xs
xsm
sm
md
lg

ก.ก.ถ.ไฟเขียวจัดสรร “ค่าภาคหลวงแร่-ปิโตรเลียม” ใหม่ เข้ารัฐ 40-อปท.60-กทม.40-แก้คำนิยาม “พื้นที่ประทานบัตร-สัมปทาน” ใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ก.ก.ถ.ไฟเขียวทบทวนหลักเกณฑ์การจัดสรรค่าภาคหลวงแร่และปิโตรเลียมให้ อปท.ให้เกิดความเป็นธรรมจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ระบุในเขตจังหวัดเข้ารัฐร้อยละ 40 เข้า อปท.ร้อยละ 60 ส่วนในพื้นที่ กทม.เข้ารัฐร้อยละ 60 เข้า กทม.ร้อยละ 40 พร้อมกำหนดคำนิยาม “พื้นที่ตามประทานบัตร-พื้นที่ตามสัมปทาน” ใหม่ให้รวมถึงที่ตั้ง “สถานีผลิตปิโตรเลียม” และ “เขตระยะปลอดภัยแนวท่อขนส่งปิโตรเลียม”

วันนี้ (4 ส.ค.) มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ เป็นประธานในการประชุม ครั้งที่ 4/2559 ที่ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ชั้น 2 อาคารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (หลังใหม่) ทำเนียบรัฐบาล โดยได้เห็นชอบการทบทวนหลักเกณฑ์การจัดสรรค่าภาคหลวงแร่และปิโตรเลียมให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยจะเสนอคณะอนุกรรมการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายกําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจให้แก่ อปท. และคณะอนุกรรมการจัดทํากฎหมายรายได้ อปท.พิจารณา

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการจัดสรรค่าภาคหลวงแร่และปิโตรเลียมให้แก่ อปท. เสนอเรื่องการทบทวนหลักเกณฑ์การจัดสรรค่าภาคหลวงแร่และปิโตรเลียมให้แก่ อปท. โดยการกําหนดค่าภาคหลวงแร่และปิโตรเลียมระหว่างรัฐกับ อปท.ให้เป็นไปตามสัดส่วนเดิมที่พระราชบัญญัติกําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 กําหนดไว้ ดังนี้

“(1) การจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่และปิโตรเลียมในเขตจังหวัด ให้เป็นรายได้ของรัฐ ในอัตราร้อยละ 40 และเป็นของ อปท. (อบจ. เทศบาล อบต. เมืองพัทยา) ในอัตราร้อยละ 60 และ (2) การจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่และปิโตรเลียมใน กทม.ให้เป็นรายได้ของรัฐในอัตราร้อยละ 60 และเป็นของ กทม.ในอัตราร้อยละ 40

ส่วนการจัดสรรค่าภาคหลวงแร่และปิโตรเลียมให้แก่ อปท. ไม่ควรกําหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์ อัตรา และวิธีการจัดสรรให้แก่ อปท.ไว้ในกฎหมาย แต่ควรกําหนดให้การจัดสรรค่าภาคหลวงแร่และปิโตรเลียมเป็นไปตามหลักเกณฑ์ อัตรา และวิธีการจัดสรรตามที่ประกาศ ก.ก.ถ.กําหนด ที่ประชุมยังให้กําหนดคํานิยาม “พื้นที่ตามประทานบัตร”ในการจัดสรรค่าภาคหลวงแร่ และ “พื้นที่ตามสัมปทาน” ในการจัดสรรค่าภาคหลวงปิโตรเลียม ดังนี้

(1) พื้นที่ตามประทานบัตร หมายความรวมถึง พื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของใบอนุญาตที่เกี่ยวเนื่องกับประทานบัตรตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 พื้นที่ใบอนุญาตปลูกสร้างอาคารเกี่ยวกับการทําเหมืองหรือจัดตั้งเพื่อการแต่งแรนอกเขตเหมืองแร่ และใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่เพื่อการเก็บขัง น้ำขุ่นข้น หรือมูลดินทรายนอกเขตเหมืองแร่ และ (2) พื้นที่ตามสัมปทาน หมายความรวมถึงพื้นที่อันเป็นที่ตั้งสถานีผลิตปิโตรเลียมและพื้นที่เขตแนวท่อขนส่งปิโตรเลียมที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ในเขตระยะปลอดภัยตามแนวท่อขนส่งปิโตรเลียม

มีรายงานว่า ก่อนหน้านั้น นายจิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะอนุกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นชุดเฉพาะกิจได้ลงพื้นที่หลายจังหวัดเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการจัดสรรค่าภาคหลวงแร่ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หลังจากภาคประชาชนได้ยื่นหนังสือร้องเรียนขอให้มีการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงเกณฑ์การจัดสรรค่าภาคหลวงแร่ใหม่ให้เกิดความเป็นธรรมและเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริงจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นต่อประชาชนในหลายพื้นที่


กำลังโหลดความคิดเห็น