xs
xsm
sm
md
lg

กสม.ชม คสช.ยกเลิกกำหนดวุฒิการศึกษาพนักงาน รปภ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย
กรรมการสิทธิมนุษยชน ชื่นชม คสช.ยกเลิกคุณสมบัติด้านการศึกษาพนักงานรักษาความปลอดภัย พร้อมเสนอเพิ่มศักยภาพและดูแลธุรกิจ รปภ.ให้เป็นไปตามหลักสากล

นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) รับผิดชอบในการพิจารณาพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย กล่าวถึงการที่ คสช.มีคำสั่งยกเลิกคุณสมบัติของพนักงานรักษาความปลอดภัยที่จะต้องสำเร็จการศึกษาภาคบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ หรือจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรีในเรื่องดังกล่าวเนื่องจาก กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนว่า การกำหนดคุณสมบัติของพนักงานรักษาความปลอดภัยที่จะต้องสำเร็จการศึกษาภาคบังคับตามกฎหมาย ว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ หรือจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ส่งผลกระทบต่อสิทธิในการทำงานของพนักงานรักษาความปลอดภัย ที่ประกอบอาชีพอยู่ก่อนพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 ใช้บังคับและไม่มีคุณสมบัติดังกล่าว

นพ.สุรเชษฐ์เห็นว่า ตามหลักการด้านสิทธิมนุษยชนนั้น การกำหนดคุณสมบัติสำหรับการทำงานไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งอาชีพใดก็ตาม คุณสมบัติที่กำหนดนั้นต้องจำเป็นหรือเกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับลักษณะงานที่ปฏิบัติหน้าที่นั้น มิฉะนั้นอาจเป็นการเลือกปฏิบัติได้ ซึ่งในกรณีการกำหนดคุณวุฒิการศึกษาของพนักงานรักษาความปลอดภัยนั้น กสม.เห็นว่าคุณสมบัติด้านการศึกษามิได้เป็นหลักประกันว่า ผู้ที่สำเร็จการศึกษาภาคบังคับจะปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัย โดยมีสำนึกความรับผิดชอบแต่อย่างใด จึงขอแสดงความขอบคุณที่ได้มีการยกเลิกคุณสมบัติดังกล่าว

นพ.สุรเชษฐ์กล่าวด้วยว่า บทบาทหน้าที่ของพนักงานรักษาความปลอดภัยนั้นมีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับความปลอดภัยในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนความสงบเรียบร้อยของสังคม ดังนั้น พระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 ซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อกำหนดมาตรฐานของธุรกิจรักษาความปลอดภัยและมาตรฐานของพนักงานรักษาความปลอดภัยและเสริมสร้างศักยภาพของพนักงานรักษาความปลอดภัย จึงควรครอบคลุมถึงผู้ให้บริการรักษาความปลอดภัยทุกประเภท ซึ่งปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมถึงพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ไม่ผ่านบริษัทธุรกิจรักษาความปลอดภัย รวมถึงพนักงานรักษาความปลอดภัยของหน่วยงานของรัฐ

นพ.สุรเชษฐ์ยังระบุว่า กฎหมายได้ให้พนักงานรักษาความปลอดภัยมีอำนาจหน้าที่ เช่น การช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการจับกุมผู้กระทำความผิด แจ้งเหตุแก่เจ้าพนักงานเมื่อมีการกระทำความผิดอาญา หรือน่าเชื่อว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นภายในบริเวณหรือสถานที่ที่รับผิดชอบรักษาความปลอดภัยทันที รวมทั้งปิดกั้นและรักษาสถานที่เกิดเหตุให้คงสภาพเดิม ซึ่งมีแนวโน้มว่าการปฏิบัติหน้าที่อาจกระทบต่อสิทธิมนุษยชนได้ รัฐบาลจึงควรกำกับดูแลให้ธุรกิจบริการรักษาความปลอดภัย ให้ดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบและสอดคล้องกับตามมาตรฐานสากลเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย เช่น ควรมีการตรวจสอบประวัติของพนักงานรักษาความปลอดภัย มีการฝึกอบรมทักษะที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ว่าต้องไม่ไปละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การใช้กำลัง การกักขัง การจับกุมมิให้เกิดการทรมานหรือการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม การละเมิดหรือการใช้ความรุนแรง


กำลังโหลดความคิดเห็น