xs
xsm
sm
md
lg

คน อปท.โต้ สปน.ขุดตัวเลขใครแชมป์ทุจริตตัวจริง ยันแค่ชุดความคิดหวังยุบท้องถิ่นในอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ถึงคราวคน อปท.ออกโรงโต้รัฐ ขุดตัวเลขความเสียหายจากการทุจริตที่ ป.ป.ช.ชี้มูลปี 50-59 ใครกันแน่ “แชมป์ทุจริตตัวจริง” ยันชุดความคิดของคนอีกกลุ่มหนึ่งในสังคมไทยขณะนี้หวังยุบท้องถิ่นในอนาคต ชี้เป้าประสงค์คนกลุ่มนี้ต้องการปิดกั้นเข้มแข็ง อ้าง อปท.ปกครองยาก ด้านอดีตนายกสันนิบาตเทศบาลย้ำไม่ยุติธรรมสำหรับ อปท. เหตุมีสัดส่วนมากกว่าทุกส่วนราชการถึง 20 เท่า

วันนี้ (26 ธ.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า จากกรณีนายจิรชัย มูลทองโร่ย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นำเสนอข้อมูลเงินขาดบัญชีและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริต ว่าในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 สปน.ได้รับเรื่องเงินขาดบัญชีและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริตซึ่งตรวจพบโดยหน่วยงานเองหรือโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หนึ่งซึ่งนั้น พบว่าเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นแชมป์การทุจริต เพราะมีเรื่องร้องเรียนมากที่สุด 1,496 เรื่องนั้น จากที่ได้รับการร้องเรียน 2,838 เรื่อง รวมเป็นเงินที่เสียหาย 11,383 ล้านบาท

หลังจากมีข้อมูลเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ พบว่า คนใน อปท.หลายส่วนได้ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านสังคมออนไลน์จำนวนมาก เช่น ผู้ใช้นามปากกาว่า “กิจ กรุงเก่า” หรือ นายสุรกิจ สุวรรณแกม นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ดอนหญ้านาง อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสัดส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้เขียนในแอพลิเคชั่นไลน์ และเผยแพร่ในสังคมออนไลน์ท้องถิ่น จนมีการแชร์ออกไปเป็นจำนวนมากขณะนี้นั้น

นายสุรกิจเขียนโดยให้หัวข้อว่า “เรื่องจริงที่สังคมไม่ได้รับรู้” เขาเริ่มต้นว่า “ผมไม่ได้มีเจตนาร้ายกับใครในแผ่นดินนี้ ผมเป็นผู้บริหารท้องถิ่นก็พยายามสร้างภาพพจน์ของคนท้องถิ่นให้ดีมาโดยตลอด สร้างความร่วมมือกับคนท้องถิ่นท้องที่และกับหน่วยงานราชการทุกระดับมาด้วยดี วันนี้ผมจะพูดในนามตัวแทนผู้บริหารท้องถิ่นฯ ผมเชื่อในหลักการอย่างหนึ่งว่า “ถ้าชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ประเทศชาติเข้มแข็งแน่นอน” หลักการนี้เราคุยกันมานานมากและเร่งรีบทำกับหลายฝ่าย ตั้งแต่กรมท้องถิ่น, พอช.สธ., สปสช., สสส., สกว., สช., เกษตร, พัฒนาชุมชน, กระทรวงศึกษาธิการ ฯลฯ คุณเชื่อมั้ยเรามีเป้าหมายลึกๆ ว่า ชุมชนท้องถิ่น 50% ควรจะเข้มแข็ง เพื่อถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ แต่เราก็ทำไม่ได้ตามนั้น

แต่ก็ยังมีคนบางกลุ่มที่ไม่อยากให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง เพราะอะไร...เพราะว่าถ้าเข้มแข็งแล้วปกครองยาก นี้คือชุดความคิดของคนอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในสังคมไทยขณะนี้ ชุดความคิดต่างขั้วทั้งสองประลองกำลังกันมาโดยตลอด ผลัดกันครองอำนาจกันมาเป็นระยะๆ

หลักการการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นของประเทศไทยถึงไม่คืบหน้าไปไหน เพราะกลุ่มคนหวงอำนาจเขามองคนละมุมกับการกระจายอำนาจ จนส่งหน่วยงานตรวจสอบออกมาไล่บี้ท้องถิ่นตลอดเวลา และลงข่าวสารพัดที่จะลงให้คนท้องถิ่นเสียหาย เพื่อเป้าประสงค์การยุบท้องถิ่นในอนาคต ...เราอดทนเพื่อบ้านเพื่อเมืองมาโดยตลอด ไปถามชาวบ้านดูว่าตั้งแต่มีท้องถิ่นอะไรๆก็ดีขึ้น ปัญหาต่างๆ ก็ถูกแก้ไขอย่างรวดเร็ว...เราอดทนพอแล้วนะ นับจากนี้ต่อไปคนท้องถิ่นจะไม่ยอมให้ใครมารังแกใส่ร้ายป้ายสีอีก ประเทศนี้เป็นของประชาชน ดังนั้นเราจะสู้เพื่อความถูกต้องให้กับประชาชน...”

มีรายงานว่า นายสุรกิจยังโพสต์ภาพรายงานผลการดำเนินการตลอด 8 ปี ของ ป.ป.ช.(2550-2558) โดยระบุถึงมูลค่าความเสียหายจากการทุจริต ปี 2550-2558 ที่ ป.ป.ช.ชี้มูล ความผิดทางอาญา และร่ำรวยผิดปกติ ประเมินมูลค่าความเสียหายได้ทั้งสิ้น 525,117.28 ล้านบาท แยกเป็น ส่วนราชการ 403,764.83 ล้านบาท คิดเป็น 76.89% รัฐวิสาหกิจ 121,183.63 ล้านบาท คิดเป็น 23.07% และส่วนท้องถิ่น 138.82 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.04%

ด้าน นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง อดีต สปช. และอดีตนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยคนที่ 29 ระบุว่า ที่ผ่านมาการทุจริตมีในทุกระดับทุกวงการทั้งราชการ เอกชน เริ่มจากระดับครอบครัว กลุ่มชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค ประเทศ การนำเสนอข้อเท็จจริงที่ไม่สิ้นกระแสความ ปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ประชาชนรู้ ทำให้สังคมเข้าใจผิดในสาระสำคัญของข่าวเป็นเรื่องไม่ยุติธรรมสำหรับ อปท.

ทั้งนี้ การระบุว่า อปท.มีรื่องร้องเรียนทุจริตมากที่สุด 1,496 เรื่อง เป็นการให้ข้อมูลข่าวไม่หมด คือ หากคิดเป็นสัดส่วนเงินความเสียหายของ อปท.เท่าไรในจำนวน 11,383 ล้านบาท และเป็นเจตนาทุจริตตรงๆ เท่าไร หรือการผิดระเบียบเท่าไร อย่างไรจึงเป็นการให้ข้อมูลคลุมเครือ สังคมเข้าใจผิด

นายเกรียงไกรกล่าวต่อว่า ต้องยอมรับว่าจำนวน อปท.มีมากกว่าส่วนราชการภูมิภาค ส่วนกลาง รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอิสระรวมกันถึง 20 เท่า เพราะ อปท.มี 7,853 แห่ง หน่วยราชการอื่นรวมกันมีแค่ 370 แห่ง ดังนั้นหากคิดเป็นสัดส่วนเปอร์เซ็นต์เรื่องร้องเรียน อปท. 7,853 แห่ง ถูกร้อง 1,496 เรื่อง คิดเป็น 19.05% แต่ส่วนราชการอื่นๆ รวม 370 แห่ง ถูกร้อง 1,342 เรื่อง คิดเป็น 362.70% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่า และน่าตกใจมากกว่า อปท.

นอกจากนี้ ยังไม่นับรวมหน่วยราชการส่วนกลางภูมิภาคบางหน่วยที่ สตง. และ ป.ป.ช.ไม่ได้ตรวจสอบ เชื่อว่าหากพิจารณาจากข้อมูลเดิมของ ป.ป.ช. ที่คำนวณสัดส่วนความเสียหายการทุจริตของ อปท.ไม่เกิน 4% ของมูลค่าความเสียหายทั้งหมด ดังนั้นการให้ข่าวแบบนี้ เป็นการทำให้สังคมสับสน เชื่อว่า อปท.คือหน่วยงานทำความเสื่อมเสียให้กับประเทศมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม อปท.ก็ยอมรับข้อเท็จจริงว่า มีการทุจริตอยู่ ซึ่งพวกเราก็ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบและลงโทษอย่างรุนแรงเฉียบขาดไม่เลือกปฏิบัติ จึงสงสัยว่าการให้ข่าวต่อสื่อเช่นนี้โดยไม่แจ้งข้อมูลให้ครบถ้วนมีเจตนาใด ที่สำคัญคือ องค์กรตรวจสอบต่อ อปท.ถือว่าเข้มข้นรุนแรงครอบคลุมทั่วถึงทุกมิติมากที่สุดในประเทศไทย มีทั้ง สตง. ป.ป.ท. ป.ป.ช. หน่วยท้องถิ่นอำเภอ จังหวัด กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้ ยังมีฝ่ายข้าราชการ อปท. ทั้งฝ่ายสภาในองค์กรท้องถิ่น ภาคประชาชนในพื้นที่ ฝ่ายค้าน ฝ่ายการเมืองตรงข้าม ผู้รับเหมา นักธุกิจ ที่เสียประโยชน์ ผู้บริหาร อปท.ที่ทะเลาะกันเอง จึงถือว่าการตรวจสอบ อปท.เข้มข้นกว่าและรุนแรงกว่าหน่วยราชการภูมิภาค ส่วนกลาง รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น การกระจายอำนาจจึงเป็นยาขม และต้องปฏิรูปเชิงบวกในลักษณะเป็นการกระจายมากกว่าการควบรวมเพื่อกระจุกอำนาจ ซึ่งการกระจายอำนาจให้ อปท.ให้เป็นเสาหลัก ให้มีบทบาทสูงขึ้นในการพัฒนาประเทศให้เจริญทุกท้องถิ่นทั่วประเทศไทย ภายใต้การมีส่วนร่วมและการตรวจสอบอย่างเข้มข้นของทุกภาคส่วน จึงต้องเป็นวาระแห่งชาติที่สำคัญของรัฐบาลนี้ที่ควรจะทำมากกว่า เพราะ อปท.เป็นหน่วยงานที่ประชาชนมีส่วนร่วมในระดับเล็ก และที่ใกล้ประชาชนมากที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น