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร ขึ้นอยู่กับรัฐบาล เราจะติดตามและพร้อมเข้ามามีส่วนร่วม
เมื่อถามถึง สัดส่วนในสภาวิชาชีพตามร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวที่ให้คนในรัฐบาลมาร่วมด้วย จนถูกโจมตีอย่างหนักก่อนหน้านี้ นายชวรงค์ กล่าวว่า ได้แลกเปลี่ยนเช่นเดียวกันว่าแต่ละประเทศมีรูปแบบอย่างไร เพื่อเป็นข้อมูลให้รัฐบาล ส่วนข้อกังวลเรื่องการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนนั้น วันนี้ไม่ได้มีการหยิบยกขึ้นมาหารือ
ด้าน นายปราเมศ เหล็กเพชร์ เปิดเผยว่า ทราบว่า สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ส่งร่างกฎหมายสื่อฯ มาให้รัฐบาลแล้ว โดย นายวิษณุ ระบุว่า จะขอรับฟังความเห็นต่างๆ จากองค์กรสื่อก่อนดำเนินการ โดยองค์กรสื่อยืนยันว่า กฎหมายที่จะออกมานั้น ต้องส่งเสริมการควบคุมกันเองของสื่อมวลชน มุ่งเน้นควบคุมด้านจริยธรรม หากพบว่าสื่อสำนักใดกระทำความผิดทั้งในแง่ของกฎหมายและจริยธรรม ก็ควรจะต้องมีองค์กรกลางเข้ามาดูแลหรืออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมร้องเรียนได้ สำหรับการหารือครั้งนี้เป็นการพูดคุยกันเบื้องต้น โดยจะมีการพูดคุยกันอีกในครั้งต่อไป และในวันที่ 26 มิถุนายน สมาคมฯ จะพาตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพสื่อที่ควบคุมกันเองของประเทศสวีเดนและออสเตรเลียมาร่วมหารือกับนายวิษณุด้วย เพื่อถ่ายทอดข้อมูลการควบคุมกันเองของสื่อมวลชนให้รัฐบาลได้รับทราบ
อนึ่ง สำหรับตัวแทน 30 องค์กรสื่อที่เข้าพบนายวิษณุครั้งนี้ ประกอบด้วย นายมานิจ สุขสมจิตร นายสุวัฒน์ ทองธนากุล นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ ที่ปรึกษา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม เลขาธิการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย นายวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย น.ส.กนกพร ประสิทธิ์ผล นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ นายชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพฯ สมาคมนักข่าวฯ นายชนะ ผาสุกสกุล รองเลขาธิการฝ่ายสิทธิเสรีภาพฯ สมาคมนักข่าวฯ นายปรัชญาชัย ดัชถุยาวัต โฆษกสมาคมนักข่าวฯ นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล กรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวฯ