MGR Online - ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งจำคุก 1 ปีไม่รอลงอาญา “นพ.สุรพงษ์” อดีต รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) แก้ไขสัมปทานดาวเทียมเอื้อชินคอร์ป ส่วน “ไกรสร-ไชยยันต์” อดีตรองปลัดไอซีที ให้รอลงอาญา 5 ปี ปรับ 2 หมื่น
วันนี้ (25 ส.ค.) เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลนัดฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ ที่ อม.66/2558 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือหมอเลี้ยบ อดีต รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร, นายไกรสร พรสุธี อดีตปลัดกระทรวงไอซีที และนายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ และอดีตปลัดกระทรวงไอซีที ยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีที่มีการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่ 5) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องถือในบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่า 51% เป็นไม่น้อยกว่า 40% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยทราบดีอยู่แล้วว่า เหตุที่บริษัทขอลดสัดส่วนการถือหุ้น เพื่อต้องการหาพันธมิตรขยายศักยภาพในการแข่งขันให้มีความเข้มแข็งและมีเงินทุนเพียงพอในการดำเนินการโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์
โดยวันนี้จำเลยทั้งสามเดินทางมาศาล โดยมีครอบครัวและผู้ใกล้ชิดมาให้กำลังใจ
นพ.สุรพงษ์กล่าวก่อนเข้าพิจารณาว่า ยอมรับว่าตนเองรู้สึกกังวลในส่วนของคดี ส่วนกรณีที่ที่ก่อนหน้านี้ตนได้ถูกศาลพิพากษาสั่งจำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ โดยรอลงอาญา 1 ปี ในคดีที่ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องขณะดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง ในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ได้กระทำการแทรกแซงเสนอชื่อ 3 อดีตผู้บริหารธนาคารทหารไทย ธนาคารกรุงไทย เป็นกรรมการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าจะส่งผลต่อคดีนี้หรือไม่ จะต้องรอผลการตัดสินของศาลก่อน
กระทั่งเวลา 14.00 น. ศาลฎีกาฯ พิเคราะห์ข้อเท็จจริงแล้วได้ความจากการไต่สวนพยานทั้งสองฝ่ายว่า ครม.มีมติอนุมัติให้บริษัทชินคอร์ปเป็นผู้รับสัมปทานดาวเทียม ต่อมาวันที่ 11 ก.ย. 2534 มีการทำสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมระหว่างกระทรวงคมนาคมกับบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด โดยนายทักษิณ ชินวัตร ขณะนั้นเป็นประธานกรรมการบริษัท ซึ่งปัจจุบันบริษัทเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทชินคอร์ป ซึ่งตามสัญญาข้อ 4 กำหนดให้บริษัทชินคอร์ปจะต้องจัดบริษัทขึ้นใหม่มาดำเนินการตามสัญญาภายใน 12 เดือน และจะต้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 นอกจากนี้ บริษัทชินคอร์ป และบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ดังกล่าวต้องรับผิดชอบตามสัญญาต่อกระทรวงในลักษณะร่วมกันและแทนกัน ซึ่งภายหลังมีการจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่คือบริษัท ชิน แซทฯ ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) แล้วมีการแก้ไขสัญญาครั้งที่ 1 เพื่อให้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่เข้ามาร่วมรับผิดตามสัญญา โดยมีนายทักษิณ ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริษัทเป็นผู้ลงนามในสัญญา ต่อมาวันที่ 24 ธ.ค. 2546 บริษัทชิน แซทฯ มีหนังสือถึงกระทรวงไอซีทีขออนุมัติให้บริษัทชินคอร์ปฯ ลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทชิน แซทฯ ให้เหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยอ้างว่าธุรกิจให้บริการช่องดาวเทียมไอพีสตาร์ต้องใช้เงินทุนสูงถึง 1.4 หมื่นล้านบาท บริษัทจึงมีความจำเป็นต้องให้พันธมิตรหรือเจ้าของแหล่งทุนเข้ามามีส่วนในการถือหุ้น โดยนายไชยยันต์ จำเลยที่ 3 ได้รับมอบหมายให้ศึกษาวิเคราห์การขอแก้ไขสัญญาสัมปทานในครั้งนี้ และนายไกรสร จำเลยที่ 2 ในฐานะปลัดกระทรวงได้เสนอความเห็นว่าการลดสัดส่วนถือหุ้นดังกล่าวบริษัทชินคอร์ปยังคงรับผิดชอบการทำตามสัญญาได้ต่อไปและไม่ขัดต่อกฎหมาย โดย นพ.สุรพงษ์ จำเลยที่ 1 ได้อนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทานนั้น โดยไม่ได้เสนอ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบ
ศาลฎีกาฯ วินิจฉัยแล้วเห็นว่า ข้อกำหนดเรื่องสัดส่วนการถือหุ้น เป็นข้อเสนอเพิ่มเติมของบริษัทชินคอร์ปฯ ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเจรจาระหว่างบริษัทกับคณะกรรมการพิจารณาสัมปทาน จึงเป็ฯเรื่องของคุณสมบัติและความสามารถของผู้รับสัมปทานที่เป็นสาระสำคัญของสัญญา และเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งที่ ครม.ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบบริษัทชินคอร์ปฯ เป็นผู้รับสัมปทาน การแก้ไขสัญญาในเรื่องนี้จึงต้องได้รับความเห็นชอบจาก ครม.
