เมืองไทย 360 องศา
กลายเป็นเรื่องให้หงุดหงิดน่ารำคาญใจของชาวบ้านมานานพอสมควรแล้วกับเรื่อง “กล้องวงจรปิด” หรือที่เรียกว่า “ซีซีทีวี” ตามสถานที่ราชการ ในบริเวณพื้นที่ชุมชน พื้นที่ล่อแหลมต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่พอเกิดเหตุครั้งใดส่วนใหญ่มักจะมีคำถามในเรื่องกล้องวงจรปิดตามมาทุกครั้ง เช่น ภาพไม่ชัด เสีย หรืออยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์
แน่นอนว่าที่ผ่านมาเสียงตำหนิมักจะพุ่งเป้าไปที่กรุงเทพมหานครเป็นหลัก โดยข้อครหาหลักก็คือสงสัยว่าจะมีการทุจริตในการจัดซื้อและติดตั้งที่แพงเกินจริงแต่ไม่คุ้มค่า เพราะที่ผ่านมาหลังจากมีเสียงวิจารณ์ในเรื่องของ “กล้องดัมมี่” หรือกล้องหลอก ที่เกิดขึ้นในยุคของอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนก่อน จนต้องมีการปรับปรุงใหม่ใช้งบประมาณจัดซื้อติดตั้งเพิ่มเติมหลายพันล้านบาท แต่จนถึงวันนี้แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการอ้างว่ามีการปรับปรุงแก้ไขอยู่เสมอก็ยังถูกวิจารณ์เหมือนเดิมว่า “ไม่ชัด-ไม่มีประสิทธิภาพ” ตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือ เหตุการณ์ลอบวางระเบิดตั้งแต่ที่บริเวณหน้ากองสลากหลังเก่าเมื่อวันที่ 5 เมษายน ต่อเนื่องมาถึงเหตุการณ์ลอบวางระเบิดที่หน้าโรงละครแห่งชาติ วันที่ 15 พฤษภาคม จนมาถึงระเบิดที่หน้าห้อง “วงษ์สุวรรณ” ในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ถือว่าคนร้ายมีความจงใจที่จะ “หยาม” รัฐบาลและคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คสช.) โดยตรงเพราะเป็นวันครบรอบ 3 ปีพอดี
แต่จนถึงบัดนี้เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่พบเบาะแสที่ชัดเจนจนนำไปสู่การขออนุมัติหมายจับคนร้ายได้เลย และสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งในการคลี่คลายคดีที่คาดหวังจากกล้องวงจรปิดในบริเวณนั้นก็ทำท่าว่าพึ่งพาไม่ได้ เพราะยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าเป็นเพราะอะไร แต่จากรายงานระบุว่ามีเสีย ภาพไม่ชัด เนื่องจากเป็นกล้องรุ่นเก่า สรุปเอาเป็นว่าไม่มีภาพจากกล้องวงจรปิดที่นำไปสู่การหาเบาะแสอย่างเป็นน้ำเป็นเนื้อก็แล้วกัน
จะเป็นด้วยเหตุนี้หรือเปล่าที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ถึงกับเหลืออด ออกคำสั่งกลางวงที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่อังคารที่ 6 มิถุนายน คาดโทษบรรดาผู้นำหรือหัวหน้าส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจใดก็ตามให้สำรวจกล้องวงจรปิดในบริเวณพื้นที่ที่ดูแลให้มีการตรวจสอบให้กล้องสามารถใช้การได้ดีอยู่เสมอ หากเกิดเหตุขึ้นเมื่อใดแล้วปรากฏว่ากล้องใช้การไม่ได้ เสีย หรือว่าไม่ประสิทธิภาพ แบบนี้ถือว่าผู้บังคับบัญชา หรือผู้นำหน่วยนั้นต้องรับผิดชอบ และต่อมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ได้สำทับลงมาอีกชั้นหนึ่ง
ก็ต้องถือว่าไม่ธรรมดา เพราะถึงขนาดที่ระดับนายกฯ ลงมาสั่งการกำชับกันอย่างเข้มงวดแบบนี้มันก็สะท้อนให้เห็นถึงความหละหลวมอย่างชัดเจนจนต้องมีการ “ขันนอต” จากระดับบิ๊กระดับสูงสุดลงมา เพราะจะว่าไปแล้วเรื่องกล้องวงจรปิดถือว่าเป็นเรื่องใหญ่สำหรับการหาเบาะแสคนร้าย เป็นหลักฐานสำคัญในการติดตามจับกุมตัว และที่สำคัญในปีนี้ทั้งปีเป็นช่วงพระราชพิธีสำคัญก็ย่อมมีการกังวลว่าจะต้องไม่ให้เกิดเหตุการณ์ร้ายๆ เกิดขึ้นเป็นอันขาด
จะว่าไปแล้วเรื่องกล้องวงจรปิดกลับมาเป็นเรื่องที่ชวนให้วิจารณ์เปรียบเทียบกันอีกจากคดีดังสดๆ ร้อนๆ จากคดี “ฆ่าหั่นศพ” ที่ผู้ต้องหาเป็นหญิงสาวระหว่างที่หลบหนีอยู่ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ (พม่า) โดยมีการเผยแพร่ภาพจากกล้องวงจรปิดจากบริเวณชายแดนประเทศดังกล่าวที่มีภาพคมชัด จนนำไปเปรียบเทียบเสียดสีล้อเลียนว่าชัดพอๆ กับภาพถ่ายในบัตรประชาชน ซึ่งในความเป็นจริงก็ต้องบอกว่ามันชัดเจนจริงๆ เป็นภาพสีสดใสจนแทบไม่ต้องไปปรับแต่งภาพ หรือซูมภาพอะไรเพิ่มเติมกันเลยก็ว่าได้ จากนั้นก็มีการแชร์ภาพแสดงความคิดเห็นกันตามมามากมายโดยเปรียบเทียบกับภาพจากกล้องวงจรปิดในประเทศไทยที่ต่างกันราวฟ้ากับเหว
ด้วยเหตุนี้หรือเปล่าที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่แม้เวลานี้ยังอยู่ในช่วงของกาาเล่นบท “เตมีย์ใบ้” หยุดให้สัมภาษณ์กับสื่อราว 2 สัปดาห์ ทนไม่ไหวต้องเขียนใส่กระดาษส่งให้ทีมโฆษกรัฐบาลนำโดย พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิดเกี่ยวกับคำสั่งที่เข้มงวดดังกล่าวข้างต้นออกมา
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากคำสั่งการดังกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่องให้เข้มงวดถึงประสิทธิภาพของกล้องวงจรปิด ถือว่าเป็นการตื่นต้วขันนอตกันครั้งใหญ่ เพราะนี่คือการหาเบาะแสและหลักฐานสำคัญ ซึ่งมีแต่การคาดโทษแบบนี้เท่านั้นถึงจะได้ผล เป็นเรื่องใหญ่ที่มองข้ามไม่ได้เป็นอันขาด!