ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด 3 อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย คดีเสียบบัตรแทนกัน “นริศร” โดนเต็มๆ ฟันพ่วง “อุดมเดช-ขุนค้อน” สลับร่างฯ ด้านเจ้าตัวโวยทำตามขั้นตอนแล้ว เตรียมแจง สนช.
วันนี้ (8 ก.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และร้องขอให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง กรณีเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มา ส.ว. ประเด็นเกี่ยวกับการใช้บัตรลงคะแนนแทนกัน การนับเวลาแปรญัตติโดยมิชอบ และการสับเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติเป็นเอกฉันท์ชี้มูลความผิด นายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย กรณีใช้บัตรลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ลงคะแนนแทนบุคคลอื่น ลงคะแนนในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 9 และ 10 ซึ่งทำให้ผลการลงมติบิดเบือนไปจากความเป็นจริง จึงมีมูลความผิดทางอาญา ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามมาตรา 123 และมาตรา 123/1 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ. ป.ป.ช.) และมีมูลส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 68 วรรคหนึ่ง มาตรา 122 มาตรา 123 และมาตรา 126 วรรคสาม เห็นควรส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินการฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป และส่งรายงานให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติถอดถอนออกจากตำแหน่ง ตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช.
ส่วนนายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย มีความผิดทางอาญาตามมาตรา 123/1 พ.ร.บ. ป.ป.ช. กรณีสลับร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่มีสมาชิกรัฐสภาลงรายมือชื่อรับรอง เห็นควรส่งรายงานและเอกสาร พร้อมความเห็นไปยัง อสส.เพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ ต่อไป และส่งรายงานพร้อมความเห็นไปยังประธาน สนช.เพื่อมีมติถอดถอนออกจากตำแหน่ง
ขณะที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร มีความผิดทางอาญาตามมาตรา 123/1 ของ พ.ร.บ. ป.ป.ช. กรณีรู้เห็นให้มีการสลับสับเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีการตรวจสอบให้ถูกต้องตามหน้าที่ของประธานรัฐสภา ตามข้อ 90 ของข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2553 และไม่สั่งให้มีการนำไปเสนอให้สมาชิกรัฐสภาร่วมลงชื่อรับรองญัตติตามมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญ และกรณีจงใจนับระยะเวลาแปรญัตติย้อนหลังทำให้เหลือระยะเวลาให้สมาชิกรัฐสภาเสนอคำแปรญัตติเพียง 1 วัน ซึ่งกรณีดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่า เป็นการกำหนดระยะเวลาที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากไม่ให้โอกาสสมาชิกรัฐสภามีเวลาในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. จึงเห็นควรส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่ พร้อมทั้งความเห็นไปยัง อสส.เพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ ต่อไป ทั้งนี้ กรณีนายสมศักดิ์ ป.ป.ช.เคยมีมติชี้มูลความผิดฐานส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และได้ส่งรายงานไปยังประธาน สนช.แล้ว โดย สนช. ได้พิจารณาและมีมติไม่ถอดถอน จึงเห็นควรไม่ส่งรายงานในความผิดถอดถอนไปยังประธาน สนช.อีก
ส่วนนายคมเดช ไชยศิวามงคล อดีต ส.ส.กาฬสินธุ์ และนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีต ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาอย่างละเอียดแล้ว พบว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอเหมือนกรณีนายนริศร แม้ ป.ป.ช.จะติดใจ แต่เมื่อพยานไม่เพียงพอ และทั้งสองคนได้ชี้แจงเหตุผลในการฝากบัตรไว้กับนายนริศร จึงยกประโยชน์ให้ โดยมีมติบุคคลทั้งสองไม่มีความผิด และเห็นควรให้ข้อกล่าวหาตกไป
ด้านนายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีตประธานวิปรัฐบาล อดีต ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงมติ ป.ป.ช.ที่ชี้มูลความผิดกรณีเปลี่ยนแปลง แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ที่ผ่านมาได้ไปให้ข้อมูลต่อ ป.ป.ช.ถึงการปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ขอยืนยันว่า ไม่มีการปลอมแปลงร่างรัฐธรรมนูญ ส่วน ป.ป.ช.ที่รับฟังจะพิจารณาแค่ไหนอย่างไร เป็นเรื่องของ ป.ป.ช. แต่ยืนยันว่าได้ทำตามระเบียบขั้นตอนวิธีปฏิบัติทางสภาฯ ก่อนทำได้นำเรื่องไปหารือเจ้าหน้าที่สภาฯ ได้รับการยืนยันมาว่าสามารถทำได้ ไม่ได้ไปแอบกระทำหรือปลอมแปลงร่างรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเรื่องที่ปรับปรุงร่างได้ก่อนที่ประธานสภาฯ จะบรรจุระเบียบวาระการประชุม ถ้าทำไม่ได้ คงไม่กระทำ จากนี้คงจะไปชี้แจงต่อ สนช.ก่อนที่จะมีการลงมติวินิจฉัยต่อไป