การที่ นพ.สุรพงษ์ จำเลยที่ 1 อนุมัติให้แก้ไขสัญญาโดยให้บริษัทชิน แซทฯ ลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นบุคคลสัญชาติไทยจาก 51% ให้เหลือ 40% ทำให้เกิดความเสี่ยงในการครอบงำกิจการของชาวต่างชาติที่จะมีผลต่อกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติ ขัดต่อเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายกิจการโทรคมนาคม ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่ได้นำเสนอต่อ ครม.ตามขั้นตอน แม้จำเลยที่ 1 อ้างว่าได้ส่งหนังสือหารือถึงสำนักงานอัยการสูงสุด โดยนายชัยเกษม นิติศิริ รองอัยการสูงสุด ปฏิบัติหน้าที่แทนอัยการสูงสุด ตอบกลับในครั้งแรกว่าโดยตั้งข้อสังเกตให้นำเรื่องการแก้ไขสัญญาเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เมื่อเลขาธิการ ครม.ปฏิเสธไม่รับเรื่อง โดยเสนอให้จำเลยที่ 1 ถอนเรื่อง แล้วจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือหารือมาทางสำนักงานการอัยการสูงสุดอีกครั้งว่าในฐานะหัวหน้าหน่วยราชการมีอำนาจอนุมัติแก้ไขสัญญาได้หรือไม่ โดยสำนักงานอัยการสูงสุดตอบกลับว่ามีอำนาจ แต่เป็นการตอบกลับโดยไม่ทราบเบื้องหลังว่าจำเลยที่ 1 ปกปิดความจริงที่เลขาธิการครม.แจ้งทางโทรศัพท์ปฏิเสธการรับเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุม เนื่องจากนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เป็นคู่สัญญากับบริษัทเอกชน ทำให้มีผลประโยชน์ทับซ้อน อีกทั้งการอนุมัติแก้ไขสัญญาไม่ได้ทำให้ราชการได้ผลประโยชน์เพิ่มขึ้น แต่กลับได้รับความเสี่ยง ซึ่งการแก้ไขสัดส่วนผู้ถือหุ้นทำให้บริษัทเอกชนได้รับประโยชน์เพียงฝากเดียว เพราะกรณีดังกล่าวก็สืบเนื่องจากข้อเสนอเพิ่มเติมจากบริษัทเอกชน การกระทำนั้นยังเป็นการลดทอนความมั่นคงและความมั่นใจในการดำเนินโครงการดาวเทียมของบริษัทชินคอร์ป ในฐานะผู้รับสัมปทานโดยตรง ที่จะต้องมีอำนาจการควบคุมบริหารจัดการอย่างเด็ดขาด ซึ่งการลดสัดส่วนอาจทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยที่มีอยู่ 60% รวมตัวกันคัดค้านการดำเนินการใดๆ ของบริษัทได้ แม้จะมีโอกาศน้อยแต่ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนก็จะไม่เกิดเหตุดังกล่าวขึ้นเลย
ส่วนนายไชยยันต์ จำเลยที่ 3 ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่วิเคราะห์แผนและนโยบาย ของสำนักอวกาศแห่งชาติ ได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงไอซีทีให้ศึกษาวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียก่อน โดยการศึกษาของจำเลยที่ 3 เป็นการวิเคราะห์ข้อกฎหมาย ไม่ได้วิเคราะห์ตรวจสอบข้อพิรุธ และความจำเป็นที่บริษัทชินคอร์ปฯต้องลดสัดส่วนผู้ถือหุ้น รวมทั้งไม่ปรากฎข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกลุ่มบิษัทพันธมิตรที่บริษัทชินคอร์ปฯ เคยอ้างเรื่องการลงทุน และไม่วิเคราะห์ว่ากระทรวงไอซีดีจะได้รับผลกระทบจากการแก้ไขสัญญาอย่างไร เชื่อว่ามีวัตถุประสงค์อื่นแอบแฝง เพราะข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีการขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่บุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่พันธมิตรหรือผู้เชี่ยวชาญ และเมื่อมีการเสนอเรื่องไปยังนายไกรสร จำเลยที่ 2 ก็เพียงแต่ลงนามรับทราบ โดยไม่สั่งให้ทำการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลให้ครบถ้วนตามที่ปลัดกระทรวงได้มีคำสั่งไว้ ทั้งที่จำเลยทั้งสองเคยปฏิบัติหน้าที่ด้านการสื่อสาร กระทรวงคมนาคม และกรมไปรษณีย์โทรเลข ย่อมทราบข้อเท็จจริงดีอยู่แล้ว ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสามไม่มีประเด็นใดฟังขึ้น
ดังนั้น จำเลยที่ 1-3 จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยองค์คณะทั้ง 9 คนมีมติเอกฉันท์พิพากษาให้จำคุก นพ.สุรพงษ์ จำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี
ส่วนนายไกรสร และนายไชยยันต์ จำเลยที่ 2-3 องค์คณะมีมติเสียงข้างมากให้จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 2 หมื่นบาท โดยพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว จำเลยทั้งสองเป็นเพียงผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และไม่มีอำนาจในการอนุมัติแก้ไขสัญญาดังกล่าว โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้มีกำหนดคนละ 5 ปี
ต่อมาเวลา 16.00 น. เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัว นพ.สุรพงษ์ ขึ้นรถตู้เพื่อไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร รับโทษตามคำพิพากษาของศาลดังกล่าว