xs
xsm
sm
md
lg

กสม.โวยข้ออ้างเซตซีโร่เหตุถูกลดสถานะไม่เกี่ยวข้อง ชี้ถูกโละคาด 7 เดือนได้ชุดใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
ประธาน กสม.โฟสต์เฟซบุ๊กปมเซตซีโร่ โต้ ประเด็นขาดความหลากหลายทำถูกลดสถานะจากเอเป็นบีเป็นเท็จ ยกห้วงเวลารับตำแหน่งปลายปี 58 แต่ไทยถูกลดสถานะจากเอเป็นบี ปลาย ม.ค.59 ชี้หาก กสม.ถูกเซตซีโร่ได้ชุดใหม่ภายใน 7 เดือนหลังกฎหมายประกาศใช้ ไม่ต้องรอหลังเลือกตั้ง

วันนี้ (13 มิ.ย.) นายวัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. โพสต์ข้อความ “เรื่องราวเกี่ยวกับ กสม.ไทย” บนเฟซบุ๊กส่วนตัว มีเนื้อหาเกี่ยวกับกรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เตรียมเซตซีโร่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยตั้งประเด็นโต้แย้งเหตุผลที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญใช้เป็นข้ออ้างในการเซตซีโร่ กสม.ทุกเรื่อง ตั้งแต่ประเด็นการได้มาของ กสม.ไม่มีความหลากหลายไม่ใช่เหตุผลให้ถูกลดสถานะจากเอเป็นบี โดยอธิบายถึงที่มาของ กสม.ชุดปัจจุบันว่าเข้ารับหน้าที่ปลายปี 2558 แต่การลดสถานะ กสม.จากเอเป็นบีเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนมกราคม 2559 จึงไม่มีความเกี่ยวข้องกัน การอ้างว่าที่มาของ กสม.ชุดนี้ไม่หลากหลายทำให้ถูกลดสถานะจึงเป็นเท็จ ทั้งนี้ยังยืนยันด้วยว่าตลอดปีเศษของการทำงานแม้จะมีอุปสรรคและปัญหาแต่ก็ร่วมกันแก้ไขจนมีผลงานอย่างต่อเนื่อง ข้ออ้างของ กรธ.ที่ระบุว่าการทำงานของ กสม.มีปัญหาจึงไม่เป็นความจริง

ส่วนประเด็นที่ กรธ.ระบุว่า บทเฉพาะกาลของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กสม.ระบุว่า กสม.ชุดปัจจุบันต้องรักษาการจนกว่าจะมีกรรมการชุดใหม่ ถ้าดูองค์ประกอบคณะกรรมการสรรหาต้องมีทั้งประธานรัฐสภาและผู้นำฝ่ายค้าน ฉะนั้นกว่าจะได้ กสม.ชุดใหม่ต้องมีเลือกตั้งแล้ว หากร่าง พ.ร.ป.นี้ผ่าน ต้องรอประเทศไทยเลือกตั้งและมีประธานรัฐสภาและผู้นำฝ่ายค้านที่มาจากการเลือกตั้งจะได้ครบองค์ประกอบ จะได้ไม่ถูกตั้งคำถามอีกนั้น นายวัสระบุว่า ตามบทเฉพาะกาลของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กสม. ของ กรธ.ฉบับวันที่ 7 มิถุนายน 2560 กำหนดให้ประธาน กสม.และ กสม.ชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ พ.ร.ป.ว่าด้วย กสม.ใช้บังคับ (รีเซต หรือเซตซีโร่ทั้งชุด) แต่ให้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า กสม.ที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ (ร่างมาตรา 60 วรรคหนึ่ง) แต่คณะกรรมการสรรหาต้องดำเนินการสรรหาผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็น กสม.ภายในเวลาที่กำหนดในร่างมาตรา 61 (ประมาณ 7 เดือน นับแต่วันที่ พ.ร.ป.ว่าด้วย กสม.ใช้บังคับ) ไม่ใช่รอผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา มีประธานสภาผู้แทนราษฎร มีรัฐบาล และมีผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ซึ่งอาจตกในราวปลายปี 2561 ตามที่มีผู้ให้ความเห็นดังกล่าว

ในการโพสต์เฟซบุ๊กครั้งนี้ ประธาน กสม.ยังได้ตั้งข้อสังเกตถึงกรณีที่ร่างของ กรธ.ฉบับวันที่ 7 มิถุนายน 2560 มาตรา 11 กำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น กสม.ให้มีผู้แทนองค์กรเอกชนร่วมเป็นคณะกรรมการสรรหาด้วย ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 246 วรรคสี่ นั้นมีการร่างองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาที่มีเหตุผลถูกต้องตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ และในมาตรา 29 ที่กำหนดให้ กสม.แต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือศึกษาเรื่องใดในกรณีที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและประสิทธิภาพที่จะเกิดขึ้นนั้นเป็นการให้ความสำคัญกับการแต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบน้อยลง จึงเสนอให้แก้ไขข้อความว่า “ในกรณีที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้” เป็น “ในกรณีที่มีความจำเป็น”
กำลังโหลดความคิดเห็น