สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสแรกนับแต่ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ เพื่อเป็นการแสดงพระมหากรุณาธิคุณให้โอกาสกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี มีผลพรุ่งนี้ เฉพาะผู้ที่ถูกควบคุมตัวอยู่
วันนี้ (11 ธ.ค.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษเนื่องในโอกาสแรกนับแต่ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. ๒๕๕๙ มีรายละเอียดดังนี้
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
เป็นปีที่ ๑ ในรัชกาลปัจจุบัน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่ทรงพระราชดําริเห็นว่า เนื่องในโอกาสแรกนับแต่ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ เพื่อเป็นการแสดงพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมควรพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๒๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ และมาตรา ๒๖๑ ทวิ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๑๗ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเนื่องในโอกาสแรกนับแต่ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. ๒๕๕๙”
มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชกฤษฎีกานี้
“ผู้ต้องกักขัง” หมายความว่า ผู้ต้องโทษกักขังแทนโทษจําคุกหรือผู้ถูกกักขังแทนค่าปรับซึ่งมีคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลถึงที่สุดก่อนหรือในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ
“ผู้ทํางานบริการสังคมหรือทํางานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ” หมายความว่า ผู้ต้องโทษปรับซึ่งศาลมีคําสั่งอนุญาตให้ทํางานบริการสังคมหรือทํางานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับตามมาตรา ๓๐/๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ก่อนหรือในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ โดยผู้นั้นได้ปฏิบัติตามคําสั่งศาลและมิได้กระทําผิดเงื่อนไขแต่อย่างใด
“ผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ” หมายความว่า นักโทษเด็ดขาดซึ่งเป็นผู้ได้รับการพักการลงโทษตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจําทหาร หรือได้รับการลดวันต้องโทษจําคุกตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์ ซึ่งมิได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขแห่งการพักการลงโทษหรือการลดวันต้องโทษจําคุกก่อนหรือในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ
“นักโทษเด็ดขาด” หมายความว่า ผู้ซึ่งในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับเป็นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือนักโทษตามกฎหมายว่าด้วยเรือนจําทหาร
“กําหนดโทษ” หมายความว่า กําหนดโทษที่ศาลได้กําหนดไว้ในคําพิพากษาและระบุไว้ในหมายแจ้งโทษเมื่อคดีถึงที่สุด หรือกําหนดโทษตามคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้ลงโทษ หรือกําหนดโทษดังกล่าวที่ได้ลดโทษลงแล้วโดยการได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือโดยเหตุอื่น
“ต้องโทษจําคุกเป็นครั้งแรก” หมายความว่า ต้องโทษเพราะถูกศาลพิพากษาให้ลงโทษจําคุกไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี โดยมิได้ถูกศาลพิพากษาให้เพิ่มโทษฐานกระทําความผิดอีกตามมาตรา ๙๒ หรือมาตรา ๙๓ แห่งประมวลกฎหมายอาญาหรือตามกฎหมายอื่น
มาตรา ๔ ผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ต้องมีตัวอยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือถูกกักขังไว้ในสถานที่หรือที่อาศัยที่ศาลหรือทางราชการกําหนดในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับติดต่อกันไปจนถึงวันที่ศาลออกหมายสั่งปล่อยหรือลดโทษ หรือนายกรัฐมนตรีมีคําสั่งปล่อยหรือลดโทษตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกานี้ เว้นแต่ผู้ทํางานบริการสังคมหรือทํางานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ และผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ
มาตรา ๕ ผู้ต้องโทษดังต่อไปนี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป
(๑) ผู้ต้องกักขัง
(๒) ผู้ทํางานบริการสังคมหรือทํางานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ
