ผอ.ศูนย์ไซเบอร์ กองทัพบก ระบุ ร่าง พ.ร.บ. คอมฯ ที่ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะไม่รู้รายละเอียด ขาดการชี้แจงประชาสัมพันธ์ให้สังคมเข้าใจ เชื่อ สนช. จะนำข้อเสนอแนะมาพิจารณาก่อนผ่านวาระ 3
พล.ต.ฤทธี อินทราวุธ ผู้อำนวยการศูนย์ไซเบอร์ กองทัพบก (ศซบ.ทบ.) กล่าวถึงกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะมีการพิจารณา พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับที่ ...พ.ศ..... เข้าสู่การพิจารณาวาระ 3 ว่า ทางเจ้าหน้าที่มีความเข้าใจถึงความกังวลต่อร่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ นี้ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังเข้าถึงข้อมูลรายละเอียดในร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่น้อยมาก และขาดการประชาสัมพันธ์ ชี้แจงทำความเข้าใจแก่ประชาชนจากหน่วยงาน หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ในข้อกฎหมายต่างๆ รวมถึงประโยชน์ของประเทศชาติที่จะได้รับจาก พ.ร.บ. ฉบับนี้ ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจแบบดิจิทัล ตลอดจนประโยชน์ด้านการคุ้มครอง และให้ความเป็นธรรม และดูแลปกป้องประชาชนส่วนรวม จนถึงผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ปกติทั่วไป ยกเว้นผู้ที่จงใจฝ่าฝืนในการกระทำความผิด และละเมิดกฎหมายเท่านั้น
พล.ต.ฤทธี เชื่อว่า สนช. และกรรมาธิการ จะรับข้อเสนอและข้อคิดเห็นต่างๆ มาพิจารณาอย่างรอบคอบ ก่อนผ่านในวาระ 3 เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคล การจำกัดเสรีภาพของประชาชน ในการเข้าถึงข้อมูล และการแสดงออกที่ไม่ละเมิดกฎหมาย การกำหนดมาตรการปฏิบัติด้านความปลอดภัยของข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด การตีความข้อกฎหมายต่างๆ การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่และการบังคับใช้กฎหมาย อย่างเป็นธรรม ตามข้อทักท้วง เพราะทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน
“ประเด็นแนวคิด มุมมองของฝ่ายความมั่นคง คงจะพิจารณาถึงความจำเป็นในการควบคุมเส้นทางการจราจรทางอินเทอร์เน็ต แบบช่องทางเดียว เพื่อป้องกันและสกัดกั้นข้อมูลและการกระทำที่เป็นภัยคุกคามด้านไซเบอร์ที่มาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการโจมตีทางไซเบอร์ ซึ่งหลายประเทศกำลังถูกโจมตีอย่างหนักอยู่ในขณะนี้ และก่อให้เกิดความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่น และความมั่นคงของประเทศ”
พล.ต.ฤทธี กล่าวว่า ในทางปฏิบัติ ซิงเกิล เกตเวย์ ของไทย คงเป็นเพียงแนวทางศึกษาตามที่ทางนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงไปนานแล้ว โดยให้ไปศึกษาดูทั้งในด้านกฎหมาย และด้านเทคนิคที่จะรวมเส้นทางอินเทอร์เน็ต จากหลายช่องทางปัจจุบันมาเป็นแบบช่องทางเดียวว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด รวมถึงผลกระทบทั้งด้านการลงทุน ด้านการบริการ ด้านการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และด้านความเชื่อมั่นต่างๆ เมื่อศึกษาแล้ว ก็ต้องนำมาพิจารณา และผ่านขั้นตอนทางกฎหมาย แบบ พ.ร.บ. คอมพ์ ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาดังกล่าว คงไม่ได้ทำกันง่ายๆ เพราะมีหลายขั้นตอน และมีผลกระทบกับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบดิจิทัลของประเทศ
ส่วนที่มีประเด็นข้อกฎหมาย ที่มีการทักท้วงและคัดค้านกันอยู่ในหลายประเด็น เช่น เรื่องของการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวมองว่าอย่างไร พล.ต.ฤทธี กล่าวว่า ต้องขอชี้แจงทำความเข้าใจแก่ประชาชน ในประเด็นที่ 1 เจ้าหน้าที่ไม่สามารถจะปิดเว็บไซต์ หรือมีอำนาจเข้าถึงข้อมูลได้ทันที แต่ทำโดยคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลฯ ซึ่งมีภาคเอกชนร่วมเป็นกรรมการ 2 ใน 5 คน เพื่อพิจารณาว่าเป็นข้อมูลที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ จากนั้นจึงไปขอความเห็นชอบต่อ รมต. และพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องไปยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อพิจารณาว่าเป็นข้อมูลที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ ซึ่งศาลก็มีแนวทางในการใช้ดุลพินิจ
ประเด็นที่ 2 ข้อมูลที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ ประชาชนโดยทั่วไปในวงกว้าง ไม่ใช่กระทบแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งหากปล่อยให้ข้อมูลดังกล่าวแพร่หลายแล้วจะเกิดความเสียหาย
และประเด็นที่ 3 กรณีตาม ม.14 (2) เป็นการขยายถ้อยคำว่าจากกฎหมาย เดิมที่บัญญัติเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ แต่ตามในร่างที่แก้ไขเพิ่มรายละเอียดว่า ความมั่นคงปลอดภัยของประเทศมีเรื่องใดบ้าง เพื่อให้ชัดเจนขึ้น และไม่นำมาใช้กับเรื่องหมิ่นประมาท เมื่อนำข้อมูลอันเป็นเท็จแล้วจะเกิดความเสียหายขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่มีผลกระทบร้ายแรงต่อความมั่นคง เศรษฐกิจ การบริการสาธารณะของประเทศ และประชาชนส่วนใหญ่ได้รับความเสียหาย