ประธาน กรธ.เผย กกต.คนไหนขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญใหม่ก็ต้องพ้นตำแหน่งอัตโนมัติ ยันใช้กับทุกองค์กร เว้น ป.ป.ช.เหตุเพิ่งตั้งอาจให้นับต่อเนื่องได้ เผยเร่งกฎหมายลูกหวังได้สรรหาทัน คาดเสร็จเดือนนี้ แย้มตั้งคณะผู้ตรวจการการเลือกตั้งแทน กกต.จว. ตั้งสายสืบการเลือกตั้ง พร้อมหารือปรับสวัสดิการให้เท่าข้าราชการ ชี้ “ประวิช” เสี่ยงหลุดสุด
วันนี้ (11 พ.ย.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยเฉพาะบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวกับความต่อเนื่องของ กกต.ชุดปัจจุบันว่า ต้องเป็นตามคุณสมบัติที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ หากคนเดิมขาดคุณสมบัติก็ต้องพ้นไปโดยอัตโนมัติ
“เราไม่รู้ว่าคุณสมบัติของ กกต.ชุดนี้แต่ละคนเป็นอย่างไร แต่ถ้าคนไหนขาดคุณสมบัติเขาก็อยู่ต่อไม่ได้ เราจึงเร่ง พ.ร.ป.ฉบับนี้ออกไปก่อน ก็เพื่อให้มีเวลาสรรหาแทนที่ขาดไปรวมทั้งต้องเพิ่มอีก 2 คนตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก่อนจะเริ่มลงมือทำงานได้ เพราะถ้าส่งไปพร้อมกันทีเดียวก็หงายหลัง เพราะยังไม่มีคนมาเป็น กกต.ครบถ้วนที่จะดำเนินการจัดการเลือกตั้ง” นายมีชัยระบุ
ประธาน กรธ.กล่าวอีกว่า หลักการเดียวกันนี้ก็ใช้กับทุกองค์กร เพราะเราจะให้เขามีอำนาจสูงขึ้น ก็ต้องมีประสบการณ์ ความรู้ ความกล้าหาญเพียงพอจนเป็นที่วางใจได้ แต่สำหรับบางองค์กรอย่าง ป.ป.ช.นั้น กรธ.กำลังดูว่าจะสามารถผ่อนอะไรที่ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เช่นระยะเวลาการดำรงตำแหน่งอาจจะนับต่อเนื่องได้ เพราะเขาเพิ่งตั้งมาไม่นาน เช่นเข้ามาทำงานแล้ว 2 ปีก็อาจถือว่ามีประสบการณ์พอสมควร ทั้งนี้ร่างเบื้องต้นของ พ.ร.ป.กกต.น่าจะเสร็จราวเดือน พ.ย. โดยจะนำเสนอ สนช.ได้ก็ต่อเมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้แล้ว
ทั้งนี้ คุณสมบัติของกรรมการ กกต.ใหม่ ได้กำหนดไว้ในมาตรา 222 โยงมาตรา 232 เช่น ต้องเคยรับราชการระดับอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าไม่ต่ำกว่า 5 ปี เคยเป็นผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐไม่น้อยกว่า 5 ปี เคยมีตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไม่น้อยกว่า 5 ปี และมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ เป็นต้น
สำหรับ กกต.ชุดปัจจุบันทั้ง 5 นั้น พบว่าผู้ที่มีปัญหาคุณสมบัติชัดเจน คือ นายประวิช รัตนเพียร เนื่องจากไม่เคยมีประสบการณ์ตามที่ระบุ และยังขัดคุณสมบัติตาม 202 (4) เนื่องจากเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือ รมว.วิทยาศาสตร์ ปี 2554-2556 และพ้นมาแล้วไม่ถึง 10 ปี ส่วนนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. อีกคน แม้จะเคยทำงานในองค์กรภาคประชาชนอย่างองค์กรกลาง หรือพีเน็ตมานาน แต่ยังต้องรอความชัดเจนว่าจะต้องทำงานโดยมีตำแหน่งใดเป็นอย่างต่ำหรือไม่
นายมีชัยกล่าวอีกว่า เสียงสะท้อนจากฝ่ายสำนักงาน กกต.ขอให้ กรธ.ปรับเปลี่ยนให้มีสถานะเป็นข้าราชการ เพื่อให้มีสวัสดิการทัดเทียมกัน แต่ กรธ.เห็นว่าหากเป็นข้าราชการก็อาจตกอยู่ใต้อาณัติของฝ่ายการเมือง จึงพยายามหารือ ก.พ., กพร., กนช. ฯลฯ และคณะกรรมการภาครัฐหลายแห่ง เพื่อหาแนวทางปรับสวัสดิการให้โดยคงความเป็นองค์กรอิสระตามเดิม
นอกจากนี้ นายมีชัยยังเปิดเผยว่า กรธ.มีแนวคิดให้ตั้งคณะผู้ตรวจการการเลือกตั้ง ซึ่ง กกต.จะคัดเลือกคนขึ้นบัญชีเอาไว้ แล้วส่งไปเป็นแขนขาแทน กกต.จังหวัด โดยมีทั้งคนจากส่วนกลางที่จับสลากไปเฉพาะช่วงมีการเลือกตั้งไม่ให้รู้ล่วงหน้า ลงไปทำงานร่วมกับคนที่ตั้งมาในจังหวัดคอยช่วยสอดส่องการจัดการเลือกตั้งในพื้นที่ แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการเอาผิดการทุจริตหรือการทำสำนวนการเลือกตั้ง แต่จะช่วยรองรับข้อมูลให้กับ กกต.ที่ลงไปตรวจสอบ ช่วยให้สามารถสั่งระงับการเลือกตั้งในพื้นที่ได้ ทั้งนี้ยังจะเปิดให้มีการตั้งสายสืบการเลือกตั้ง โดยอาศัยคนในพื้นที่ทั้งนักศึกษา ทั้งหมดนี้เพื่อป้องกันช่องโหว่ของ กกต.จังหวัดที่อาจถูกแทรกแซงโดยนักการเมืองในพื้นที่ได้ง่าย