สภา สนช.ซักคดีถอดถอน 2 อดีต ส.ส.เพื่อไทย “นริศร” อ้างโรคประสาทชอบเสียบบัตรตัวเองหลายใบ โวยคลิปตัดต่อจ้องทำลายสภานิติบัญญัติ ป.ป.ช.ย้อนสอบแล้วไม่มีบัตรสำรอง แถมยัน “อุดมเดช” เป็นความผิดเฉพาะตัว ชี้สอดไส้ร่าง กม.เปลี่ยนแปลงหลักการโดยไม่มีรายชื่อสมาชิกรับรองไม่ได้ เจ้าตัวอ้างเข้าใจคลาดเคลื่อน ปัดเอื้อประโยชน์ ย้ำแก้ รธน.ตามเจตนารมณ์
วันนี้ (28 ต.ค.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีการพิจารณากระบวนการถอดถอนนายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ออกจากตำแหน่ง จากกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดฐานใช้บัตรลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ลงคะแนนแทนบุคคลอื่น โดยเป็นขั้นตอนการซักถามโดยคณะกรรมาธิการซักถามฝ่ายผู้กล่าวหา คือ คณะกรรมการ ป.ป.ช. และฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา คือ นายนริศร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการซักถามของ สนช.ได้ซักถาม ป.ป.ช. โดย น.ส.ภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นผู้ตอบคำถาม โดยยืนยันถึงการนำคลิปเหตุการณ์ที่มีผู้บันทึกได้ในวันที่ 10 และ 11 ก.ย. 2556 ที่นายนริศรเสียบบัตรหลายครั้ง ระหว่างการประชุมรัฐสภาพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว. รวมถึงหลักฐานการไต่สวนโดยศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.มาพิจารณาประกอบ ซึ่งเห็นชัดเจนว่านายนริศรใช้สิทธิเกินกว่ากฎหมายกำหนดไว้ เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มาตรา 123 และมาตรา 123/1 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 68 วรรคหนึ่ง มาตรา 122 มาตรา 123 และมาตรา 126 วรรคสาม รวมถึงกรณีที่นายนริศรอ้างว่ามีบัตรสำรองหลายใบนั้น ก็ได้มีการตรวจสอบกับทางรัฐสภาแล้วได้รับการยืนยันว่าไม่เคยออกบัตรสำรองให้นายนริศร
ด้านนายนริศรยืนยันต่อที่ประชุม สนช.ว่าบุคคลในคลิปวิดีโอเป็นตัวเองจริง แต่อยากให้มีการตรวจสอบคลิปว่ามีการตัดต่อหรือไม่ เพราะผู้บันทึกภาพไม่เปิดเผยตัว ส่วนพฤติกรรมที่มีการเสียบบัตรหลายครั้ง นายนริศรชี้แจงว่า เป็นลักษณะนิสัยคล้ายโรคประสาท มีพฤติกรรมชอบทำซ้ำ แต่ยืนยันว่าไม่เคยเสียบบัตรแทนผู้อื่น เป็นบัตรของตัวเองทั้งนั้น
“ผมไม่เคยเสียบบัตรให้ใคร เพราะเป็นโรคประสาทชอบเสียบบัตรของตัวเองหลายใบ ไม่มีของคนอื่นเลย เพราะเป็นคนขี้ลืม โดยเฉพาะหลังจากผ่าตัดลิ้นหัวใจรั่วเมื่อปี 2554 ทำให้มือยุกยิก อยู่ไม่เป็นสุข ไม่อยู่นิ่ง” นายนริศรกล่าว พร้อมยอมรับการฝากบัตรไม่ใช่เฉพาะนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร และนายคมเดช ไชยศิวามงคล อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยเท่านั้น แต่ยังมีมาฝากอีกหลายคน แต่ยืนยันกดบัตรใบเดียวซึ่งเป็นบัตรของตัวเอง นอกจากนี้ ผมจะทำเรื่องถึงประธาน สนช.เพื่อขอคลิปไปตรวจสอบเพราะช่างภาพไม่ยอมเปิดเผยชื่อ เป็นบุคคลนิรนามที่จะมาทำลายเกียรติและศักดิ์ศรีขององค์กรนิติบัญญัติ เพราะอย่างกรณีคลิปการกล่าวหานายยุทธพงศ์มีการพิสูจน์แล้วว่ามีการตัดต่อ ทำให้นายยุทธพงศ์ฟ้องดำเนินคดีต่อคนเผยแพร่คลิปแล้ว”
