สสส. ร่วมกับธนาคารจิตอาสา ทำความดีเพื่อสืบสานพระปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ชวนคนไทยติดแฮชแท็ก “จิตอาสาพลังแผ่นดิน ทำดีเพื่อพ่อ 365 วัน” ร่วมกันปักหมุดแผนที่ความดี ปลุกพลังจิตอาสาทั้งแผ่นดิน เปิดใจ “ครูเรียม” ผู้ยืนหยัดสร้างชีวิตเด็กดอยด้วยการสานต่อคำของพ่อหลวง
ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ วันนี้ (4 พ.ย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับธนาคารจิตอาสา เปิดตัว “โครงการจิตอาสาพลังแผ่นดิน” ทำความดีเพื่อสืบสานพระปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมทั้งสร้างกลไกสานต่อเครือข่ายงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้งอกงาม และยั่งยืน
นายสุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นสัญลักษณ์การทำความดี และทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมดังที่คนไทยได้เห็นตลอดรัชสมัยของพระองค์ เพื่อน้อมนำพระราชดำรัสของพระองค์เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต สสส. จึงเชิญชวนประชาชน ภาคีเครือข่าย และหน่วยงานทุกภาคส่วนแปรเปลี่ยนความโศกเศร้า ความอาลัยรักในพระองค์ท่าน เป็นพลังในการสานต่อพระปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการทำความดีเพื่อแผ่นดิน โดยร่วมกับธนาคารจิตอาสา พัฒนาพื้นที่กลาง เพื่อสานพลังจิตอาสาผ่านทางเว็บไซต์ www.Palangpandin.com ซึ่งเป็นช่องทางในการเชื่อมโยงพลังเครือข่ายทั่วประเทศในการแบ่งปันเรื่องราวกิจกรรมอาสาทำดี การช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการสร้างกลไกสำหรับการสร้างงานและเครือข่ายจิตอาสาเพื่อผู้อื่น เพื่อสร้างแรงบันดาลใจผ่านเรื่องราวการลงมือทำความดี สนับสนุนให้สังคมส่งต่อความดีแก่กัน
สำหรับงานจิตอาสาที่น้อมนำพระราชดำรัส และพระราชปณิธานของพระองค์ท่านมาทำงานในพื้นที่ที่กำลังจะเกิดขึ้น อาทิ งานจิตอาสาดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย งานพัฒนาศักยภาพผู้นำอาสาสมัครเพื่อการป้องกัน เตือนภัย และฟื้นฟูชุมชนในภาวะวิกฤต การส่งเสริมบทบาทพระสงฆ์กับการสร้างสุขภาวะสังคม โครงการเยาวชนวิถีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โครงการ Gen A พลังอ่านเปลี่ยนเมือง โครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน โครงการคนหัวใจหินงดเหล้าครบพรรษา...ถวายความอาลัยพ่อของแผ่นดิน ลานกีฬาพัฒน์พื้นที่สุขภาวะในชุมชนเมือง งานพื้นที่นี้ดีจัง การดำเนินงานจิตอาสาเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและเยาชนพื้นที่ภาคตะวันออก การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์สุขภาวะในชุมชนบนพื้นที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ การพลิกฟื้นความสุขของเกษตรกรด้วย “เศรษฐกิจพอเพียง” ฯลฯ ซึ่งเป็นการรวมพลังเครือข่ายเพื่อร่วมสร้างปรากฏการณ์พลังการทำความดีทั้งแผ่นดิน
นายสรยุทธ รัตนพจนารถ ผอ.ร่วมธนาคารจิตอาสา กล่าวว่า เว็บไซต์จิตอาสาพลังแผ่นดิน จะมีบริการ 3 ส่วน โดยส่วนแรกเปิดบริการแล้ว คือ 1. แผนที่พลังแผ่นดิน ให้ทุกคนเข้ามาเขียนถึงกิจกรรมทำดีของตนที่เว็บไซต์ บอกตำแหน่งสถานที่ และสามารถแชร์ไปยังเฟซบุ๊กได้ทันที
