สนช.พิจารณาวาระแถลงเปิดคดีถอดถอน 2 อดีต ส.ส.พท. ป.ป.ช.เปิดคลิปมัด “ธนิศร” ใช้บัตร 3 ใบลงคะแนนแก้ไข รธน. ชี้ขัด รธน. กลืนคำปฏิญญาณตน เจ้าตัวกร้าวไม่ยอมรับข้อกล่าวหา ด้าน “อุดมเดช” โยน สนช.วินิจฉัยเป็น จนท.รัฐหรือไม่ อ้าง จนท.รัฐสภาการันตีสับร่าง รธน.ไม่ผิด สนช.ตั้ง กมธ.ซักถาม พร้อมนัดซักคู่กรณี 14 ต.ค.
วันนี้ (6 ต.ค.) ที่ประชุมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีการพิจารณาวาระสำคัญคือการแถลงเปิดคดีการถอดถอนนายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย กรณีการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน และคดีนายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย กรณีการสับเปลี่ยนแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ
โดย น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตัวแทนผู้กล่าวหา ได้ยืนยันความผิดของนายธนิศร โดยได้เปิดคลิปภาพเสียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่แสดงให้เห็นภาพนายธนิสร กำลังเสียบบัตรลงคะแนนจำนวน 3 ใบ การที่นายธนิศรอ้างว่ามีบัตรหลายใบเพราะทำบัตรสำรองไว้ แต่จากการตรวจสอบจากกลุ่มงานบริหารทั่วไป สำนักงานการประชุม ชี้แจงว่า ส.ส.จะมีบัตร 3 ใบ คือ 1. บัตรจริงที่มีรูปถ่าย ชื่อ นามสกุล เลขประจำตัว มีกรุ๊ปเลือดและชื่อพรรคที่สังกัด 2. บัตรลงคะแนนสำลอง ซึ่งไม่มีรูป มีแต่ชื่อ นามสกุล และพรรคการเมืองที่สังกัด และ 3. บัตรลงคะแนนพิเศษ หรือเอสพีไม่มีรูป ไม่มีชื่อ สกุล มีเพียงเลขประจำตัวและพรรคการเมืองที่สังกัด โดยบัตรจริงจะให้สมาชิกเก็บไว้ ส่วนอีกสองใบจะฝากไว้ที่กลุ่มงานบริหารทั่วไป สำนักการประชุม หากสมาชิกจะขอใช้เนื่องจากลืมบัตรจริงจะต้องไปเขียนคำร้องขอใช้บัตรและเมื่อใช้เสร็จแล้วต้องนำไปคืน คลิปที่มีการบันทึกภาพในวันลงคะแนนเมื่อปี 56 ที่มี น.ส.รังสิมา รอดรัศมี อดีต ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์นำมาแสดงนั้น ซึ่งบัตรที่นายนริศรนำมาลงคะแนนทั้ง 3 ใบเป็นบัตรจริงทั้งหมด เนื่องจากมีรูปสมาชิกชัดเจน ดังนั้นคำชี้แจงของนายนริศรไม่อาจน่าเชื่อถือและไม่อาจรับฟังได้ ประกอบกับทางรัฐสภาไม่เคยออกบัตรใหม่ให้นายนริศร และการลงมติถือเป็นเอกสิทธิ์เด็ดขาดสมาชิกหนึ่งคนจะลงมติได้เพียงครั้งเดียว รวมทั้งประจักษ์พยานอื่นที่มาเบิกความประกอบกับภาพถ่ายมีสมาชิกรัฐสภาหลายคนไม่ได้มาออกเสียงลงคะแนน แต่ได้มอบหมายให้สมาชิกบางคนมาออกเสียงแทน
ส่วนที่นายนริศรอ้างว่าการลงมติถือเป็นเอกสิทธิ์เด็ดขาดของสมาชิกไม่สามารถนำไปฟ้องร้องได้แต่จากการสอบปากคำนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ระบุว่าสมาชิกมีเอกสิทธิ์ก็จริง แต่ต้องอยู่ภายในรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ และต้องอยู่ภายใต้การปฏิญาณตนของสมาชิกที่กระทำต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ในห้องประชุมนี้ว่าจะปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต และตามรัฐธรรมนูญทุกประการ ดังนั้นเมื่อการลงมติต้องอยู่ภายใต้รากฐานการซื่อสัตย์สุจริตตามที่ปฏิญาณไว้ เมื่อละเมิดคำปฏิญาณย่อมทำให้ไม่ได้รับความคุ้มครองตามที่กล่าวอ้าง ดังนั้นในการพิจารณาของ ป.ป.ช.จึงวินิจฉัยว่าการกระทำของนายนริศรเป็นการใช้สิทธิเกินมาตรา 123 และเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะสิทธิหนึ่งเสียงก็ทำหน้าที่เพียงหนึ่งเสียง แต่ในคลิปนายนริศรใช้สิทธิถึง 3 เสียง และมีมูลส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 68 มาตรา 122 มาตรา 123 มาตรา 126 ทาง ป.ป.ช.จึงมีมติว่าเป็นการกระทำผิดทางอาญา หาผลประโยชน์โดยไม่ชอบ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และ ป.ป.ช.ได้ส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ด้านนายนริศรแถลงคัดค้านข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. เพียงยืนยันว่าใช้บัตรของตนเองเพียงใบเดียว และอยากทราบว่าบัตรอีก 2 ใบเป็นของใคร ผู้กล่าวหาสามารถพิสูจน์ได้หรือไม่ว่าชื่ออะไรและบุคคลใด แม้ในคลิปจะตัดต่อไม่ได้ก็ตาม และที่ผ่านมาตนเป็น ส.ส.มาหลายปีก็ใช้บัตรของตัวเองตลอด จากนั้นที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมการซักถามจำนวน 7 คน โดยนายพรเพชรได้นัดประชุมเพื่อซักถามในวันที่ 14 ต.ค.
