xs
xsm
sm
md
lg

“ชวรงค์” แนะเครือข่าย บก.นสพ.ภาคอีสาน ตั้ง กก.รับร้องทุกข์ ปชช.ถูกสื่อละเมิดสิทธิ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ขอนแก่น - “ชวรงค์” เสนอเครือข่าย บก.นสพ.ภาคอีสาน ตั้งคณะทำงานจริยธรรมรับเรื่องร้องเรียนโดยตรงจากประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิจากการนำเสนอข่าวของสื่อ เป็นกลไกตรวจสอบจริยธรรมสื่อด้วยกันเอง

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุมอาคารประชาสัมพันธ์เขื่อนอุบลรัตน์ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น พ.ท.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ ประธานเครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคอีสาน เป็นประธานการประชุมสามัญ ประจำปี 2560 เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคอีสาน ครั้งที่ 1/2560

โดยมี นายกนก ตั้งพูลผลวนิชย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ โรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-บริหาร บรรยายพิเศษ แนะนำภารกิจ และการดำเนินงานของ กฟผ.

หลังจากนั้น นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ บรรยายพิเศษเรื่องกรอบอำนาจ หน้าที่คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายในองค์กร

พ.ท.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ ประธานเครือข่าย บก.นสพ.ภาคอีสาน กล่าวถึงการประชุมในครั้งนี้ ว่า เป็นการประชุมสามัญ ประจำปี 2560 เครือข่าย บก.นสพ.ภาคอีสาน ครั้งที่ 1/2560 ตามข้อบังคับฯ เพื่อให้คณะกรรมการบริหารฯ ได้แถลงผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา แจ้งสถานะการเงิน สถานภาพสมาชิก และให้สมาชิกเครือข่าย บก.นสพ.ภาคอีสาน ได้พบปะพูดคุย วางแนวทางการดำเนินงานร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดกระบวนการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ สะท้อนบทบาทหน้าที่การทำงานของสื่ออย่างเป็นระบบ ภายใต้กรอบการทำงานที่มีการควบคุม กำกับดูแลกันเอง และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ อย่างมุ่งหวังให้เกิดผลประโยชน์อย่างแท้จริงในการประกอบวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชนต่อไป

ขณะที่ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวบรรยายในหัวข้อเรื่องกรอบอำนาจ หน้าที่คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายในองค์กรว่าการกำกับดูแลกันเองทางจริยธรรมในวิชาชีพสื่อมวลชน ในกรณีสื่อหลัก ได้แก่ วิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ พบปัญหาการกำกับดูแลกันเองภายใต้ความสมัครใจ มีการละเมิดมาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพ และปัญหาการบังคับใช้มาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพ

เนื่องจากองค์กรวิชาชีพมิได้มีสถานะใดๆ ตามกฎหมาย จึงไม่มีอำนาจในการลงโทษ (Sanction) ผู้ประกอบวิชาชีพที่กระทำการขัดต่อมาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพ ที่ได้ร่วมกันกำหนดขึ้น เนื่องจากองค์กรเหล่านี้ไม่ใช่สภาวิชาชีพ หรือคณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพที่ได้รับอำนาจตามกฎหมาย

นอกจากองค์กรวิชาชีพไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษแก่สมาชิก สมาชิกที่ถูกตัดสินว่าทำผิดมาตรฐานจริยธรรมก็ไม่จำเป็นที่ต้องปฏิบัติตามคำตัดสินดังกล่าว หรือยอมลาออกจากองค์กรวิชาชีพ และคณะกรรมการองค์กรวิชาชีพหลีกเลี่ยงการตัดสินชี้ผิดถูก เพราะเป็นผู้ประกอบการสื่อด้วยกัน ทำให้เกิดปัญหาตามมาในการดูแลสื่อด้วยกันเอง

นอกจากนี้ องค์กรวิชาชีพในกิจการวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ยังมีบทบาทน้อยในด้านการคุ้มครองแก่สมาชิก ในเรื่องของสวัสดิภาพและสวัสดิการ และการเปิดช่องทางในการรับเรื่องราวร้องทุกข์ หรือร้องเรียนในกรณีผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมีการปฏิบัติงานไม่ถูกต้องเหมาะสม

ส่วนกิจกรรมที่องค์กรและวิชาชีพสื่อในกลุ่มสื่อวิทยุชุมชน วิทยุธุรกิจท้องถิ่น เคเบิลทีวี โทรทัศน์ดาวเทียม และสื่อออนไลน์ ยังไม่ค่อยทำนัก คือ กิจกรรมในเรื่องการรับเรื่องราวร้องทุกข์ หรือร้องเรียนจากผู้บริโภค ในกรณีผู้ประกอบวิชาชีพมีการปฏิบัติงานที่ไม่เหมาะสม หรือละเมิดหลักจริยธรรม และกิจกรรมการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพของผลงานสื่อมวลชน


ดังนั้น การสร้างกลไกพัฒนามาตรฐานจริยธรรมในการกำกับดูแลตนเองทางด้านจริยธรรมขององค์กรสื่อ และองค์กรวิชาชีพสื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของสภาวิชาชีพสื่อมวลชน โดยคำนึงถึงความแตกต่างทั้งมิติ ประเภท หรือรูปแบบของเนื้อหา มิติประเภทของสื่อ และมิติระดับการครอบคลุมของการประกอบการ

อีกทั้งมีกลไกส่งเสริมการกำกับดูแลตนเองด้านจริยธรรมขององค์กรสื่อ และองค์กรวิชาชีพ

ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จะเป็นสิ่งที่ดีในการทำงานของสื่อมวลชนในยุคปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น