“ประยุทธ์” แนะประชาชนพัฒนาตัวเองให้เป็นคนมีหลักการ - เหตุผล รู้จักแยกแยะ หวั่นถูกคนชั่วชี้นำไปในทางไม่ดี พร้อมขอให้นึกถึงประโยชน์ส่วนรวม เลิกเรียกร้องแต่สิทธิโดยไม่รู้จักหน้าที่ เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาและก้าวไปข้างหน้าพร้อมกัน
วันนี้ (23 ธ.ค.) เมื่อเวลา 20.15 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า พี่น้องประชาชนทุกท่าน สิ่งที่ตนอยากจะฝากไว้ในวันนี้ ก็คือ การพัฒนาตนเองไปสู่คนที่มีหลักการ และเหตุผล ใช้สติปัญญาในการคิดวิเคราะห์ ใคร่ครวญ รู้จักแยกแยะ จัดกระบวนความคิดของตัวเอง แยกให้เป็นกลุ่มความคิดต่างๆ เช่น สิ่งนี้ทำแล้วจะเกิดเป็นประโยชน์เพื่อใคร เพื่อตนเอง หรือเพื่อคนอื่น หรือเพื่อทั้ง 2 อย่าง เราน่าจะมีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง อย่างน้อยก็พยายามฟังในเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของตนเองบ้าง จะได้รู้ความเป็นมาเป็นไปของสถานการณ์รอบตัวในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งถูกโอบล้อมด้วยข้อมูลที่ดีถูกต้อง และไม่ดีไม่ถูกต้อง ถูกบิดเบือน ใครหลายคนอาจตัดสินใจไม่ได้ หรือตัดสินใจบนความยากลำบาก เพราะข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ไม่รอบด้าน จนคนเหล่านั้นอาจต้องใช้ความรู้สึก ความชอบในการเปิดใจแล้วทำอะไรลงไป หากถูกชี้นำโดยคนดีๆ ความถูกต้อง ทุกอย่างก็จะเป็นคุณ แต่หากชี้นำด้วยคนไม่ดี มีเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ ประกอบกับมีวาระซ่อนเร้นแล้ว ก็จะนำไปทางเสื่อม เสียโอกาสสำหรับตนเองและส่วนรวมได้
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า วันนี้เราต้องช่วยกันคิดพิจารณาว่า ประเทศไทยของเรานั้น กำลังติดกับดักอะไรบ้าง และโดยเหตุผลใด เช่น 1. ความเคยชิน การไม่เคารพกฎหมาย ความไม่ชอบอยู่ในกฎระเบียบของสังคม การที่ชอบทำอะไรที่มักง่าย สบายๆ เป็นพวกสนุกนิยม เช่น ขับรถสวนเลน ข้ามถนนใต้สะพานลอย จอดซื้อของในพื้นที่ห้ามจอด เหล่านี้เป็นต้น หลายอย่าง สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ปัญหาการจราจร อุบัติเหตุ ความเห็นแก่ตัวของคนบางคน ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อคนอีกหลายคน รวมทั้งเป็นทุกอย่างที่ไม่ดีให้กับลูกหลานที่อยู่โดยรอบด้วย
2. การทำความผิดโดยเลือกที่จะทำ เพื่อแลกกับผลประโยชน์ส่วนตน และความสะดวกรวดเร็ว เป็นต้น เช่น การยอมจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่ฉ้อฉล เพื่อการอำนวยความสะดวก หรือให้ค่าตอบแทนให้กับผู้ที่เรียกรับผลประโยชน์ในลักษณะสมยอม แล้วมาพูดให้ร้ายระบบ ให้ร้ายประเทศ ก็จะยังคงมีอยู่ เหล่านี้ผมอยากจะถามว่า แล้วเราไปให้เขาทำไม ก็จะต้องมาร้องทุกข์ร้องเรียน แจ้งความเอาผิด เพราะฉะนั้นถ้าเรายังให้เขาอยู่ แล้วเรามาพูด มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรทั้งสิ้น ก็ขอให้มาร้องทุกข์ร้องเรียน เราต้องเคารพตนเอง เคารพกติกา รู้จักรอ รู้จักอดทนเสียบ้าง ไม่อย่างนั้นเราก็โวยวายโทษแต่คนอื่นซ้ำไป แต่พอตนเองได้รับประโยชน์ก็เงียบเฉย
