xs
xsm
sm
md
lg

อ่าน 2 คำพิพากษาฉบับเต็มกว่าร้อยหน้า โยงสมบัติตระกูลชินวัตร คดีคุก 1 ปี “หมอเลี๊ยบ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อ่าน 2 คำพิพากษาฉบับเต็มกว่าร้อยหน้า “คดีหมอเลี๊ยบ” รัฐมนตรีสองกระทรวง ยุคทักษิณ - สมัคร ทุจริตก่อนถูกศาลนักการเมือง สั่งจำคุก 1 ปี คดีแรก “เอื้อสัมปทานชินคอร์ป” ยาวกว่า 57 หน้า พ่วงคดี “แต่งตั้งบอร์ดแบงก์ชาติโดยไม่ชอบ” หนา 35 หน้า ดูกันเต็มๆ คำพิพากษา โยง “บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน)” อดีตสมบัติตระกูลชินวัตร

วันนี้ (25 พ.ย.) มีรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 คดีสำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ หมอเลี๊ยบ อดีต รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) สมัยรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร และอดีต รมว.คลัง ในสมัย นายสมัคร สุนทรเวช ที่เพิ่งถูกศาลฯตัดสินให้จำคุก และเข้าเรือนจำในคดีความผิด “อนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่ 5) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” ส่วนอีกคดี แต่งตั้งประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ หรือบอร์ดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมิชอบ ซึ่งศาลฯ พิพากษา จำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท รอลงอาญาไว้ มีกำหนด 1 ปี เมื่อเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา

โดยคดีแรก เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ศาลฎีกาฯ อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ ที่ อม.39/2558 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.คลัง สมัยรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช และอดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เป็นเหตุให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับความเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

โดยตอนท้ายของคำพิพากษา ระบุว่า “เมื่อจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าบุคคลทั้งสามเป็นผู้มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียที่ขัดต่อ การปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 28/1 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2458 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาตรา 9 แต่จำเลยกลับใช้อำนาจแต่งตั้งบุคคลทั้งสามเป็นคณะกรรมการคัดเลือกทั้งที่สามารถแต่งตั้งบุคคลอื่นที่เป็นผู้ไม่มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียที่ขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่เป็นคณะกรรมการคัดเลือกได้ ย่อมแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับความเสียหาย”

อ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม 35 หน้า http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/A/098/36.PDF “คดีแต่งตั้งประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ หรือบอร์ดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมิชอบ”

คดีดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อปี 2551 นพ.สุรพงษ์ ดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง รัฐบาลของนายสมัคร และได้แต่งตั้งประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ หรือบอร์ดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมิชอบ ซึ่งมีการร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ภายหลังวินิจฉัยว่า การคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ด ธปท. เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เนื่องจากคณะกรรมการคัดเลือกฯ บางคนมีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.บ. ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาตรา 28/1 และได้แจ้งให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา ดำเนินการระงับการทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงแต่งตั้งประธานกรรมการ ธปท. และให้ รมว.คลัง ดำเนินการยกเลิกการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท.

ต่อมา ป.ป.ช. ได้ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ เมื่อเดือน มิ.ย. 2558 หลังจากมีการชี้มูลความผิด นพ.สุรพงษ์ เมื่อเดือน มี.ค. 2554 เเละศาลฎีกาฯ นักการเมืองมีคำสั่งให้ประทับรับฟ้องเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2558 และ นพ.สุรพงษ์ จำเลยให้การปฏิเสธ และได้ยื่นหลักทรัพย์บัญชีเงินฝากและเงินสด 10 ล้านบาท ขอประกันตัวระหว่างสู้คดี

องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมาก พิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วว่า การที่จำเลยซึ่งเป็นรัฐมนตรีคลัง ซึ่งมีอำนาจแต่งตั้งผู้ที่เป็นกรรมการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ด ธปท. แต่ตาม พ.ร.บ. ธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดคุณสมบัติ ห้ามไม่ให้บุคคลที่มาเป็นกรรมการคัดเลือก เป็นข้าราชการประจำ ไม่เกี่ยวข้องทางการเมือง และไม่มีผลประโยชน์ได้เสีย แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยกลับเสนอรายชื่อบุคคล 7 ราย ซึ่งใน 3 รายชื่ิอ เป็นผู้บริหารธนาคารทหารไทย ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ ภายใต้การกำกับของ ธปท. เพื่อเสนอเป็นกรรมการคัดเลือกเป็นผู้ทรงคุณวุฒิของบอร์ด ธปท. จึงเป็นการแต่งตั้งผู้มีประโยชน์ได้เสีย ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย กระทบต่อความเป็นอิสระและเสถียรภาพของ ธปท. ที่จะเป็นธนาคารกลางของประเทศ

โดยการกระทำของจำเลย เป็นการแทรกแซง ทำให้ ธปท. เสียหาย จึงพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ให้จำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท แต่ภายหลังที่จำเลยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกดังกล่าวแล้ว ต่อมากระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าว จึงไม่ก่อให้เกิดความเสียหายมากนัก ประกอบกับจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอลงอาญาไว้ มีกำหนด 1 ปี