นอกจากนี้ เว็บไซต์ยังรวบรวมกิจกรรมเรื่องราวดีๆ จากทวิตเตอร์ และอินสตาแกรมเพียงในโพสต์นั้นใส่ #จิตอาสาพลังแผ่นดิน หรือ #palangpandin และปักหมุดสถานที่ ในระยะต่อไปเว็บไซต์จะให้บริการ 2. ปฏิทินความดี ให้ทุกคนทุกองค์กรเข้ามาสื่อสารกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคมตามรอยพ่อ ซึ่งวันที่จัดกิจกรรมอาจเป็นวันสำคัญของตน หรือวันสำคัญขององค์กร 3. เติมทรัพยากร โดยแสดงข้อมูลว่ามีกิจกรรมใดต้องการระดมความช่วยเหลือเพิ่มเติม เช่น โรงเรียนในชายแดนขาดแบบเรียน หรือสถานสงเคราะห์ที่จะจัดกิจกรรมยังขาดผ้าอ้อมสำหรับเด็กอ่อน ผู้ที่สนใจสามารถบอกผ่านเว็บไซต์เพื่อเติมทรัพยากรและให้ความช่วยเหลือได้ตรงตามความต้องการของพื้นที่
ด้าน นางเรียม สิงห์ทร ครูโรงเรียนบ้านขอบด้ง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงแรงบันดาลใจของการเป็นครูดอย ว่า สถานการณ์ที่ดอยอ่างขางเมื่อ 30 ปีก่อนหน้านี้ เป็นพื้นที่ล่อแหลมจากกองกำลังติดอาวุธ ปัญหายาเสพติด และผู้อพยพ จนเกือบละทิ้งอุดมการณ์ แต่เมื่อมองเห็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในห้องเรียนของโรงเรียนบ้านขอบดัง ที่ไร้เด็กนักเรียนก็เหมือนกับได้สบกับสายพระเนตรของพระองค์ จึงตัดสินใจสู้ต่อ บุกไปหาเด็กนักเรียนถึงกลางไร่ข้าวไร่ฝิ่น เพื่อจะสอนให้พวกเขารู้ภาษาไทย รู้กฎหมายไทย และสอนอาชีพ โดยนำโครงการหลวงมาส่งเสริมด้วยการเปิดสอนกลางแปลงนา แปลงผัก เพื่อเป็นห้องเรียนธรรมชาติ และปลูกดอกคาร์เนชั่นขายเพื่อเป็นรายได้ให้เด็ก
“ในวันที่ 11 มีนาคม 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระราชินี ทรงเสด็จฯมาที่บ้านขอบด้ง และเข้ามาที่อาคารศิลปาชีพมาดูเด็กปั้นดินน้ำมัน และเขียนภาษาไทย พระองค์ท่านดูแล้วก็เสด็จฯออกไปดูแปลงดอกคาร์เนชั่น และพระราชทานเงิน 3 พันบาท เป็นค่าโรงเรือน ทรงมีพระราชดำรัสฝากถึงครูและเด็กๆ ว่า ฉันฝากเด็กชาวเขาเหล่านี้ด้วย ตัวฉันอยู่ไกล ครูดูแลด้วยนะ จากพระราชดำรัสของในหลวง จึงตั้งปณิธานไว้กับตัวเองว่า จะอยู่บนดอยจนเกษียณ ทำงานบนพื้นที่นี้ไปตลอดชีวิต อยู่เพื่อบอกกล่าวกับคนทั่วไปให้รู้ว่า พระองค์ท่านได้ทำอะไรให้ที่นี่บ้าง และขณะนี้กำลังทำพิพิธภัณฑ์เรื่องราวชุมชนบ้านขอบด้งกับพระเจ้าอยู่หัวของไทย ผู้ทรงอยู่ในหัวใจคนบ้านขอบด้งเสมอมา”
น.ส.อภิญญา โสดสงค์ อดีตนักโทษคดียาเสพติดที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันเป็นครูสอนโยคะ กล่าวว่า ตนต้องโทษตอนอายุ 19 ปี โดยมีโทษจำคุก 8 ปี ลดโทษเหลือ 4 ปี สภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำแออัดมาก รู้สึกเหมือนอยู่ในนรก หลังจากนั้น เริ่มเข้าใจและพยายามทำแต่สิ่งดีๆ เพื่อให้เป็นนักโทษชั้นดี เพื่อได้รับการพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งในขณะนั้นได้เรียนรู้เรื่องโยคะในเรือนจำ โครงการบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กับระบบยุติธรรมทางอาญา ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทำให้วิชาโยคะกลายเป็นอาชีพที่ติดตัวเมื่อออกมาจากคุก
“นักโทษทุกคนต่างรอคอยให้ถึงวันที่ 5 ธันวาคม เนื่องจากในทุกปีจะมีการพระราชทานอภัยโทษจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะการได้รับอภัยโทษหมายถึงอิสรภาพ ได้เกิดใหม่ เริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง การคัดเลือกนักโทษที่จะได้รับการอภัยโทษ มีขั้นตอนที่เข้มงวดมาก จึงมุ่งมั่นทำความดีร่วมกิจกรรมทุกอย่างในขณะอยู่ในเรือนจำ จนในวันที่ได้รับข่าวว่าจะได้รับการอภัยโทษ จาก 4 ปี เป็น 3 ปี 6 เดือน ทำให้ปฏิญาณตนไว้ว่าจะออกมาเป็นคนดี มุ่งมั่นทำความดี เพราะหลายคนมองว่าเราเป็นคนขี้คุก แต่พระเมตตาของในหลวงยังให้อภัย จึงขอนำความรู้ที่ได้จากในเรือนจำออกมาสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้สังคม”