3. พื้นฐานความรู้ การเรียนรู้ที่ไม่เท่าเทียมกัน คือ การขาดโอกาส หรือเคยมีโอกาสแต่ก็ไม่ใส่ใจ หรือไม่รู้จักแสวงหา ทั้งที่ความรู้ก็มีรอบตัว อย่างที่ผมบอกไปแล้วควรรับฟังคนอื่นเขาบ้าง ทั้งจากการศึกษาในห้องเรียน นอกห้องเรียน ในบ้าน วัด โรงเรียน ชุมชนต่างๆ เหล่านั้น จากการอ่านหนังสือทั่วไป หนังสือพิมพ์ การดูโทรทัศน์ การฟังวิทยุจากอินเทอร์เน็ต จากสื่อออนไลน์ เป็นต้น โดยเลือกเสพความรู้จากสื่อที่เชื่อถือได้ และแหล่งข้อมูลทางราชการที่เป็นกลาง รวมทั้งการตรวจสอบเพื่อยืนยันความถูกต้องจากหลายๆ แหล่ง ก็จะทำให้เกิดปัญญา โดยเฉพาะเรื่องที่สำคัญส่งผลกระทบโดยตรงต่อตนเองและประเทศชาติ ถ้าพวกเราไม่สามารถทำได้ตามนี้แล้ว มันก็เป็นการยากที่จะพัฒนาตนเอง รวมทั้งยากที่จะทำความเข้าใจกัน และกลับนำไปสู่ความขัดแย้ง ไม่ฟังกัน ผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับก็ไม่ได้รับ เพราะไม่ได้ฟัง
4. สมาธิไม่เท่ากัน บางคนสั้น บางคนยาว บางคนมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือว่า ถ้าไม่ใช่เรื่องของตนเองก็ไม่สนใจ ไม่ตั้งใจฟัง ไม่ได้รับฟัง ก็เลยไม่ได้รับรู้ว่าอะไรมันคืออะไรในวันนี้ ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต สิ่งใดที่เป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องส่วนรวม ประชาธิปไตยที่ถูกต้องคืออะไร ถ้าเรายังไม่รู้เรื่องเหล่านี้ลึกซึ้งถ่องแท้ จะทำให้เราติดกับดักประชาธิปไตยเหมือนทุกวันนี้ มีการถกเถียงกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุดที่ยังคงวนเวียนและเข้าใจแต่เพียงว่าประชาธิปไตยก็คือการเลือกตั้งเป็นหลัก มีหลายอย่างประกอบกัน เมื่อมีรัฐบาลแล้วก็จะเรียกร้องขอความช่วยเหลือ ทวงสัญญาจากการหาเสียง หรือสัญญาว่าจะให้ โดยไม่ยอมสร้างความเข้มแข็งให้กับตนเอง ชุมชน และสังคม มันก็จะเป็นช่องทางให้กับนักธุรกิจการเมืองเข้ามาลงทุน ผมหมายความถึงว่าที่ไม่ดีอาจจะเข้ามาได้จากการเลือกตั้ง และมีการกอบโกยผลกำไร และอำนาจหน้าที่เป็นความบกพร่องที่ผมพยายามให้สติกับสังคมไทยในวันนี้ และตลอดมา เพื่อให้คนไทยรู้จักพัฒนาตนเอง และพัฒนาประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับสังคมไทยร่วมกัน
“ผมอยากให้พวกเราทุกคนนั้นพยายามสนใจในสิ่งรอบตัว ทั้งใกล้และไกลตัวของเราบ้าง ก็จะทราบความเป็นเหตุเป็นผล ในแนวคิด แนวปฏิบัติ ที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ เพื่อพร้อมที่จะร่วมแก้ไขปัญหา และก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน โดยขอให้เลิกพูดว่า ธุระไม่ใช่ ไม่เห็นได้ประโยชน์ เลิกเรียกร้องแต่สิทธิโดยไม่รู้จักหน้าที่ เลิกปกป้องผลประโยชน์ส่วนตนโดยไม่นึกถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ หรือของคนอื่นเลย ประเทศชาติของเราจึงจะมีอนาคต ประชาชนจึงจะมีความสุขได้อย่างทั่วถึงและยั่งยืน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว