xs
xsm
sm
md
lg

คดี “ฆ่าหั่นศพ” กรณีศึกษาสังคมสั่งสอน สื่อ-ตำรวจ แหลก-เละ !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา



จะเรียกว่านี่คือ “บทเรียน” หรือเป็นกรณีศึกษาในแบบที่นานๆ จะเกิดขึ้นแบบนี้สักครั้ง หรืออาจจะเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกๆ ก็ได้ที่ตำรวจรวมทั้งสื่อมวลชนถูกสังคม “รุมด่า” กันเละเทะจากกรณี “คดีฆ่าหั่นศพ” หญิงสาวรายหนึ่งในท้องที่อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

จากเดิมหลังเกิดเหตุฆาตกรรมที่เจ้าหน้าที่พบศพหญิงสาวถูกฆ่าหั่นศพยัดใส่ถัง แล้วนำมาฝังดินในที่ดินรกร้างริมถนนในอำเภอเขาสวนกวาง ในตอนแรกๆ เจ้าหน้าที่ก็พุ่งเป้าให้น้ำหนักไปที่สาเหตุในเรื่องชู้สาว จนกระทั่งพบเบาะแสใหม่จากกล้องวงจรปิด และนำไปสู่การออกหมายจับผู้ต้องหาจำนวน 5 ราย และจับผู้ต้องหาในเบื้องต้นได้สองราย พร้อมทั้งสรุปว่ามาจากสาเหตุยาเสพติด และความแค้นส่วนตัว

คร่าวๆ ก็เป็นแบบนั้นก็น่าจะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.เขาสวนกวาง และกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ซึ่งดูแลพื้นที่บริเวณนั้นจัดการกันไป เพราะนั่นคือคดีฆาตกรรมที่แม้ว่าจะเป็นคดีสะเทือนขวัญที่คนร้ายลงมืออย่างโหดเหี้ยมก็ตาม

แต่อาจพิเศษตรงที่ว่าทั้งตัวผู้ถูกฆาตกรรม และคนที่ลงมือฆ่าล้วนมีหน้าตาที่คนส่วนหนึ่งมองว่า “สะสวย” โดยเฉพาะผู้ต้องหารายหนึ่งที่ชื่อว่าเปรี้ยว และมีความเคลื่อนไหวในสังคมออนไลน์มีลักษณะที่เรียกว่าเป็น “เน็ตไอดอล” มีคนติดตามจำนวนมาก ประกอบกับผู้ต้องหามีหน้าดี สามารถสร้างพฤติกรรมแปลกๆ จนเป็นที่สนใจ ทั้งเพศชายและเพศหญิง หลายครั้งที่สื่อออกมาทางโซเชียลในแบบโป๊เปลือยสื่อออกมาในทางเพศ

ขณะเดียวกัน หลังเกิดเหตุฆาตกรรม สื่อต่างก็แข่งขันกันนำเสนอแง่มุมต่างๆ ของข่าวสังหารโหดครั้งนี้อย่างละเอียดทุกแง่มุม ชนิดที่เรียกว่าแทบจะร้อยละ 80 - 90 ของเนื้อหาข่าวประจำวันเลยทีเดียว มีการนำเสนอข้อมูลการสัมภาษณ์ญาติพี่น้องคนรอบตัว พ่อแม่ของทั้งฝ่ายผู้ต้องหา ฝ่ายผู้เสียชีวิตอย่างละเอียดที่สุด จนทำให้ข่าวดังกล่าวเป็นที่รู้จัก แบบค่อนไปทางเอียน จนแทบอ้วกหากติดตามกันแบบต่อเนื่องทุกวันเป็นเวลานานๆ

อย่างไรก็ดี บทสรุปมาถึงหลังจากครึกโครมจากข่าวการเกาะติดเส้นทางหลบหนีของสามผู้ต้องหาในประเทศเมียนมา หลังจากพวกเธอตัดสินใจ “เข้ามอบตัว” กับตำรวจเมียนมา และนำมามอบให้กับตำรวจตรวจคนเข้าเมืองทางฝั่งอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย แล้วนำตัวเข้ามาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อแถลงข่าวเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน และในตอนบ่ายวันเดียวกัน ตำรวจก็ได้นำผู้ต้องหาทั้งสามคนไปยังท้องที่เกิดเหตุ คือ ที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 จังหวัดขอนแก่น รวมไปถึง สภ.เขาสวนกวาง ที่รับผิดชอบคดีโดยตรง

นั่นคือ การประมวลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด กลายเป็นว่า สื่อมีการนำเสนอข่าวกันอย่างละเอียดทุกแง่มุมและครึกโครม จนทำให้ผู้ต้องหากลายเป็น “คนดัง” ในชั่วข้ามคืน ดังจนกระทั่งอาจทำให้เจ้าหน้าที่เข้าใจผิดจนต้องเข้ามา “โหนกระแส” หรือไม่ แล้วนำไปสู่พฤติกรรมแปลกๆ และถูกมองว่า “ไม่เหมาะสม” หลายเรื่อง

