xs
xsm
sm
md
lg

สนช.นัดแถลงเปิดคดีถอดถอน 2 อดีต ส.ส.พท. 6 ต.ค. ค้าน “อุดมเดช” เพิ่มพยานหลักฐาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
ประชุม สนช.พิจารณาดำเนินกระบวนการถอดถอน 2 อดีต ส.ส.เพื่อไทย “นริศร” ไม่เพิ่มพยาน นัดแถลงเปิดสำนวน 6 ต.ค. “อุดมเดช” แห้วมติไม่อนุญาตเพิ่มพยานหลักฐาน ไม่ตั้ง กมธ.สรุปข้อเท็จจริง ชี้คดีไม่ซับซ้อน

วันนี้ (29 ก.ย.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาดำเนินกระบวนการถอดถอนนายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ส.ส.ออกจากตำแหน่งกรณีใช้บัตรลงคะแนนแทนบุคคลอื่น แต่นายนริศรไม่ได้ขอเพิ่มพยานหลักฐานเพิ่มเติม และนัดแถลงเปิดสำนวนคดีในวันที่ 6 ต.ค.

จากนั้นพิจารณากระบวนการถอดถอนนายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีตประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และอดีต ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ออกจากตำแหน่ง กรณีสลับสับเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาที่เสนอต่อที่ประธานรัฐสภา ตามมาตรา 6 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ประกอบมาตรา 64 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 โดยที่ประชุม สนช.ได้กำหนดวันแถลงเปิดคดีของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้กล่าวหา และการแถลงคัดค้านของนายอุดมเดช ผู้ถูกกล่าวหา ในวันที่ 6 ต.ค.

จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาคำขอเพิ่มหลักฐานของนายอุดมเดชใน 4 รายการ คือ 1. รายงานบันทึกการประชุม สนช.ลงมติไม่ถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา 2. รายงานบันทึกการประชุมสนช.ลงมติไม่ถอดถอน อดีต 38 ส.ว. 3. รายงานบันทึกการประชุม สนช.ลงมติไม่ถอดถอนอดีต 248 ส.ส. และ.กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาส.ว.โดยไม่ชอบ และ 4. คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญฉบับที่ 53/58 คำวินิจฉัยตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญปี 50 เมื่อในวันที่ 6 ส.ค. 57 โดย น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. ได้คัดค้านโดยให้เหตุผลว่าเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นก่อนที่จะวินิจฉัยในคดีนี้ และทาง ป.ป.ช.ได้เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ยื่นพยานหลักฐานแล้ว แต่ทำไมไม่ยื่นในตอนนั้น ซึ่งที่ประชุมมีมติไม่อนุญาตให้นายอุดมเดช เพิ่มพยานหลักฐานเอกสารทั้ง 4 รายการ และไม่มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อทำหน้าที่สรุปข้อเท็จจริงของกฎหมายและพยานหลักฐานของคู่กรณีเพราะเห็นว่าคดีดังกล่าวไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อน





กำลังโหลดความคิดเห็น