มหาดไทยสั่งเคลียร์จำนวน “ประปาหมู่บ้าน” ใหม่ หลังพบในพื้นที่ 58 จังหวัด 244 อำเภอ 439 อปท. หรือ 881 หมู่บ้านยังไม่มีระบบประปาหมู่บ้าน พบตัวเลขล่าสุด “จ.สุรินทร์” ไม่มีประปาหมู่บ้านมากสุด ครอบคลุมพื้นที่ 17 อำเภอ 59 อปท.และ 146 หมู่บ้าน ส่วน จ.ศรีสะเกษ ไม่มีน้ำประปา ถึง 101 หมู่บ้าน
วันนี้ (3 พ.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า กระทรวงมหาดไทยทำหนังสือด่วนที่สุดถึงฝ่ายปกครองทั่วประเทศ เพื่อเร่งตรวจสอบจำนวน ประปาหมู่บ้าน หลังมีข้อมูลเมื่อปี 2556 ว่าในพื้นที่ 58 จังหวัด 244 อำเภอ 439 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือ 881 หมู่บ้าน ยังไม่มีระบบประปาหมู่บ้าน จากทั้ง 68,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ โดยขอให้ฝ่ายปกครองจังหวัดสำรวจและรายงานสถานะปัจจุบันจำนวนประปาหมู่บ้านใหม่ รวมถึงการดำเนินการกิจกรรมต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคแก่ประชาชนตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย
ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุดของฐานข้อมูล กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ปี 2556 พื้นที่ 881 หมู่บ้านที่ไม่มีประปาหมู่บ้าน พบว่า จ.สุรินทร์ เป็นพื้นที่ที่ไม่มีประปาหมู่บ้านมากที่สุด โดยครอบคลุมพื้นที่ 17 อำเภอ 59 อปท. และ 146 หมู่บ้าน ขณะที่ จ.ศรีสะเกษ ครอบคลุมพื้นที่ 17 อำเภอ 40 อปท. และ 101 หมู่บ้านไม่มีประปาหมู่บ้าน ยังพบว่า จ.นราธิวาส ไม่มีประปาหมู่บ้าน 55 หมู่บ้าน จ.นครศรีธรรมราช ไม่มีประปาหมู่บ้าน 51 หมู่บ้าน จ.บุรีรัมย์ ไม่มีประปาหมู่บ้าน 43 หมู่บ้าน จ.ฉะเชิงเทรา ไม่มีประปาหมู่บ้าน 41 หมู่บ้าน จ.เชียงใหม่ ไม่มีประปาหมู่บ้าน 26 หมู่บ้าน เป็นต้น
มีรายงานว่า จากข้อมูล ณ วันที่ 23 มี.ค. 2559 ของกระทรวงมหาดไทย รับรายงานจากบัญชี กชช 2 ค ที่สำรวจโดยกรมการพัฒนาชุมชนว่าระบบ “ประปาหมู่บ้าน” ที่อยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งในปัจจุบันมีประปาหมู่บ้านเกือบทั่วประเทศแล้ว เหลืออีกประมาณ 1,026 หมู่บ้านเท่านั้นที่ยังไม่มี โดยแตกต่างจากข้อมูลของ กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่พบว่า ปี 2556 ไม่มีประปาหมู่บ้าน 881 หมู่บ้าน
สำหรับ ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการบริหารกิจการและการบำรุงรักษาระบบประปาหมู่บ้าน พ.ศ. 2548 ได้กำหนดให้การบริหารกิจการและการบำรุงรักษาระบบประปาหมู่บ้านที่เป็นทรัพย์สินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถให้บริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนร่วมรับผิดชอบบริหารกิจการและบำรุงรักษาประปาหมู่บ้านในเชิงธุรกิจด้วยตนเอง
โดยกำหนดในรูปของคณะกรรมการบริหารกิจการและบำรุงรักษาระบบประปาหมู่บ้าน มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลรักษาระบบประปาให้สามารถจ่ายน้ำได้ หากมีความชำรุดเสียหาย น้ำไม่มีคุณภาพ คณะกรรมการฯ จะดำเนินการซ่อมแซมรักษา หากเกินความสามารถของคณะกรรมการฯ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องซ่อมแซม บำรุงรักษาให้ระบบประปาใช้งานได้อยู่เสมอ