สิ่งแรกเริ่มตั้งแต่ที่มีการรับมอบสามผู้ต้องหาสาวมาจากฝั่งเมียนมาของเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ที่ชาวบ้านมองว่าไม่เหมาะสม นับตั้งแต่การไม่สวมกุญแจมือกับผู้ต้องหาคดีสำคัญ มีการปฏิบัติกับผู้ต้องหาในแบบที่เรียกว่า “ดูแลแบบสบาย” เกินไป นอกเหนือจากเรื่องไม่สวมกุญแจมือและให้อยู่ในห้องควบคุมแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจยังมีท่าทีเป็นกันเอง มีการถ่ายรูปร่วมกันในแบบอริยาบถสบายๆ ปล่อยให้แต่งหน้าทางปากกันตามอัธยาศัย ไม่ต่างกับการมาพักผ่อนในรีสอร์ต ซึ่งภาพดังกล่าวถูกปล่อยออกมาในโซเชียล จนมีการแชร์ออกไปอย่างแพร่หลาย

ไม่เว้นแม้กระทั่งการแถลงข่าวของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่ยกกันเป็นแผง จนสังคมบ่นว่า “เว่อร์” เกินเหตุ ตั้งแต่เรื่องที่ให้เครื่องบินตำรวจไปรับตัวผู้ต้องหามาสอบสวนที่กรุงเทพฯ โดยมองว่าไม่จำเป็นถึงขนาดนั้น แทนที่จะนำไปยังท้องที่เกิดเหตุเลยในกองบัญชาการตำรวจภาค 4 และไม่จำเป็นที่ระดับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต้องลงมือสอบสวนเอง มิหนำซ้ำ ระหว่างการแถลงกลายเป็นว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ทำหน้าที่เหมือนเป็นตัวแทนของผู้ต้องหาไปเสียอีก ขณะเดียวกัน เมื่อมีการเปิดเผยรายชื่อเจ้าหน้าที่ที่ร่วมกันจับกุมผู้ต้องหาที่มีจำนวนนับร้อยคน มีตั้งแต่ระดับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ลงมาจนถึงระดับนายสิบ

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นที่วิจารณ์กันอย่างหนักที่สะท้อนผ่านทางโลกโซเชียลแบบที่สัมผัสได้ แม้ว่าในเวลาต่อมาจะมีการชี้แจงกันแบบไม่เป็นทางการ อ้างว่า นั่นเป็นสิทธิ์ของผู้ต้องหา เป็นจิตวิทยาในการควบคุมตัวเพื่อให้ผู้ต้องหาผ่อนคลายจะได้ให้ปากคำเป็นผลบวกในทางคดี อีกทั้งผู้ต้องหาเป็นสุภาพสตรี ไม่มีท่าทีหลบหนี ฯลฯ

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ชาวบ้านสงสัย ก็คือ มัน “เกินพอดี” ทั้งจากการรายงานของสื่อและตำรวจเริ่มจากการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาในคดีร้ายแรง มีผลกระทบต่อจิตใจของประชาชน และที่สำคัญ ภาพที่ปล่อยออกมาในระหว่างควบคุมตัว ทำให้เกิดคำถามตามมามากมาย บางครั้งทำให้มีการตั้งข้อสังเกตเลยเถิดไปไกลถึงขั้นที่ว่านี่เป็นเจตนา “กลบเกลื่อน” บางคดี เช่น คดีลอบวางระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎ ที่ยังหาเบาะแสไม่ได้หรือไม่ ขณะเดียวกัน การทำหน้าที่ของสื่อก็ถูกวิจารณ์ไม่แพ้กัน จนออกมาในแบบ “ยัดเยียด” จนเลี่ยน จนอาจสร้างความสับสนให้ฆาตกรเป็นฮีโร่ เป็น “เน็ตไอดอล” ไปเลย

ปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นจากคดีฆ่าหั่นศพ หากมองในมุมใหม่ก็อาจมองเห็นถึงวุฒิภาวะของสังคมที่ไม่ยอมโน้มเอียงไปตามการนำเสนอของสื่อ และไม่เห็นด้วยกับการทำหน้าที่ของตำรวจในการปฏิบัติกับผู้ต้องหาในบางเรื่อง และอาจเป็นครั้งแรกก็ได้ที่ทั้งสื่อและตำรวจถูกสังคมตำหนิอย่างรุนแรง ชนิดที่เรียกว่า “รุมด่าเละ” เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าแม้การนำเสนอและรายงานความเคลื่อนไหวเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้สังคมได้รับรู้ แต่มันก็ต้องขึ้นอยู่กับความพอดีและความเหมาะสมที่ต้องตระหนักกันมากขึ้น เพราะต้องไม่ลืมว่าทั้งสื่อและตำรวจยังเป็นหน่วยงานที่สังคมต้องการให้ปฏิรูปอย่างเร่งด่วนอีกด้วย !!
กำลังโหลดความคิดเห็น