xs
xsm
sm
md
lg

สนช.นัดชี้ชะตา “บิ๊กโอ๋” ถูกถอดถอนหรือไม่ 16 กันยาฯ นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ป.ป.ช.ย้ำ “สุกำพล” แทรกแซงก้าวก่ายตั้งปลัดกลาโหม ขัด รธน.มาตรา 266 ไม่ต่างคดีถอดถอน “ประชา” ระบุตามระเบียบต้องเลือกคนใน ขณะที่เจ้าตัวยันชงชื่อ “ทนงศักดิ์” นั่งปลัดกลาโหมถูกต้องเพราะมีคุณสมบัติครบ อ้าง คกก.คัดเลือกมีสิทธิเสนอชื่อไม่จำเป็นต้องนำบัญชีรายชื่อเข้าประชุมทุกครั้ง สนช.นัดพิจารณาถอดถอนหรือไม่ 16 กันยาฯ

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณากระบวนการถอดถอน พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม ออกจากตำแหน่งตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2557 ประกอบมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 โดยเป็นการซักถามคู่กรณี โดยกรรมาธิการซักถามได้ถาม ป.ป.ช.ถึงการกล่าวหา พล.อ.อ.สุกำพล ว่าเป็นฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งข้าราชการทหาร ข้อเท็จจริงบทบัญญัติในการแต่งตั้งอย่างไร และเหตุใดจึงกล่าวหาใช้อำนาจหน้าที่ไม่ชอบ และการเสนอชื่อ พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ใช้อำนาจถูกหรือผิด และหากเปรียบคดีของนายประชา ประสพดี ที่ใช้อำนาจแทรกแซงการแต่งตั้ง ผอ.องค์การตลาด ซึ่งถูก สนช.ถอดถอนไปเมื่อวันที่ 19 ส.ค.เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

น.ส.สุภาชี้แจงว่า ขั้นตอนการแต่งทหารชั้นนายพลจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 25 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 และข้อบังคับว่าด้วยการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของกระทรวงกลาโหม ในข้อที่ 11 ซึ่งแต่ละหน่วย กรม กองจะต้องคัดเลือกและลงนามรับรองก่อนที่เสนอให้คณะกรรมการระดับกระทรวงที่มี รมว.กลาโหม เป็นประธานพิจารณาต่อไป ซึ่งพฤติการณ์ของ พล.อ.อ.สุกำพล ที่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ก้าวก่าย แทรกแซง โดยในการประชุมวันที่ 17 ส.ค. 2555 ขัดต่อระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมฯที่เสนอชื่อ พล.อ.ทนงศักดิ์ เป็นการเสนอข้ามกรม ซึ่งตามหลักจะต้องพิจารณาคนในก่อน นอกจากนี้ เจ้ากรมเสมียนตราในฐานะผู้ช่วยเลขานุการต้องเข้าประชุมเพื่อจดบันทึกการประชุม แต่ พล.อ.อ.สุพลไม่ให้เข้าประชุม และไม่ได้มีการเชิญประชุมถือว่าเป็นการกระทำที่ก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานซึ่งตามกฎหมายห้ามใครไม่ให้ประชุมไม่ได้ ต้องเข้าประชุมแต่ลงมติไม่ได้เท่านั้น

ส่วนความแตกต่างระหว่างคดีของนายประชา และคดีนี้ เป็นการก้าวก่ายทั้งคู่ โดยกรณีของนายประชาเป็นรัฐมนตรีช่วยฯ แล้วยังไม่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลองค์การตลาด (อต.) แต่กลับโทรศัพท์ให้ระงับการประชุมที่จะพิจารณาเลิกจ้าง ผอ.อต.ที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริต และเมื่อรับมอบหมายให้ดูแลก็เข้าแทรกแซงบอร์ด อต.