(๓) ผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ เว้นแต่ผู้ซึ่งต้องโทษตามบัญชีลักษณะความผิดท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ หรือผู้ซึ่งต้องโทษตามคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุกเกินแปดปี ในความผิดฐานผลิต นําเข้า หรือส่งออก หรือผลิต นําเข้า หรือส่งออกเพื่อจําหน่าย หรือจําหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ กฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และผู้ซึ่งต้องโทษในความผิดตามมาตรา ๒๗๖ วรรคสาม มาตรา ๒๗๗ มาตรา ๒๗๗ ทวิ มาตรา ๒๗๗ ตรี มาตรา ๒๘๐มาตรา ๒๘๕ หรือมาตรา ๓๔๓ แห่งประมวลกฎหมายอาญา
กรณีผู้ต้องกักขังตามวรรคหนึ่ง (๑) ซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาด และยังไม่ได้รับโทษกักขังแทนโทษจําคุกหรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับ ให้ผู้ต้องกักขังนั้นได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไปในส่วนของโทษกักขังแทนโทษจําคุกหรือในส่วนของการกักขังแทนค่าปรับ แล้วแต่กรณี
มาตรา ๖ ภายใต้บังคับมาตรา ๘ มาตรา ๙ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๒ นักโทษเด็ดขาดดังต่อไปนี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป
(๑) ผู้ต้องโทษจําคุกไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ซึ่งมีโทษจําคุกตามกําหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่ไม่เกินหนึ่งปีและได้รับโทษมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓ ของโทษตามกําหนดโทษ
(๒) ผู้ต้องโทษจําคุกซึ่งมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(ก) เป็นคนพิการโดยตาบอดทั้งสองข้าง มือหรือเท้าด้วนทั้งสองข้าง หรือเป็นบุคคลซึ่งแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่าสองคนได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าเป็นคนทุพพลภาพมีลักษณะอันเห็นได้ชัด
(ข) เป็นคนเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อน โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์) หรือโรคจิต ซึ่งทางราชการได้ทําการรักษามาแล้วไม่น้อยกว่าสามเดือนในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ และแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่าสองคนได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าไม่สามารถจะรักษาในเรือนจําให้หายได้ และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ต้องได้รับโทษจําคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่าสามปี หรือไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๒ ของโทษตามกําหนดโทษเว้นแต่เป็นคนเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย และโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์) ระยะสุดท้ายซึ่งแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่าสองคนได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าไม่สามารถจะรักษาในเรือนจําให้หายได้
(ค) เป็นหญิงซึ่งต้องโทษจําคุกเป็นครั้งแรก และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดีต้องได้รับโทษจําคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๒ ของโทษตามกําหนดโทษ
(ง) เป็นคนมีอายุไม่ต่ำกว่าหกสิบปีบริบูรณ์ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับตามที่ปรากฏในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร หรือทะเบียนรายตัวของเรือนจําในกรณีไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ต้องได้รับโทษจําคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่าห้าปี หรือไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓ ของโทษตามกําหนดโทษและต้องมีโทษจําคุกตามกําหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่ไม่เกินสามปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ
(จ) เป็นผู้ต้องโทษจําคุกเป็นครั้งแรก และมีอายุยังไม่ครบยี่สิบปีบริบูรณ์ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับตามที่ปรากฏในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรหรือทะเบียนรายตัวของเรือนจําในกรณีไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ต้องได้รับโทษจําคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๒ ของโทษตามกําหนดโทษ หรือ
