ทีมโฆษกรัฐบาลเผยมติ ครม.ไฟเขียวแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพิ่มโทษทำร้ายร่างกายทั้งจำและปรับ ขณะเดียวกันเล็งขออนุมัติเสนออุทยานธรณีสตูลเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก
วันนี้ (8 พ.ย.) เมื่อเวลา 14.30 น. ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกรัฐบาล แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า นายกฯ ได้สั่งการหน่วยงานต่างๆ ป้องกันภาวะน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้น รวมถึงเตรียมมาตรการในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย สำหรับถนนที่ถูกน้ำท่วมให้ดำเนินการระบายน้ำอย่างรวดเร็ว และเตือนประชาชนให้ระวังโรคภัยที่มากับน้ำท่วม ทั้งนี้ นายกฯ สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องเก็บกักน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ในช่วงหน้าแล้งด้วย
ด้าน พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ให้แก้ไขอัตราโทษปรับในภาค 2 ความผิด ทั้งนี้เนื่องจากได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2558 ซึ่งได้แก้ไขอัตราโทษปรับสำหรับความผิดลหุโทษภาค 3 เพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า แต่ขณะเดียวกันอัตราโทษปรับการทำผิดในภาค 2 ไม่ได้มีการแก้ไขเพิ่มขึ้นไปด้วยจึงเกิดความไม่สอดคล้อง ดังนั้นจึงให้ปรับในภาค 2 เพิ่มขึ้นให้เหมาะสมกับภาค 3 นอกจากนี้ มีการพิจารณาความผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายรับอันตรายสาหัส ที่มีบทเฉพาะโทษจำคุก แต่ไม่ได้กำหนดโทษปรับเอาไว้ ทำให้ศาลพิจารณาลงโทษจำคุกได้สถานเดียว อาจไม่เหมาะสมกับการกระทำความผิด
“การแก้ไขอัตราโทษปรับในครั้งนี้จะมีการเพิ่มอัตราโทษปรับในสัดส่วนอัตราโทษจำคุก โดยโทษจำคุก 1 ปี ต่ออัตราโทษปรับเดิมคือ 2,000 บาท ให้เพิ่มเป็น 2 หมื่นบาท นอกจากนี้มีการเพิ่มเติมโทษปรับฐานทำร้ายร่างกายฯ ซึ่งปัจจุบันมีเพียงโทษจำคุกเท่านั้น จึงได้กำหนดเพิ่มเติม โทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน - 10 ปีขึ้นไป เพิ่มปรับตั้งแต่ 1 หมื่น - 2 แสนบาท และโทษจำคุกตั้งแต่ 2-10 ปีขึ้นไป เพิ่มปรับ 4 หมื่นบาท - 2 แสนบาท” พ.อ.อธิสิทธิ์กล่าว
พ.อ.อธิสิทธิ์กล่าวถึงการขออนุมัติเสนออุทยานธรณีสตูลเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก ว่าอุทยานธรณีโลกเป็นพื้นที่รวมแหล่งและสภาพพื้นประเทศที่มีความสำคัญทางธรณีวิทยาในระดับนานาชาติ โดยพื้นที่เหล่านี้จะได้รับการบริหารจัดการแบบองค์รวม เช่น การอนุรักษ์ การศึกษา และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปัจจุบันทั่วโลกมีอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก 120 แห่ง ใน 33 ประเทศ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มี 4 แห่ง ใน 3 ประเทศ คือ มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยอุทยานธรณีสตูลเป็นแหล่งที่มีคุณค่าด้านธรณีวิทยามากกว่า 30 แห่ง รวมถึงความหลากหลายของซากดึกดำบรรพ์ทะเล มีโบราณสถาน วัฒนธรรม วิถีชีวิตของชาวเล และความหลากหลายทางชีวภาพเป็นจำนวนมาก โดยประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ เมื่อเข้าเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกฯ อาทิ ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในระดับนายาชาติเพิ่มมากขึ้น ทั้งด้านคุณค่าแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และการท่องเที่ยว โดยจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว ทำให้ประชาชนในชุมชนมีงานทำ มีรายได้เพิ่มมากขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีทรัพยากรธรรมชาติได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นแหล่งศึกษาของนักวิชาการ