“ขณะที่ พล.อ.อ.สุกำพลนั้นซึ่งเป็นผู้อำนาจควรนั่งอยู่เฉยรอรับโพย แต่กลับเสนอชื่อซึ่งขัดต่อกฎหมาย และระเบียบของกระทรวงกลาโหม สอดคล้องกับคำพูดที่บอกว่า ล้วงลูกไม่ได้ก็ไม่ต้องเป็นรัฐมนตรีแล้ว ถือว่าเป็นความตั้งใจเข้าใจแทรกแซงก้าวก่าย ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 266”

ต่อมากรรมาธิการได้ซักถาม พล.อ.อ.สุกำพลว่า เหตุใดจึงนำ พล.อ.ทนงศักดิ์ เข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ขณะนั้นเป็นการแทรกแซงหรือสนับสนุนหรือไม่ ขัดต่อจริยธรรม ทำไมจึงเสนอชื่อ พล.อ.ทนงศักดิ์เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะ รมว.กลาโหม เข้าใจและยึดถือปฏิบัติตามแนวทางการแต่งตั้งนายทหารระดับชั้นนายพลหรือไม่ และใช้ดุลยพินิจในการแต่งตั้งอย่างไรเพราะโดยหลักการจะต้องดูคนในหลักอาวุโส ประวัติ และผลการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงความประพฤติและจริยธรรม ทั้งนี้การกระทำของ พล.อ.อ.สุกำพล ทำให้เกิดความเสียหายต่อสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ชาตรี ทัตติ รองปลัดกระทรวงกลาโหมในขณะนั้นได้รับความเสียหายหรือไม่

พล.อ.อ.สุกำพลชี้แจงว่า การนำ พล.อ.ทนงศักดิ์เข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์อยากรู้จัก และไม่ได้พาเข้าไปคนเดียว เป็นเรื่องปกติเพราะในสมัยเป็น รมว.คมนาคมก็เคยพาอธิบดีไปพบ ไม่เกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายแต่อย่างใด ส่วนการเสนอชื่อนั้นตนในฐานะกรรมการคนหนึ่งสามารถเสนอชื่อใครก็ได้ และในการประชุมก็ได้เสนอชื่อถึง 2 คน แต่ที่ประชุมมติเลือก พล.อ.ทนงศักดิ์ ส่วนการตัดสินใจเลือก พล.อ.ทนงศักดิ์ เนื่องจากเป็นรุ่นน้อง 1 ปี ผ่านตำแหน่งงานสำคัญมา แม้อาวุโสน้อยกว่า พล.อ.ชาตรี แต่ตำแหน่งปลัดกระทรวงจะต้องทำงานใกล้ชิด รมว.กลาโหม เป็นเหมือนมือขวา และที่สำคัญคือประสานกับกองทัพซึ่งการเป็นรุ่นพี่จะประสานงานได้ง่ายที่สุด ในแวดวงทหารและตำรวจจะรู้ดี

“ความอาวุโสก็ถือว่าสำคัญ แต่ก็เน้นการประสานงานและความร่วมมือ ซึ่ง พล.อ.ทนงศักดิ์มีคุณสมบัติครบ และเหลืออายุราชการเพียงปีเดียว”

สำหรับกรณีที่กล่าวหาว่าไม่มีบัญชีรายชื่อนายทหารในการนำเข้าที่ประชุมของคณะกรรมการนั้น ตามกฎหมายและธรรมเนียมปฏิบัติไม่ได้บังคับว่าต้องมีบัญชีรายชื่อประกอบการพิจารณาทุกครั้ง แต่ในการประชุมครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2555 ยืนยันว่ามีบัญชีรายชื่อครบถ้วนถูกต้องจำนวน 811 มีรายชื่อ พล.อ.ทนงศักดิ์เป็นปลัดกระทรวง

จากนั้นประธานได้นัดประชุมเพื่อแถลงปิดคดีด้วยวาจาในวันที่ 15 ก.ย. และนัดลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอน พล.อ.อ.สุกำพล ในวันที่ 16 ก.ย.






















กำลังโหลดความคิดเห็น