(ฉ) เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดีซึ่งมีโทษจําคุกตามกําหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่ไม่เกินสองปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ
มาตรา ๗ ภายใต้บังคับมาตรา ๘ มาตรา ๙ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๒ นักโทษเด็ดขาดซึ่งมิได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไปตามมาตรา ๖ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษดังต่อไปนี้
(๑) ผู้ต้องโทษประหารชีวิต ให้ลดลงเป็นโทษจําคุกตลอดชีวิต
(๒) ผู้ต้องโทษจําคุกตลอดชีวิต ให้เปลี่ยนเป็นกําหนดโทษจําคุกห้าสิบปี แล้วให้ลดโทษตามลําดับชั้นนักโทษเดดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจําทหาร ดังต่อไปนี้
ชั้นเยี่ยม ๑ ใน ๒
ชั้นดีมาก ๑ ใน ๓
ชั้นดี ๑ ใน ๔
โดยให้นับโทษจําคุกนั้นตั้งแต่วันที่ต้องรับโทษ เว้นแต่กรณีที่จะต้องนับโทษต่อจากคดีอื่นให้นับโทษต่อจากคดีอื่นนั้น
(๓) ผู้ต้องโทษจําคุกไม่ถึงตลอดชีวิต ให้ลดโทษจากกําหนดโทษตามลําดับชั้นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจําทหารตาม (๒)
(๔) ผู้ต้องโทษจําคุกเพราะความผิดที่ได้กระทําโดยประมาท ไม่ว่าจะมีความผิดอื่นร่วมด้วยหรือไม่ให้ลดโทษจากกําหนดโทษลง ๒ ใน ๓ เฉพาะความผิดที่ได้กระทําโดยประมาท
มาตรา ๘ ภายใต้บังคับมาตรา ๙ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๒ นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษตามบัญชีลักษณะความผิดท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษดังต่อไปนี้
(๑) ผู้ต้องโทษประหารชีวิต ให้ลดลงเป็นโทษจําคุกตลอดชีวิต
(๒) ผู้ต้องโทษจําคุกตลอดชีวิต ให้เปลี่ยนเป็นกําหนดโทษจําคุกห้าสิบปี แล้วให้ลดโทษตามลําดับชั้นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจําทหาร ดังต่อไปนี้
ชั้นเยี่ยม ๑ ใน ๓
ชั้นดีมาก ๑ ใน ๔
ชั้นดี ๑ ใน ๕
โดยให้นับโทษจําคุกนั้นตั้งแต่วันที่ต้องรับโทษ เว้นแต่กรณีที่จะต้องนับโทษต่อจากคดีอื่นให้นับโทษต่อจากคดีอื่นนั้น
(๓) ผู้ต้องโทษจําคุกไม่ถึงตลอดชีวิต ให้ลดโทษจากกําหนดโทษตามลําดับชั้นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจําทหารตาม (๒)
มาตรา ๙ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๒ นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษตามคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุกไม่เกินแปดปี ในความผิดฐานผลิต นําเข้า หรือส่งออกหรือผลิต นําเข้า หรือส่งออกเพื่อจําหน่าย หรือจําหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ กฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษจากกําหนดโทษตามลําดับชั้นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจําทหาร ดังต่อไปนี้
ชั้นเยี่ยม ๑ ใน ๕
ชั้นดีมาก ๑ ใน ๖
ชั้นดี ๑ ใน ๗
มาตรา ๑๐ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๒ นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษตามคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุกเกินแปดปี จําคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต ก่อนหรือในวันที่พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๕๙ ใช้บังคับ ในความผิดฐานผลิต นําเข้า หรือส่งออกหรือผลิต นําเข้า หรือส่งออกเพื่อจําหน่าย หรือจําหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ กฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้ต้องโทษประหารชีวิต ให้ลดลงเป็นโทษจําคุกตลอดชีวิต
(๒) ผู้ต้องโทษจําคุกตลอดชีวิต ให้เปลี่ยนเป็นกําหนดโทษจําคุกห้าสิบปี แล้วให้ลดโทษตามลําดับชั้นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจําทหาร ดังต่อไปนี้
ชั้นเยี่ยม ๑ ใน ๖
ชั้นดีมาก ๑ ใน ๗
ชั้นดี ๑ ใน ๘
โดยให้นับโทษจําคุกนั้นตั้งแต่วันที่ต้องรับโทษ เว้นแต่กรณีที่จะต้องนับโทษต่อจากคดีอื่นให้นับโทษต่อจากคดีอื่นนั้น
(๓) ผู้ต้องโทษจําคุกไม่ถึงตลอดชีวิต ให้ลดโทษจากกําหนดโทษตามลําดับชั้นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจําทหารตาม (๒)
มาตรา ๑๑ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๒ นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยมซึ่งถูกศาลพิพากษาให้เพิ่มโทษฐานกระทําความผิดอีกตามมาตรา ๙๒ หรือมาตรา ๙๓ แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือกฎหมายอื่นให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษจากกําหนดโทษลง ๑ ใน ๖
มาตรา ๑๒ นักโทษเด็ดขาดดังต่อไปนี้ไม่อยู่ในข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้
(๑) ผู้ต้องโทษตามคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุกเกินแปดปี จําคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิตภายหลังวันที่พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๕๙ ใช้บังคับในความผิดฐานผลิต นําเข้า หรือส่งออก หรือผลิต นําเข้า หรือส่งออกเพื่อจําหน่าย หรือจําหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่ายตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ กฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
(๒) ผู้ซึ่งถูกศาลพิพากษาให้เพิ่มโทษฐานกระทําความผิดอีกตามมาตรา ๙๒ หรือมาตรา ๙๓ แห่งประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่น และมิใช่นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม
(๓) นักโทษเด็ดขาดชั้นกลาง ชั้นเลว หรือชั้นเลวมาก
มาตรา ๑๓ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๒ นักโทษเด็ดขาดที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานเรือนจํามาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปีในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษลงเป็นพิเศษอีกหนึ่งปี
มาตรา ๑๔ นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษในความผิดตามมาตรา ๒๗๖ วรรคสาม มาตรา ๒๗๗ มาตรา ๒๗๗ ทวิ มาตรา ๒๗๗ ตรี มาตรา ๒๘๐ มาตรา ๒๘๕ และมาตรา ๓๔๓ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ไม่อยู่ในข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้
มาตรา ๑๕ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งท้องที่ ผู้พิพากษาศาลแห่งท้องที่หรือตุลาการศาลทหารแห่งท้องที่หนึ่งคน และพนักงานอัยการแห่งท้องที่หรืออัยการทหารแห่งท้องที่หนึ่งคน รวมสามคนเป็นคณะกรรมการ มีหน้าที่ตรวจสอบผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษและส่งรายชื่อต่อศาลแห่งท้องที่ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ เพื่อความสะดวกแก่ศาลแห่งท้องที่นั้นพิจารณาออกหมายสั่งปล่อยหรือลดโทษ หรือออกคําสั่งยกเลิกการทํางานบริการสังคมหรือทํางานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ แล้วแต่กรณี
ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ซึ่งถูกลงโทษจําคุกตามคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษให้คณะกรรมการมีหน้าที่ตรวจสอบและส่งรายชื่อต่อนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ เพื่อนายกรัฐมนตรีพิจารณาออกคําสั่งปล่อยหรือลดโทษ แล้วแต่กรณี
เมื่อได้มีหมายหรือคําสั่งปล่อยหรือลดโทษ หรือคําสั่งยกเลิกการทํางานบริการสังคมหรือทํางานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับแล้ว ให้คณะกรรมการทําบัญชีผู้ซึ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษเก็บไว้ที่เรือนจําหรือทัณฑสถานหนึ่งฉบับ ส่งศาลหนึ่งฉบับ ส่งกระทรวงยุติธรรมหนึ่งฉบับ และทูลเกล้าฯ ถวายอีกหนึ่งฉบับ
ถ้าการแต่งตั้งกรรมการบางคนไม่สะดวกในการปฏิบัติ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีอํานาจแต่งตั้งข้าราชการตามที่เห็นสมควรเป็นกรรมการแทนได้
ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และเลขาธิการสํานักงานศาลยุติธรรม เป็นกรรมการ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด
มาตรา ๑๖ ในส่วนที่เกี่ยวกับนักโทษตามกฎหมายว่าด้วยเรือนจําทหาร ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่งตั้งข้าราชการเป็นคณะกรรมการตามที่เห็นสมควร มีหน้าที่ตรวจสอบผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษและส่งรายชื่อต่อศาลทหารกรุงเทพ ศาลมณฑลทหาร หรือศาลจังหวัดทหารแล้วแต่กรณี ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ เพื่อความสะดวกแก่ศาลทหารดังกล่าวพิจารณาออกหมายสั่งปล่อยหรือลดโทษ หรือออกคําสั่งยกเลิกการทํางานบริการสังคมหรือทํางานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ แล้วแต่กรณี
ให้นํามาตรา ๑๕ วรรคสองและวรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนําบทบัญญัติแห่งพระราชกฤษฎีกานี้มาใช้บังคับแก่นักโทษตามกฎหมายว่าด้วยเรือนจําทหาร นอกจากที่ได้บัญญัติไว้แล้วในพระราชกฤษฎีกานี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมพิจารณาสั่งเทียบกรณีให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชกฤษฎีกานี้
มาตรา ๑๗ ให้นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้ในส่วนที่เกี่ยวกับอํานาจหน้าที่ของตน
ผู้รับสนองพระราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
บัญชีลักษณะความผิดท้ายพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเนื่องในโอกาสแรกนับแต่ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. ๒๕๕๙
(๑) ความผิดในภาค ๒ ความผิด แห่งประมวลกฎหมายอาญา
ลักษณะ ๑/๑ ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย
มาตรา ๑๓๕/๑ ถึงมาตรา ๑๓๕/๔
ลักษณะ ๒ ความผิดเกี่ยวกับการปกครอง
หมวด ๑ ความผิดต่อเจ้าพนักงาน
มาตรา ๑๓๙ มาตรา ๑๔๐
มาตรา ๑๔๓ และมาตรา ๑๔๔
หมวด ๒ ความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ
มาตรา ๑๔๗ ถึงมาตรา ๑๖๖
ลักษณะ ๓ ความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม
หมวด ๑ ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม
มาตรา ๑๖๗ มาตรา ๑๗๒
มาตรา ๑๗๓ มาตรา ๑๗๔
มาตรา ๑๗๕ มาตรา ๑๗๗
มาตรา ๑๗๙ มาตรา ๑๘๐
มาตรา ๑๘๑ มาตรา ๑๘๗
มาตรา ๑๘๙ มาตรา ๑๙๑
มาตรา ๑๙๒ และมาตรา ๑๙๘
หมวด ๒ ความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม
มาตรา ๒๐๐ ถึงมาตรา ๒๐๕
ลักษณะ ๕ ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน
มาตรา ๒๐๙ ถึงมาตรา ๒๑๓
ลักษณะ ๖ ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน
มาตรา ๒๑๘ มาตรา ๒๒๐ วรรคสอง มาตรา ๒๒๑
มาตรา ๒๒๒ มาตรา ๒๒๔ มาตรา ๒๒๘
มาตรา ๒๒๙ มาตรา ๒๓๐ มาตรา ๒๓๑
มาตรา ๒๓๒ มาตรา ๒๓๔ มาตรา ๒๓๕
มาตรา ๒๓๖ มาตรา ๒๓๗ และมาตรา ๒๓๘
ลักษณะ ๙ ความผิดเกี่ยวกับเพศ
มาตรา ๒๗๖ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๘๒ และมาตรา ๒๘๓
ลักษณะ ๑๐ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย
หมวด ๑ ความผิดต่อชีวิต
มาตรา ๒๘๘ มาตรา ๒๘๙ และมาตรา ๒๙๐
หมวด ๒ ความผิดต่อร่างกาย
มาตรา ๒๙๗ และมาตรา ๒๙๘
ลักษณะ ๑๑ ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง
หมวด ๑ ความผิดต่อเสรีภาพ
มาตรา ๓๑๓ ถึงมาตรา ๓๑๕ และมาตรา ๓๑๗
ลักษณะ ๑๒ ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์
หมวด ๒ ความผิดฐานกรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์
มาตรา ๓๓๙ วรรคห้า
มาตรา ๓๓๙ ทวิ วรรคห้า
มาตรา ๓๔๐ วรรคห้า
มาตรา ๓๔๐ ทวิ วรรคหก
และมาตรา ๓๔๐ ตรี
(๒) ความผิดที่มีโทษตามมาตรา ๗๘ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืน
เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐
(๓) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ กฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ
และกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ
(๔) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(๕) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ
(๖) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
(๗) ความผิดเกี่ยวกับการยักยอกหรือฉ้อโกงหรือประทุษร้ายต่อทรัพย์หรือกระทําโดยทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ กฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน หรือกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งกระทําโดยกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใด ซึ่งรับผิดชอบหรือมีประโยชน์เกี่ยวข้องในการดําเนินงานของสถาบันการเงินนั้น
(๘) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐหรือความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น
(๙) ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องในโอกาสแรกนับแต่ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์เพื่อเป็นการแสดงพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมควรพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไปจึงจําเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้