MGR Online - ศาลฎีกาพิพากษากลับ จำคุกจริง 1 เดือนไม่รอลงอาญา “อ.ตุ้ม-สุดสงวน สุธีสร” ละเมิดอำนาจศาล พามวลชนเสื้อแดงวางพวงหรีดก่อความวุ่นวายหน้าศาลแพ่ง ปี 57
ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (8 พ.ย.) เวลา 13.30 น. ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ ลม.1/2557 ที่ผู้อำนวยสำนักการประจำศาลแพ่ง เป็นผู้กล่าวหานางดารุณี กฤตบุญญาลัย, นางสุดสงวน สุธีสร หรืออาจารย์ตุ้ม อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายพิชา วิจิตรศิลป์ ทนายความ (เสียชีวิตแล้ว) เป็นผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-3 กรณีประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาล จากเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2557 นางดารุณี แนวร่วม นปช.กับพวกนำมวลชนจำนวนมากรวมตัวกันที่หน้าอาคารศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก แล้วอ่านแถลงการณ์ วางพวงหรีด และชูป้ายข้อความวิจารณ์การทำหน้าที่ของศาลแพ่ง คดีที่ กปปส.ฟ้องเพิกถอนการออกประกาศ ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาผูกติดไว้กับประตูรั้วเพื่อแสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยต่อคำพิพากษาดังกล่าว ซึ่งศาลแพ่งได้ไต่สวนและตรวจดูภาพที่ได้มีการบันทึกเหตุการณ์แล้วเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2557
กรณีดังกล่าวนางสุดสงวน อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และนายพิชา ทนายความ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2-3 ให้การรับสารภาพ ซึ่งระหว่างพิจารณา นางดารุณี กฤตบุญญาลัย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 หลบหนี ศาลจึงออกหมายจับและจำหน่ายคดีของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ชั่วคราว
ขณะที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำคุกนางสุดสงวน อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และนายพิชา ทนายความ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2-3 คนละ 1 เดือน
ต่อมาผู้ถูกกล่าวหาที่ 2-3 ยื่นอุทธรณ์ ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์นั้น นายพิชา ทนายความผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ถึงแก่ความตาย ศาลอุทธรณ์จึงจำหน่ายคดีเฉพาะผู้ถูกล่าวหาที่ 3 ออกจากสารบบความ ส่วนนางสุดสงวน อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ศาลอุทธรณ์เห็นว่ารับราชการเป็นอาจารย์ในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ มีตำแหน่งถึงรองศาสตราจารย์ ถือว่าได้ทำคุณประโยชน์แก่ทางราชการ จึงเห็นควรให้ลงโทษกักขังผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 แทนโทษจำคุก
จึงพิพากษาแก้เป็นให้เปลี่ยนโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เป็นกักขังแทน มีกำหนด 1 เดือน โดยนางสุดสงวนได้ยื่นประกันตัวระหว่างฎีกา ซึ่งศาลพิจารณาอนุญาตให้ประกันตัวโดยตีราคาประกันเป็นเงินสด 50,000 บาท
โดยวันนี้ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เดินทางมาศาลเพื่อฟังคำพิพากษา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในวันเกิดเหตุนางสุดสงวน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 แจ้งเจ้าหน้าที่ศาลว่า จะนำพวงหรีดมอบให้แก่อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง ซึ่งบุคคลในกลุ่มที่มาพร้อมกับนางสุดสงวน เป็นหญิงแต่งกายด้วยผ้าถุงสีดำ เสื้อสีดำ ใส่แว่นตาดำ คาดผ้าปิดปากสีดำ ถือตราชั่งและปลัดขิก ยืนให้ช่างภาพถ่ายภาพ
ที่นางสุดสงวน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง ไม่มีเหตุรอการลงโทษ
โดยมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของพนักงานอัยการด้วยว่า กรณีมีเหตุเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า นางสุดสงวน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เป็นบุคคลที่มีความรู้ทางกฎหมาย มีตำแหน่งหน้าที่เป็นอาจารประจำมหาวิทยาลัย ย่อมรู้ดีว่า คำพิพากษาของศาลย่อมมีทั้งก่อความพอใจและความไม่พอใจแก่คู่ความได้ ซึ่งฝ่ายแพ้คดีย่อมมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป การนำคณะบุคคลมากดดันดุลยพินิจของศาล ย่อมเป็นการบ่อนทำลายสถาบันศาล ลิดรอนความเป็นอิสระของตุลาการ ให้เป็นไปตามอารมณ์ของคู่ความ นำไปสู่ความวุ่นวายโกลาหล ไร้ความมั่นคงของประเทศ เป็นการใช้กำลังข่มขู่ คุกคาม เพื่อให้ศาลยอมจำนนตามประสงค์ของฝ่ายตน แสดงถึงความเหิมเกริมไม่หวั่นเกรงกฎหมาย ทั้งที่ตนมีความรู้ จึงไม่มีเหตุควรปราณี ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทนนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา จึงพิพากษากลับ ให้จำคุกนางสุดสงวน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เป็นเวลา 1 เดือน ตามคำพิพากษาศาลแพ่ง
ภายหลัง นายสมชาย ภู่บึงไผ่ ทนายความเปิดเผยว่า ศาลฎีกาพิจารณาแล้วมีคำพิพากษากลับให้ลงโทษนางสุดสงวนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ให้จำคุก 1 เดือนโดยไม่ลงอาญา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้มีมวลชนกลุ่มคนเสื้อแดงมาให้กำลังใจนางสุดสงวน ประมาณ 30 คน เช่น นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. และ น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือดา ตอร์ปิโด อดีตแกนนำกลุ่มสภาประชาชน และแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ต่อมาหลังอ่านคำพิพากษาเสร็จ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ย้ายอาจารย์ตุ้มจากศาลแพ่งมาควบคุมยังบริเวณใต้ถุนศาลอาญา โดยกันไม่ให้มวลชนที่วิ่งตามเข้ามาในพื้นที่เพื่อป้องกันเหตุความวุ่นวาย ก่อนที่อนุญาตให้เข้าเยี่ยมที่หน้าห้องควบคุมผู้ต้องขังหญิงบริเวณใต้ถุนศาลอาญาได้ จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำตัวไปคุมขังที่ทันฑสถานหญิงกลาง