ส่วนคดีที่สอง วันที่ 25 สิงหาคม ศาลฎีกาฯ อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ อม.66/2558 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นพ.สุรพงษ์ อดีต รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร, นายไกรสร พรสุธี อดีตปลัดกระทรวงไอซีที และ นายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ และอดีตปลัดกระทรวงไอซีที ยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 1 - 3 ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีที่มีการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่ 5) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องถือในบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่า 51% เป็นไม่น้อยกว่า 40% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยทราบดีอยู่แล้วว่า เหตุที่บริษัทขอลดสัดส่วนการถือหุ้น เพื่อต้องการหาพันธมิตรขยายศักยภาพในการแข่งขันให้มีความเข้มแข็งและมีเงินทุนเพียงพอในการดำเนินการโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์

อ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม 57 หน้า http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/A/098/36.PDF คดีเอื้อสัมปทานชินคอร์ป

“การอนุมัติให้ลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ใน บริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัททั้งสองหรือไม่ พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสามที่กล่าวมาส่อแสดงให้เห็นว่ามีเจตนาดำเนินการให้มีการอนุมัติแก้ไขสัญญา เพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัททั้งสอง ซึ่งหลังจากแก้ไขสัญญาบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ได้ทำการเพิ่มทุน ๒๐๘,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น ทำให้ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ไม่ต้องซื้อหุ้นเพิ่มทุน เพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้น จึงเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัททั้งสอง และทำให้เกิดความเสียหายแก่สำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและทางราชการ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต”

“ขณะ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ยื่นเสนอขอรับสัมปทานนั้น มี ทักษิณ ชินวัตร เป็นประธานกรรมการ และ ทักษิณ ยังเป็นผู้เจรจาเงื่อนไขรายละเอียดกับทางราชการและเป็นผู้ลงนามสัญญาสัมปทาน ในฐานะประธานกรรมการบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จํากัด เมื่อมีการจัดตั้งบริษัทใหม่มาดำเนินงานตามสัญญา โดยมีการแก้ไขสัญญา ครั้งที่ 1 เพื่อให้ทั้งสองบริษัทรับผิดร่วมกัน และแทนกัน ทักษิณ ก็เป็นผู้ลงนามในสัญญาสัมปทานที่แก้ไขเพิ่มเติมในฐานะประธานกรรมการของบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ คือ บริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จํากัด (มหาชน) จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมทราบว่า นายกรัฐมนตรีขณะนั้นมีผลประโยชน์ทับซ้อน และมีส่วนได้เสียในการแก้ไขสัญญา เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดดังกล่าวโดยสมรู้ร่วมคิดกัน หรือสมรู้ร่วมคิด กับจำเลยที่ 1 โดยต่างกระทำความผิด ในขณะใช้อำนาจหน้าที่ของตน จำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นตัวการร่วมกัน องค์คณะผู้พิพากษามีมติโดยเสียงข้างมาก ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157”

ทั้งนี้ องค์คณะทั้ง 9 มีเสียงเอกฉันท์ เห็นว่า นพ.สุรพงษ์ มีความผิดฐานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 ทำให้รัฐเสียหายจากกรณีที่อนุมัติให้มีการแก้ไขสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียม โดยให้บริษัท ชิน แซทฯ ลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นบุคคลสัญชาติไทยจาก 51% ให้เหลือ 40 % ทำให้เกิดความเสี่ยงในการครอบงำกิจการของชาวต่างชาติที่จะมีผลต่อกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติ ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายกิจการโทรคมนาคม ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่ได้นำเสนอต่อ ครม. ตามขั้นตอน แม้จำเลยที่ 1 อ้างว่า ได้ส่งหนังสือหารือถึงอัยการสูงสุด แต่ก็ปกปิดความจริงที่เลขาธิการ ครม. ปฏิเสธการรับเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุม เนื่องจาก นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขณะนั้น เป็นคู่สัญญา ทำให้มีผลประโยชน์ทับซ้อน การกระทำของจำเลยไม่ได้ทำให้รัฐได้ผลประโยชน์เพิ่มขึ้น แต่กลับได้รับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จึงพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา

ส่วน นายไกรสร และ นายไชยยันต์ จำเลยที่ 2 - 3 องค์คณะมีมติเสียงข้างมากให้พิพากษาจำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 2 หมื่นบาท การกรณีที่จำเลยที่ 2 - 3 ไม่ได้จัดทำข้อมูลวิเคราะห์ผลการเปลี่ยนแปลงสัญญาดังกล่าว ว่า มีผลกระทบต่อรัฐอย่างไร ทั้งที่จำเลยทั้งสองเคยปฏิบัติหน้าที่ด้านการสื่อสาร กระทรวงคมนาคม และกรมไปรษณีย์โทรเลข ย่อมทราบข้อเท็จจริงดีอยู่แล้ว แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสองเป็นเพียงผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่มีอำนาจในการแก้ไข หรืออนุมัติสัญญาดังกล่าว โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้ 5 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น