xs
xsm
sm
md
lg

แดงฝากทำสัญญาประชาคมกันวิกฤตเลือกตั้ง จี้ใส่ข้อเสนอที่ตกหล่น งงคน รบ.ยั่วยุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“จตุพร” ฝาก ผบ.ทบ.ทำสัญญาประชาคมแก้วิกฤตเลือกตั้งอนาคต แปลกใจคนใน รบ.แสดงความเห็นยั่วยุ ด้าน “ณัฐวุฒิ” จี้ใส่ 4 ข้อเสนอ นปช. หลังตกหล่น

วันนี้ (6 มิ.ย.) เวลา 11.00 น. ที่บริเวณจุดคัดกรอง ข้างกระทรวงกลาโหม นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวถึงการทำสัญญาประชาคมในการสร้างความสามัคคีปรองดองว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะผู้ที่รับผิดชอบ ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าในเดือนมิถุนายนจะมีการประกาศสัญญาประชาคม โดยได้รวบรวมประเด็นจากพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค จึงอยากให้ประชาชนได้ช่วยกันติดตามว่าสัญญาประชาคมจะเป็นทางออกให้แก่ประเทศไทยได้หรือไม่ เนื่องจากระยะเวลากว่า 1 ปีครึ่ง กว่าจะถึงวันเลือกตั้ง ตนมองเห็นวิกฤตรออยู่ข้างหน้า จากการออกมาให้สัมภาษณ์ของแต่ละฝ่ายในการตั้งประเด็นเพื่อจะสร้างบรรยากาศให้เกิดขึ้นเหมือนก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เพราะฉะนั้นมาตรการที่จะมาหยุดยั้งความคิดเห็นเหล่านี้ได้ก็คือสัญญาประชาคมที่ผู้บัญชาการทหารบกจะเป็นผู้ประกาศ

“ผมมีความประหลาดใจว่าคนในรัฐบาล ในแม่น้ำทั้ง 5 สาย หลายคนได้แสดงทัศนคติที่เป็นปัญหาต่อการเลือกตั้ง ทั้งยั่วยุเพื่อให้เกิดปัญหา ทั้งที่หนทางของการเลือกตั้งยังอีกยาวไกล ถือเป็นการวิตกกังวลกับการเลือกตั้งในอนาคต ทั้งนี้ หากการปรองดองคือการตกลงร่วมกันยังไม่บรรลุ การเลือกตั้งก็รอวิกฤต ผมจึงเห็นว่าสิ่งที่จะเป็นแนวทางออกที่ดีที่สุด ที่อยากจะสื่อไปยัง ผบ.ทบ.คือ มาตรการและแนวทางของท่านที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการนับ 1 ประเทศไทยและเชื่อว่าคนไทยก็เฝ้ารอ เพราะการปรองดองครั้งนี้เกิดขึ้นได้จากที่นายกรัฐมนตรีได้อัญเชิญพระกระแสรับสั่งของรัชกาลที่ ๑๐ ถึง 2 ครั้ง” นายจตุพรกล่าว

ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาฯ นปช.กล่าวว่า จากการตรวจทานความคิดเห็นเพื่อสร้างแนวทางความปรองดองรอบที่ 2 ที่ นปช.เสนอไป พบว่าตกหล่นไป 4 ประเด็น โดยตนเชื่อว่าถ้าจะสร้างความปรองดองที่ยั่งยืน และมีหลักประกันไม่เกิดความขัดแย้งได้ จะต้องมี 4 ประเด็นข้างต้นถูกบรรจุในร่างสัญญาประชาคม นั่นคือ 1. รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อกังวลว่าเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งในอนาคต จึงควรมีความชัดเจนว่าหลังการเลือกตั้ง มีรัฐบาลใหม่ จะต้องมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยรัฐสภาที่มาจากประชาชน และมีการทำประชามติอีกครั้ง เกิดความชอบธรรมของที่มาและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 2. นปช.เห็นว่าบุคคล และองค์กรที่อยู่ในกำกับของรัฐ ไม่ควรมีอำนาจแต่งตั้ง ยกเลิกใบประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน เพราะจะทำให้รัฐมีอิทธิพลต่อสื่อ เพราะตอนนี้สื่อยืนอยู่บนความขัดแย้ง หากรัฐทำแบบนี้จะเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งอีก

นายณัฐวุฒิกล่าวต่อว่า 3. ควรเอาคำสั่งของคณะรัฐประหารทุกยุคสมัย มาทบทวน และยกเลิกการบังคับใช้ ถ้าจำเป็นต้องออกกฎหมายเพิ่มเติม เพื่อรองรับการขาดหายไปของคำสั่งที่บังคับใช้ก็ต้องทำในกระบวนการอธิปไตยของประชาชน และ 4. เป็นประเด็นสำคัญ ที่ไม่มีกลุ่มใดเสนอเลย แต่เราเสนอ พร้อมยืนยันว่าการปฏิรูปประเทศทุกด้าน การมีส่วนร่วม และการสร้างความปรองดอง แต่ไม่มีการพูดถึงการปฏิรูปกองทัพ หรือหน่วยงานความมั่นคงเลย ดังนั้นเป็นลักประกันในการสร้างประชาธิปไตย กองทัพต้องปฏิรูปตนเองด้วย เนื่องจากบทบาทของฝ่ายความมั่นคงถูกตั้งข้อสังเกตจากหลายฝ่ายว่ามีส่วนสำคัญในสถานการณ์ความขัดแย้งที่ผ่านมา ดังนั้นกองทัพจึงความจำเป็นต้องปฏิรูป จะไปแปลกแยก ยืนอยู่นอกวงเป็นผู้บริหารจัดการ ไม่ได้

“นี่คือ 4 ข้อที่ขาดหายไป เพราะร่างสัญญาประชาคมใกล้จะออกมาแล้ว ผมจึงฝากประเด็นนี้ไว้พิจารณาแก่สังคมด้วย และยืนยันว่าข้อเสนอนี้ไม่ใช่เสนอจากการแบ่งพรรคแบ่งฝ่าย หรือแสดงตนเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้มีอำนาจ แต่ทั้ง 4 ข้อนี้ล้วนมาจากการตกผลึกในการต่อสู้ และความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ถ้าไม่เน้นย้ำจะเงียบหายไปเฉยๆ เราคงเสียดาย นี่เป็นความจริงที่เราเสนอต่อผู้มีอำนาจ” นายณัฐวุฒิกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น