ประธาน กรธ.เผยเตรียมถกสภาพัฒน์ร่าง กม.ยุทธศาสตร์ชาติ แจงฟังความเห็นทุกภาคส่วนแล้ว ย้ำ รบ.หน้าไม่ทำ ส่อผิด รธน. ยันแก้ไขได้ต้องถาม ปชช.ก่อน ชี้ รธน.กำหนดไว้ กม.ลูก ไม่ออกมาพรวดเดียว เชื่อ คสช.ดูกำหนดเวลาปลดล็อกพรรคการเมืองดีแล้ว แต่เรื่องเวลายังพูดไม่ได้
วันนี้ (30 พ.ย.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการหารือกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า ณ ขณะนี้ได้มีการหารือถึงเรื่องการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ โดยตนจะร่วมหารือกับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในนามกฤษฎีกาด้วย ทั้งนี้ หลังจากร่างรัฐธรรมนูญถูกประกาศใช้แล้ว กฎหมายว่าด้วยวิธีจัดทำยุทธศาสตร์และกฎหมายว่าด้วยวิธีจัดทำการปฏิรูปจะต้องออกมาภายในระยะเวลา 120 วันเช่นกัน ดังนั้นคงต้องรีบจัดทำให้เสร็จ และจากนั้นก็จะนำไปสู่การมียุทธศาสตร์และวิธีการปฏิรูปภายในระยะเวลา 1 ปีหลังจากนั้น
นายมีชัยกล่าวต่อว่า ส่วนที่ฝ่ายการเมืองกลัวกันว่าตรงนี้จะเหมือนกับสิ่งที่จะไปบังคับการทำงานของรัฐบาลชุดถัดๆ มา ตนขอเรียนว่าเวลาเขียนวิธีจัดทำกฎหมายต่างๆ รัฐบาลจะต้องรับฟังความเห็นจากประชาชน จากหลายๆ ฝ่าย และต้องคำนึงถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย ยุทธศาสตร์ชาตินั้นก็เปรียบเสมือนกับการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาถูกทอดทิ้งพอสมควร เวลาจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ถ้าหากรัฐบาลถัดๆ มาไม่ทำตามก็เท่ากับว่าเสียของ ต้องมาเริ่มนับหนึ่งใหม่อยู่เรื่อยๆ
นายมีชัยกล่าวว่า ยุทธศาสตร์ที่กำลังจะถูกกำหนดขึ้นมาใหม่นั้นระยะเวลายาวถึง 20 ปี เพื่อกำหนดว่าอนาคตของประเทศไทยในภายภาคหน้า หน้าตาจะเป็นอย่างไร ซึ่งการกำหนดยุทธศาสตร์ก็ไม่ได้คิดขึ้นมาได้เองแต่เกิดจากการที่แม่น้ำสายต่างๆ เช่น สภาขับเคลื่อนการการปฏิรูปประเทศ (สปท.) หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ไปรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ มา แล้วนำมาจัดทำเป็นยุทธศาสตร์อนาคต
“สมมติว่ารัฐบาลนี้เขามีแผนกำหนดว่าประเทศไทยวันข้างหน้าต้องเป็นแบบ 4.0 แต่พอรัฐบาลใหม่มา เขากลับกำหนดว่าไม่เอา กลับไปขี่เกวียนดีกว่า เอาแค่ 1.0 พอ เขาก็ต้องไปทำกระบวนการถามความเห็นชาวบ้าน ถ้าชาวบ้านเขาเห็นด้วยว่าขี่เกวียน จะได้ไม่เหม็นน้ำมัน รัฐบาลก็ต้องไปปรับยุทธศาสตร์ว่าให้ขี่เกวียนแทน แล้วถ้าชาวบ้านเอาก็ไม่มีใครเขาห้าม” นายมีชัยกล่าว
เมื่อถามถึงสภาพบังคับของกฎหมายเหล่านี้ นายมีชัยกล่าวว่า นี่เป็นกระบวนวิธีการ ไม่มีบทลงโทษ แต่ถ้ารัฐบาลไม่สนใจจะทำตามยุทธศาสตร์ เขาก็จะได้ชื่อว่าจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญซึ่งแม้กฎหมายจะไม่มีโทษอะไร แต่ในรัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดโทษของการไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เว้นแต่ว่ารัฐบาลนั้นได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติโดยผ่านการรับฟังความเห็นของประชาชนมาก่อน
เมื่อถามต่อถึงขั้นตอนและกำหนดการเวลาจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) นายมีชัยกล่าวว่า กรธ.ได้ทำตามกำหนดการที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ และต้องระมัดระวัง ไม่ควรออกกฎหมายมารวดเดียว เพราะถ้าทำแบบนั้นก็จะดูเหมือนว่าเป็นการกลั่นแกล้งพรรคการเมือง ส่วนเรื่องการปลดล๊อคให้พรรคการเมืองได้ทำกิจกรรมทางการเมืองนั้น ตนขอเรียนว่าไม่ใช่บทบาทของ กรธ. แต่ขึ้นอยู่กับ คสช.และรัฐบาลจะเป็นผู้ปลดล็อก ดังนั้น กรธ.ก็ต้องนึกถึงเขาว่าจะมีกำหนดเวลาทำงานได้เมื่อไหร่ จะสามารถทำงานได้นานเท่าไหร่ด้วย ถ้ากำหนดระเวลาสั้นไป เขาคงลำบาก
ส่วนที่มีความกังวลว่าการปลดล็อกห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองทำได้หลังจาก พ.ร.ป.ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งออกมาครบทั้ง 4 ฉบับ อาจจะมีปัญหาได้ เพราะจะเข้าสู่ระยะเวลาการเลือกตั้งภายใน 150 วันแล้ว นายมีชัยกล่าวย้ำว่า พ.ร.ป.ทั้ง 4 ฉบับคงออกมาพรวดเดียวไม่ได้ คงต้องออกมา 2 ฉบับก่อน คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองและว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หลังจากนั้นจึงจะรู้ว่าควรจะต้องใช้เวลากี่วัน แล้ว กรธ.ก็จะคำนวณเวลาที่จะต้องออก พ.ร.ป.อีก 2 ฉบับ คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และที่มา ส.ว. ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าทางรัฐบาลและ คสช.นั้นคงจะดูแลในเรื่องกำหนดเวลาที่เหมาะสมตรงนี้อยู่แล้ว คงจะไม่เกิดปัญหาตรงนี้
นายมีชัยกล่าวต่อว่า เรื่องเวลานั้น ณ ขณะนี้ยังพูดในวันนี้ไม่ได้ เพราะยังไม่รู้ว่าเมื่อส่งร่าง พ.ร.ป.ไปให้ สนช.พิจารณาแล้ว สนช.จะแก้เป็นอย่างไร กรธ.ก็ยังไม่รู้ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นก็คงจะมีการปรับกำหนดเวลาที่เหมาะสมกันอีกทีหนึ่ง