ต่อมาเป็นการซักถามคดีของนายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย กรณีสลับสับเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มา ส.ว. โดยกรรมาธิการฯซักถาม ป.ป.ช.ว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยื่นต่อประธานสภาฯ ในวันที่ 20 ม.ค. 56 กับวันที่ 27 มี.ค. 56 เมื่อเทียบกันแล้วแตกต่างอย่างไร และเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ ส.ว.ที่หมดวาระแล้วสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้โดยไม่ต้องเว้นวรรคหรือไม่ อีกทั้งการที่นายอุดมเดชอ้างว่า 4 สำนวนถอดถอนอดีตประธานและรองรัฐสภา และสมาชิกรัฐสภา สนช.มีมติไม่ถอดถอนนำมาเทียบเคียงได้กับสำนวนนี้หรือไม่
น.ส.สุภาชี้แจงว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นายอุดมเดชเสนอฉบับแรกกับฉบับหลังมีความแตกต่างกันถึง 3 จุด และเป็นการแก้ไขเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ ส.ว.ที่พ้นวาระสามารถสมัครรับเลือกได้โดยไม่ต้องเว้นวรรค 2 ปี ชัดเจน แม้ว่าข้าราชการของรัฐสภาจะให้การว่าขั้นตอนการสลับเปลี่ยนร่างสามารถทำได้ ก่อนที่ประธานรัฐสภาจะบรรจุระเบียบวาระเพราะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ แต่เนื่องด้วยร่างที่นำมาแก้ไขมีการเปลี่ยนแปลงหลักการสำคัญ ป.ป.ช.เห็นว่าจะเอาเหตุเรื่องธรรมเนียมปฏิบัติมาเทียบเคียงไม่ได้ การที่นายอุดมเดช ยกกรณีที่ สนช.ไม่ถอดถอน 4 สำนวนมากล่าวอ้างไม่สามารถเทียบเคียงได้ เพราะกรณีของนายอุดมเดชเป็นความผิดเฉพาะตัว เพราะนำร่างที่มีหลักการเปลี่ยนแปลงมาสลับโดยที่ไม่มีสมาชิกรัฐสภารับรองเลยแม้แต่คนเดียว
ต่อมาคณะกรรมาธิการซักถามนายอุดมเดช ว่าการแก้ไข้รัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว.เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่อดีต ส.ว.ที่กำลังจะพ้นวาระหรือไม่ เหตุใดร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.ที่ยืนต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 56 จึงมีสาระสำคัญไม่ตรงกับสำเนาที่แจกในการประชุมร่วมรัฐสภาถึง 3 จุดทั้งๆที่ตัวเลขรับเดียวกัน และ เหตุใดถึงไม่ดำเนินให้ถูกต้องตามกฎหมายโดยนำฉบับแก้ไขไปให้สมาชิกรับรองใหม่
ด้านนายอุดมเดชกล่าวว่า คงเป็นคำถามที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน ตนยืนยันว่าไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้อดีต ส.ว. เพราะการให้โอกาสให้ประชาชนเจ้าของอำนาจ เป็นการเพิ่มตัวเลือกในแต่ละพื้นที่ คนเก่าลงก็ไม่ได้รับเลือกตั้งโดยอัตโนมัติ อีกทั้งหลักการดังกล่าวก็ได้แถลงข่าวจนสื่อนำไปเสนอจนรับรู้ทั่วกันแล้ว แต่เมื่อมีข้อท้วงติงจากสมาชิกรัฐสภาว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เสนอไปมีข้อบกพร่องไม่เป็นไปตามที่หารือกัน และที่ได้แถลงข่าวไว้ จึงเสนอร่างเข้ามาใหม่ โดยที่เจ้าหน้าที่ก็ยืนยันว่าทำได้ เพราะตราบใดที่ประธานรัฐสภา ยังไม่ได้บรรจุระเบียบวาระถือว่ายังอยู่ในมือของสมาชิกอยู่ ยังแก้ไขได้ ทั้งนี้ ยืนยันว่าร่างรัฐธรรมนูญมีร่างเดียว และไม่ได้ทำตามอำเภอใจหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ แต่เป็นการแก้ไขเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ร่วมเสนอ
ทั้งนี้ การซักถามของคณะกรรมาธิการซักถามทั้งคดีเป็นคำถามที่ตั้งโดยนายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช.เพียงผู้เดียวทั้ง 19 คำถาม อย่างไรก็ตาม นายสุรชัยได้นัดประชุม สนช.เพื่อรับฟังการแถลงปิดสำนวนด้วยวาจาของคู่กรณีในวันที่ 3 พ.ย.และลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนในวันที่ 4 พ.ย.นี้