ต่อมาเป็นแถลงเปิดของนายอุดมเดช โดย น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.แถลงเปิดสำนวนว่า จากการไต่สวนได้ความว่า ส.ส.และ ส.ว.จำนวน 314 คนร่วมลงรายมือชื่อในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว. ต่อมานายอุดมเดชได้มอบหมายให้เลขานุการส่วนตัวนำร่างแก้ไขเพิ่มเติมฉบับใหม่ ซึ่งมีบทบัญญัติเพิ่มเป็น 13 มาตรา ไปสลับกับฉบับเดิม โดยเปลี่ยนแปลงหลักการและสาระสำคัญเปลี่ยนเป็นทำให้ ส.ว.ที่สิ้นสุดการดำรงตำแหน่งสามารถลงสมัครเลือก ส.ว.ได้ทันที โดยไม่ต้องเว้นวรรค 2 ปี ซึ่งฉบับเดิมไม่มีหลักการดังกล่าว ต่อมาประธานรัฐสภาได้ส่งสำเนาแก้ไขเพิ่มเติมให้แก่สมาชิกรัฐสภา และลงมติวาระที่ 1, 2 และ 3 ซึ่งสมาชิกรัฐสภาได้ลงมติ แต่เป็นร่างที่ไม่ได้มีการลงลายมือชื่อ
น.ส.สุภากล่าวว่า จากการชี้แจงของนายอุดมเดช ระบุว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกระทำก่อนที่ประธานรัฐสภาได้อนุญาตบรรจุวาระ จึงไม่จำเป็นต้องให้สมาชิกรัฐสภาลงลายมือชื่ออีกครั้ง แต่ ป.ป.ช.เห็นว่าเมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 314 คนที่ได้ลงลายมือชื่อ ต่อมาได้ถูกสลับเปลี่ยนไปจากการะทำของนายอุดมเดช โดยเพิ่มข้อความทำให้บุคคลที่เป็น ส.ว.สามารถรับเลือกตั้งโดยไม่ต้องเว้นวรรค 2 ปี โดยที่สมาชิกรัฐสภาไม่ได้ลงลายมือชื่ออีกครั้ง เท่ากับว่าร่างที่นำไปสลับเป็นร่างที่มีหลักการสาระสำคัญแตกต่างไปจากร่างเดิม ดังนั้น ร่างที่ไม่ได้มีการรับรองจึงถือว่ามิชอบ แม้รัฐสภาจะลงมติให้ความเห็นชอบ ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความชอบแต่อย่างใด
“การที่นายอุดมเดชแก้ไขเพิ่มเติมได้ แต่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมข้อผิดพลาดอันเป็นเรื่องเล็กน้อย ซึ่งคำชี้แจงของนายอุดมเดชไม่อาจรับฟังได้ เพราะเป็นการแก้ไขจาก 12 มาตรา เป็น 13 มาตรา เพื่อให้ผู้ที่พ้นจากตำแหน่ง ส.ว.สามารถสมัครเป็น ส.ว.ได้ โดยไม่ต้องเว้นวรรค 2 ปี ดังนั้น ร่างฉบับใหม่ที่มี 13 มาตรา จึงเป็นไม่มีสมาชิกร่วมลงชื่อเท่ากับว่าเป็นร่างปลอม ทำร้ายความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ทำลายความน่าเชื่อถือ ประชาชนเสื่อมศรัทธา และศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยว่า มิได้นำร่างรัฐธรรมนูญที่นายอุดมเดชเสนอเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2556 มาใช้ แต่ได้นำร่างใหม่ที่แตกต่างจากเดิมมาใช้ในการพิจารณาแทนซึ่งไม่ปรากฏว่ามีสมาชิกร่วมลงชื่อ ทำให้การรับหลักการในวาระหนึ่งเป็นไปโดยมิชอบแก้ไขเพิ่มเติม ดังนั้นวินิจฉัยของศาลและ ป.ป.ช.สอดคล้องกัน ป.ป.ช.จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่านายอุดมเดชละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ผิดกฎหมาย ป.ป.ช.ปี 2542 และปี 2552”
