xs
xsm
sm
md
lg

“หมอเจตน์” ชี้ กม.ประกันสุขภาพไม่ใช่ร่างสุดท้าย ยังอยู่ในช่วงรับฟัง 3 รูปแบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
ประธาน กมธ.สาธารณสุข ยันกฎหมายประกันสุขภาพไม่ใช่ร่างสุดท้าย ยังอยู่ในช่วงรับฟังปชช. ตาม รธน.ม.77 เหมือน กม. ทั่วไป “หมอวรุต” แจง กม. เดิมใช้มา 15 ปีดำเนินการไม่เต็มประสิทธิภาพ “หมอพลเดช” เผยขั้นตอนรับฟังความเห็น 3 รูปแบบ

วันนี้ (21 มิ.ย.) นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการรับฟังความเห็นของร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติขณะนี้ ว่า กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้เสนอร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ยังไม่ได้เป็นร่างสุดท้าย ขณะนี้อยู่ในช่วงการรับฟังความเห็นของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ทั้ง 14 ประเด็น หลังจากรับฟังเสร็จก็ต้องไปปรับแก้ ทั้งนี้ สิ่งที่ประชาชนไม่เห็นด้วย คือ โครงสร้างคณะกรรมการสภาวิชาชีพ ตัวแทนภาคประชาชน เกรงว่า สัดส่วนกรรมการจะลดลง รวมทั้งการแยกเงินเดือนออกจากรายหัว ก็กลัวประชาชนจะได้รับผลกระทบ ส่วนบัตรทองไม่ได้ยกเลิกเลย เพราะฉะนั้นขณะนี้เสียงประชาชนมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เหมือนการการออกกฎหมายทั่วไป ซึ่งต้องรอดูว่าจะตัดสินใจอย่างไร ซึ่งต้องใช้เวลาอีกนานว่าจะส่งเรื่องมายัง สนช. อย่างไรก็ตามทางกรรมาธิการฯจะเชิญผู้ยกร่างคือกระทรวงสาธารณสุขมาชี้แจงว่ามีเจตนารมณ์อย่างไรในสัปดาห์หน้า

ด้าน นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการพิจารณายกร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่า กฎหมายเดิมใช้มา 15 ปีแล้ว ซึ่งมีหลายส่วนทำให้ผู้บริหารจัดการเงิน คือ สปสช. ไม่สามารถดำเนินการได้คล่องตัวและไม่มีประสิทธิภาพเต็มที และที่ผ่านมารัฐบาลจะใช้ ม.44 เพื่อแก้ไขบางส่วน รวมทั้งประกาศของกระทรวงสาธารณสุขแต่ประชาชนก็ไม่ได้รับการบริการอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่แก้ไขใหม่คือสามารถให้หน่วยบริการใช้งบ เพื่อจัดบริการด้านสาธารณสุขได้ด้วย ซึ่งประชาชนก็จะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามตอนนี้เป็นการรับฟังความเห็นของประชาชนว่าเห็นด้วย หรือมีข้อเสนอแนะอย่างไร จากนั้นก็นำมาปรับแก้เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ

ด้าน นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะ ประธานคณะอนุกรรมการประชาพิจารณ์ (Public Hearing) ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ว่า ขณะนี้ได้กำหนดการรับฟังความเห็นของประชาชน 3 รูปแบบ คือ 1. ทางออนไลน์ สามารถแสดงความเห็นได้ตลอด 24 ชั่วโมง 2. เวทีรับฟังตามภาคต่างๆ ทั้งเชียงใหม่ ขอนแก่น กทม. หาดใหญ่ 3. เวทีปิด จำนวน 100 คน เลือกจากคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงโรงพยาบาล ภาคประชาชน ข้าราชการที่กำกับดูแล เช่น กระทรวงการคลัง สำนักงบฯ และสปสช.ที่บริหารเงิน โดยส่งตัวแทนที่สามารถพูดคุยได้ จากนั้นก็แบ่ง 10 กลุ่มย่อยเป็นเวทีปรึกษาสาธารณะ ดังนั้น การวอล์กเอาต์ตามเวทีต่างๆ ไม่ถือว่าการรับฟังที่ล่มเหลว เราก็ยังรับฟังต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น