ประธาน กรธ.บอกถ้า กกต.คิดสูตรกันบล็อกโหวตเลือก ส.ว.ได้ก็น่ายินดี รอฟังความเชี่ยวชาญ แต่รับในร่างฯ ไม่ได้เขียนไว้ว่าต้องเลือกไขว้ หลังมีคนท้วงช่องทางโกง ระบุหากมีปัญหามากก็เปลี่ยนวิธีในกฎหมายลูก ชี้ค่าสมัคร 500 ต้องชั่งน้ำหนักดูเอื้อให้ทุจริตหรือไม่ ยันต้องมีภาคประชาชนสอบ วอนฝ่ายการเมืองมาร่วมสัมมนา
วันนี้ (27 ก.ย.) ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม กรธ.ถึงแนวทางการเลือกไขว้ ส.ว.จาก 20 กลุ่มอาชีพ ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ว่า ได้ยินมาว่า กกต.สามารถคิดสูตรการป้องกันการฮั้ว และการบล็อกโหวตได้สำเร็จ ถ้าเป็นเรื่องจริงก็น่ายินดี กรธ.ต้องรับฟังความเชี่ยวชาญของ กกต.เพื่อมากำหนดวิธีการเลือก ส.ว. แต่ทั้งนี้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติไม่ได้กำหนดไว้ตายตัวว่า ส.ว.จะต้องมาจากการเลือกไขว้ เพราะมีคนท้วงติงมาว่ามีช่องทางทำให้ไม่สุจริต จึงเขียนเปิดช่องให้ใช้วิธีอื่นได้ วิธีอื่นก็เช่น ให้มีข้อตกลงกันในหมู่วิชาชีพกลั่นกรองกันเองให้เรียบร้อยก่อนว่าใครจะเป็นตัวแทน ป้องกันไม่ให้มีผู้ใดไปจ้างนอมินีลงสมัครเพื่อจะได้มีเสียงไว้โหวตให้ตัวเอง แต่ก็ยังต้องคงหลักการเดิมเอาไว้ ไม่เช่นนั้นหากกลุ่มอาชีพหนึ่งมีผู้สมัคร 50 คน แต่เป็นนอมินีมีคนจ้างลงสมัครไปแล้ว 40 คนก็จะทำให้มีปัญหาได้ โดยการสรรหา ส.ว.ที่ให้มาจากการเลือกไขว้ 50 คน จาก ส.ว.สรรหาทั้งหมด 250 คน ตามบทเฉพาะกาล ก็ต้องช่วยกันดูว่าเป็นอย่างไร หากมีปัญหามากก็เปลี่ยนวิธีการในกฎหมายลูกตามที่เปิดช่องไว้ จะได้ไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวถามถึง ค่าสมัคร ส.ว.เพียง 500 บาท ตรงนี้จะเอื้อให้มีนอมินีลงสมัครหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า ต้องชั่งน้ำหนักดูอีกทีว่าเอื้อให้มีการทุจริตหรือไม่ ส่วนการตรวจสอบภาคประชาชนมองว่าน่าจะต้องกำหนดให้มีคนที่สนใจและเป็นผู้ที่ไม่อยู่ในพื้นที่ลงคะแนนมาสามารถมาสมัครเพื่อช่วยลงไปตรวจตาดูการลงคะแนน โดยกำหนดให้มีสถานะมารองรับและให้มีอำนาจในการแจ้งความจับได้หากพบเหตุต้องสงสัย ส่วนนี้จะนำไปใช้กับการเลือกตั้ง ส.ส.ด้วย นอกจากนี้ กรธ.จะจัดให้มีการสัมนาอีกครั้งในส่วนของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.ซึ่งอยากให้ฝ่ายการเมืองมาร่วมด้วย กรธ.ต้องการรับฟังประสบการณ์การเมืองว่าตรงไหนปฏิบัติจริงไม่ได้บ้าง