ด้านนายอุดมเดชแถลงโต้แย้งคัดค้านว่า การที่ ป.ป.ช.กล่าวหาว่าตนเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขอให้ สนช.เป็นผู้วินิจฉัยเอง ส่วนการสับเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่มีสมาชิกลายชื่อและการสับเปลี่ยนร่างกระทำได้หรือไม่นั้น การยื่นแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญร่างเดิมที่ยื่นเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2556 ไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่ตกลงกันไว้ ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง 200 คน และไม่ตัดสิทธิ ส.ว.ปัจจุบันที่สามารถลงสมัครได้ จึงมีการหารือกันว่าจะทำอย่างไรให้เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ และเห็นตรงกันว่าสามารถแก้ไขได้ตราบใดที่ประธานรัฐสภายังไม่บรรจุวาระ และเมื่อใดก็ตามที่บรรจุวาระแล้วให้ถือเป็นร่างของรัฐสภาที่หากจะแก้ไขต้องขอเสียงข้างมากจากที่ประชุมรัฐสภาเพื่อสนับสนุน เมื่อประธานรัฐสภายังไม่บรรจุวาระจึงนำสำเนาร่างมาขอปรับปรุงเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของสมาชิกที่ได้ร่วมลงรายมือชื่อเอาไว้ ดังนั้นร่างที่ประธานบรรจุวาระและเอกสารที่สมาชิกได้รับก็ตรงกับเอกสารที่ใช้บรรจุคือร่างที่ปรับปรุงแล้ว ประกอบกับไม่มีสมาชิกที่ร่วมลงรายชื่อทักท้วงว่าไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของสมาชิกที่ลงชื่อ แสดงให้เห็นว่าการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมเป็นสิ่งที่สมาชิกย่อมรับทราบอยู่แล้ว
นายอุดมเดชยังได้ยกคำให้การของพยานบุคคลซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐสภาระดับสูงและเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกว่า 10 คน ที่ให้การไว้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และสอดคล้องกับข้อบังคับการประชุม และเป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติ โดยไม่ถือว่าเป็นการเสนอญัตติใหม่ไม่ต้องให้สมาชิกลงรายชื่อรับรองอีก เพราะเป็นเพียงการแก้ไขปรับปรุงรอการบรรจุระเบียบวาระสามารถที่จะแก้ไขได้ ยืนยันว่าการดำเนินการของตนทำอย่างเปิดเผย ไม่ได้แอบ มีการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่รัฐสภาว่าได้แก้ไขตามข้อบังคับการประชุม ตนไม่ได้มีเจตนาปกปิด ทุจริตแต่อย่างใด การสับเปลี่ยนร่างสามารถกระทำได้ก่อนจะบรรจุระเบียบวาระ ผู้ร่วมลงรายมือชื่อไม่ต้องเสนอชื่อใหม่ เพราะเป็นการแก้ไขปรับปรุงที่ไม่ขัดกับหลักการเดิม นอกจากนั้นยังมีรายงานการประชุมของ สนช.ที่ไม่ถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กรณีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับที่มา ส.ว. โดยมิชอบ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มกรณีของตนด้วย รวม สนช.ไม่ถอดถอน 38 ส.ว. ในกรณีการแก้ไขร่างรธน. เกี่ยวกับที่มา ส.ว. และไม่ถอดถอน 248 ส.ส.คดีเดียวกัน ซึ่งถือเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณามาโดยตลอด จึงขอให้สมาชิก สนช.พิจารณาด้วยความเป็นธรรม
จากนั้นที่ประชุมมีมติตั้งคณะกรรมการซักถาม จำนวน 7 คน โดยใช้กรรมการชุดเดียวกับของนายนริศร และนัดประชุม สนช.เพื่อซักถามคู่กรณีในวันที่ 14 ต.ค. 2559