xs
xsm
sm
md
lg

รบ.เตือนกลุ่มต้าน พ.ร.บ.คอมพ์ นัดเคลื่อนไหวส่อผิด กม.รับมีแฮกเว็บรัฐแต่ทำไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
โฆษก รบ. เตือน กลุ่มต้าน พ.ร.บ. คอมพ์ นัดรวมตัวเคลื่อนไหว เข้าข่ายสร้างความไม่สงบ จี้คิดให้รอบคอบ หรือยุติ ชี้ เริ่มทำเกินขอบเขต หวังปลุกกระแสวุ่นวาย รับมีการพยายามแฮกข้อมูลราชการจริง แต่ทำไม่ได้ ย้ำ ไร้นโยบายซิงเกิลเกตเวย์ ยันไม่มีการจำกัดการเข้าถึงเว็บ แจงเจอทำผิด กม. ขอดูข้อมูลเฉพาะเรื่องไป ไม่มีแนวทางดักจับข้อมูล ปชช.

วันนี้ (18 ธ.ค.) พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่กลุ่มต่อต้าน พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เตรียมตัวเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมในช่วงบ่ายวันนี้ ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และ ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรม กทม. ว่า รัฐบาลขอเตือนว่า การรวมตัวดังกล่าวอาจเข้าข่ายการสร้างความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง จึงขอให้ผู้ที่จะไปร่วมกิจกรรมไตร่ตรองให้รอบคอบ หรือยุติการเคลื่อนไหว

“ทางการมีมาตรการรองรับเป็นอย่างดี หากมีการเคลื่อนไหว ตั้งแต่การบันทึกภาพเป็นหลักฐาน และดำเนินการตามหลักสากล โดยประชาชนทั่วไปที่หวังดีต่อบ้านเมืองก็สามารถถ่ายรูปส่งให้กับเจ้าหน้าที่ได้ ทั้งนี้ ขอตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ที่ต่อต้าน พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เริ่มทำเกินขอบเขตที่เหมาะสม เพื่อหวังปลุกกระแสให้เกิดความวุ่นวายด้วยการละเมิดกฎหมาย และตั้งตัวเป็นนักเลงแฮกและล้วงข้อมูลเสียเองแล้ว”

พลโท สรรเสริญ กล่าวยืนยันว่า มีบุคคลบางกลุ่มพยายามที่จะแฮกข้อมูลของส่วนราชการจริง แม้จะทำไม่สำเร็จ นี่จึงเป็นตัวอย่างของภัยคุกคามที่จำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายคอมพิวเตอร์ ส่วนเว็บไซต์ของหน่วยงานที่สำคัญอย่าง สตม. นั้น ไม่ได้ถูกแฮกตามที่มีกระแสข่าว เนื่องจากเป็นระบบปิดที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต เช่นเดียวกับการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) กรมศุลกากร หน่วยงานความมั่นคง ท่าอากาศยาน และสายการบินต่างๆ ซึ่งกลุ่มผู้ไม่หวังดีและประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ ดังนั้น การกล่าวอ้างของกลุ่มแฮกเกอร์ ว่า สามารถแฮกระบบของ สตม. ได้ จึงเป็นเพียงการสร้างข่าวความสับสนให้กับสังคม และลดทอนความน่าเชื่อถือของหน่วยงานราชการเท่านั้น

รัฐบาลขอเรียนชี้แจงอีกครั้งว่า ไม่มีนโยบายซิงเกิลเกตเวย์ เพราะเกตเวย์ของไทยมีการเชื่อมต่อข้อมูลอย่างมากมายมหาศาล การจะบังคับให้ทุกส่วน รวมถึงภาคเอกชนใช้รวมกันที่เดียว คงไม่สามารถทำได้ และยังขัดกับแนวทางที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัลทุกรูปแบบ เพื่อก้าวไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 นอกจากนี้ การให้บริการทางเทคนิคจำเป็นต้องมีเกตเวย์สำรองไว้หลายๆ เส้น ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่อินเทอร์เน็ตจะล่มทั้งประเทศ

กรณีการถูกจำกัดการเข้าถึงเว็บบางเว็บ โดยหลักสากลทุกประเทศจะมีข้อแนะนำกับประชาชน ว่า เว็บใดเป็นเว็บที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ และประชาชน ส่วนการเข้าถึงเว็บต่างประเทศได้หรือไม่ได้นั้น ขึ้นอยู่กับท่ออินเทอร์เน็ตของผู้ให้บริการแต่ละราย ซึ่งทุกบริษัทจะดูแลลูกค้าของตนเป็นอย่างดี ไม่มีการจำกัดการเข้าถึงเว็บอย่างแน่นอน

สำหรับการตรวจสอบข้อมูลหรือปิดเว็บไซต์นั้น หากเป็นเรื่องที่กระทำผิดกฎหมาย ขัดต่อหลักศีลธรรม ความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ และการพัฒนาเศรษฐกิจ รัฐบาลอาจขอดูการจราจรของข้อมูล (Traffic) เฉพาะเรื่องไป ไม่ใช่การรวมศูนย์มาอยู่ที่เดียว และการตัดสินใจของรัฐบาลไม่ได้เกิดโดยลำพัง แต่จะต้องผ่านคณะกรรมการกลั่นกรอง 9 คน และการพิจารณาของศาลก่อนทุกกรณี ดังนั้น การที่จะเข้าไปควบคุมหรือดักจับข้อมูลของประชาชนจึงไม่ใช่แนวทางของรัฐบาลอย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น