วงเสวนามองเลือกตั้งอเมริกา มุมสะท้อนเลือกตั้งไทย “สมชัย” ชี้สื่อ-โซเชียลมีเดีย-เฮตสปีช ส่งผลให้เกิดการไม่ยอมรับผลเลือกตั้ง มองการกำหนดกติกามีผล พร้อมยกการกำหนด “3 ไม่” ในการรณรงค์ประชามติ ร่าง รธน.ไทย ส่งผลดีไม่เกิดปัญหาวุ่นวาย ด้านนักวิชาการหวังสังคมไทยสร้างวัฒนธรรมไม่เกรงใจในการเลือกตั้ง ส่วนพีเน็ตแนะคนไทยปรับทัศนคติมองนักการเมืองโกงเลือกตั้งไม่ดี เพื่อรักษาระบอบ ปชต. พร้อมมุ่งเน้นการเลือกตั้งคุณภาพ
วันนี้ (8 ธ.ค.) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดเสวนาเรื่อง “มองเลือกตั้งอเมริกา มุมสะท้อนเลือกตั้งไทย” โดยมีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. นายวิบูลย์พงศ์ พูนประสิทธิ์ อาจารย์รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายพลีธรรม ตริยะเกษม ร่วมอภิปราย
นายสมชัยกล่าวว่า การเลือกตั้งอเมริกาข้อดี คือ ทุกประเด็นที่มีการโต้เถียงในสังคมก็จะนำไปสู่การให้ประชาชนลงคะแนนเพื่อตัดสิน ประชาชนยอมรับการใช้เทคโนโลยีในการช่วยเลือกตั้ง แต่ครั้งนี้ไม่มีการนำเครื่องลงคะแนนมาใช้เหมือนการเลือกตั้งสภาสูงครั้งก่อน โดยสาเหตุที่ไม่ได้นำมาใช้ด้วยเหตุผล ว่า จำนวนเครื่องมีน้อย ผู้มาใช้สิทธิต้องต่อแถวยาว ทำให้ไม่สะดวก ไม่ใช่ปัญหาเรื่องความไม่ไว้วางใจเทคโนโลยี ขณะที่โซเชียลมีเดีย และการนำเสนอของสื่อ มีอิทธิพลสูงต่อการตัดสินใจ
“มีคนถามว่าทำไมหลังการเลือกตั้งจึงเกิดปัญหาคนตีกัน ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง คิดว่าส่วนหนึ่งสื่อกับสังคมออนไลน์มีผล โดยพบว่าสื่อมีการเลือกข้าง มีการปล่อยให้ใช้ Hate Speech (เฮตสปีช) หรือการสื่อสารความเกลียดชัง ซึ่งตนอยากให้มาดูการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญของไทย ที่กกต. มีการกำหนดว่าในการรณรงค์รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องมี 3 ไม่ คือ ไม่หยาบคาย ไม่เท็จ ไม่ปลุกระดม ใครกระทำจับกุมหมด เมื่อผลประชามติออกมาคะแนนมีความชัดเจนว่าฝ่ายไหนชนะ แต่ละฝ่ายก็ถอยกลับไปอยู่ในจุดของตนเองและยอมรับผลการออกเสียง กรณีดังกล่าวเป็นบทเรียนว่าในการเลือกตั้งถ้าเราคุมกติกาให้ดี ปัญหาที่อาจจะตามมาก็จะไม่เกิดขึ้น”
ด้านนายวิบูลย์พงศ์กล่าวว่า ระบบการเลือกตั้งอเมริกานั้น ใช้ไม่ได้กับประเทศไทย ด้วยปัจจัยหลายอย่างที่สำคัญ คือ ระบบวัฒนธรรมของคนไทยกับอเมริกาแตกต่างกัน ของอเมริกาเขาจะไม่สนใจระบบความสัมพันธ์ ไม่มีคำว่าเกรงใจ เพราะคำนี้ถ้าแปลคือโกหก ซึ่งไม่อยู่ในระบบเลือกตั้ง เช่น ต่อให้เขาทำดีมาแค่ไหน แต่ถ้าทำผิดในเรื่องหนึ่ง คนอเมริกาก็จะไม่เลือกแล้ว ตรงนี้ถือเป็นข้อดีอย่างหนึ่ง ที่ตนอยากเห็นในการเลือกตั้งของไทย คือ ทำอย่างไรให้คนไทยพิจารณาว่า ต่อให้เขาทำดีกับเรา ครอบครัว หรือชุมชนแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าเขาทำเลวกับประเทศชาติ เราต้องไม่ยอมรับ ไม่เลือก
ขณะที่นายพลีธรรมกล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้คนอเมริการู้ว่าระบบของเขามีปัญหา เพราะถ้าพรรคเดโมแครต ออกมาร่วมประท้วงด้วยเชื่อว่าการเลือกตั้งล้มทันที แต่เขากลับยอมรับ เพราะว่ามันเป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งบ้านเราวิธีเลือกตั้ง กกต. สร้างไว้ค่อนข้างโปร่งใส แต่คนไทยมองในแง่ลบ ว่า นักการเมืองโกงเลือกตั้ง ดังนั้น จะต้องมีการเปลี่ยนทัศนคติการมองการเมืองในแง่ลบที่มีมาหลายปีนี้ให้ได้ เพื่อที่จะรักษาระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ อีกทั้งในการเลือกตั้งที่ผ่านๆ มา ตัวเลขการออกมาใช้สิทธิอยู่ที่ร้อยละ 70 กว่า ในเชิงปริมาณถือว่าการณรงค์ให้คนออกมาใช้สิทธิทำได้ดีแล้ว แต่ในอนาคตควรพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้การออกมาใช้สิทธิเป็นการใช้สิทธิในเชิงคุณภาพ เพราะการสื่อสารในทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งยังเป็นการสื่อสารทางเดียวโดยพรรคการเมือง ที่ก็พยายามชูนโยบายโฆษณา เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกผู้สมัครพรรคตนเอง