xs
xsm
sm
md
lg

กสม.-ยธ.-แอมเนสตี้ ดันเลิกโทษประหาร เชื่อไม่ช่วยลดการทำผิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กสม.-กระทรวงยุติธรรม-แอมเนสตี้ จัดสัมมนาเลิกโทษประหาร ชี้ไม่ช่วยลดการทำผิด ซ้ำยิ่งทำให้การกระทำผิดเพิ่มขึ้น “ดร.โกร่ง” ระบุขัดหลักสิทธิมนุษยชน-ศาสนา ไม่มีความหมายทางเศรษฐกิจ ทำสูญเสียทรัพยากรมนุษย์อย่างมหันต์ รองปลัดยุติธรรมแนะต้องกำหนดลักษณะความผิดอุกฉกรรจ์ใหม่ แก้บทโทษให้ศาลใช้ดุลพินิจไม่ประหารชีวิตได้ เผยพบหญิงไทยตกเป็นผู้ต้องหาคดียาเสพติดเพิ่มสูงขึ้น กสม.เชื่อมาจากเหตุอยากรวย ฟุ้งเฟ้อ ความรัก เชื่อวิธีริบทรัพย์จากผลกำไรของนายทุนแก้ปัญหายาเสพติดได้ ด้านแอมเนสตี้ฯ เผย 20 ประเทศหันใช้โทษประหารต่อต้านการก่อการร้ายเพิ่มขึ้น

วันนี้ (10 ต.ค.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดสัมมนา เรื่อง “โทษประหารชีวิต ลดการทำผิด หรือควรคิดใหม่” เนื่องในวันยุติโทษประหารชีวิตสากล

นายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม.กล่าวเปิดการเสวนาว่า สังคมไทยยังมีความสับสนในเรื่องนี้มีทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้าน เมื่อมีคดีสะเทือนขวัญเกิดขึ้นก็จะมีการถกเถียงกัน การยกเลิกโทษประหารชีวิตจึงอยู่ที่กระแสสังคม ที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรมได้แถลงลดระดับการใช้โทษประหารชีวิตเพื่อนำไปสู่การยกเลิกแล้ว และ กสม.ก็ได้มีรายงานว่าควรยกเลิกโดยดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนในทางปฏิบัติได้มีการประหารชีวิตครั้งล่าสุดเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ก็ถือว่าใกล้ยกเลิกในทางปฏิบัติได้แล้ว

ขณะที่นางปิยนุช โคตรสาร ผอ.แอมเนสตี้ฯ กล่าวว่า แม้น่าดีใจว่า 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกยุติโทษประหารชีวิตแล้ว ในอาเซียนก็มีกัมพูชา และฟิลิปปินส์ แต่ก็น่าเสียใจในปีที่แล้วมี 20 ประเทศได้ใช้โทษประหารมากขึ้นด้วยข้อหาก่อการร้าย หลายประเทศมีการปกปิดข้อมูลการพิจารณาต่อคดีโทษประหาร

ด้านนายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการเสวนาว่า ความมุ่งหมายของโทษประหารมีอยู่ 3 ข้อ คือ 1. เพื่อแก้แค้น เป็นความคิดดั้งเดิมของกฎหมายโรมันที่ยึดหลักตาต่อตาฟันต่อฟัน เมื่อมีการทำผิดเกิดขึ้นการจะปล่อยให้ญาติของเหยื่อลุกขึ้นมาทำร้ายผู้กระทำผิดก็จะกลายเป็นความวุ่นวาย จึงให้รัฐเป็นผู้ดำเนินการแทน ต่อมาคนเริ่มรู้สึกทนไมได้ต่อการค้ายาเสพติด ทุกประเทศมีการต่อต้าน จนสังคมคิดว่าโทษประหารชีวิตจะแก้ไขปัญหานี้ได้

2. ประหารชีวิตให้คนกลัว ไม่กล้ากระทำผิด 3. ฆาตรกรโหดเหี้ยม ประหารชีวิตเสียได้จะได้ไม่กลับมากระทำผิดซ้ำอีก เป็นการจำกัดออกจากสังคมให้ถาวร ทั้ง 3 วัตถุประสงค์มีงานวิจัยยืนยันว่าไม่สามารถทำให้คนกลัวแล้วไม่ทำผิด การกำจัดคนทำผิดออกไปจากสังคมยังไม่ถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชน และหลักศาสนาของทุกศาสนานั้นการฆ่ามนุษย์ถือเป็นบาปหนัก อย่างศาสนาพุทธก็บอกว่าใครฆ่ามนุษย์จะมาบวชก็ไมได้ การทำปิตุฆาต มาตุฆาตจะตกนรก

ส่วนเหตุผลประหารเพื่อการแก้แค้น เห็นว่าถ้ามุนษย์ฆ่าเพื่อแก้แค้นกันไปเรื่อย วิธีคิดแบบนี้ไม่ทำให้เกิดการประนีประนอมหรือสมัครสมานในสังคม ไม่ทำให้คนอยู่กันด้วยการอภัย ตรงข้ามกลับมีแต่จะเคียดแค้นชิงชังซึ่งไม่ใช่เป้าหมายของการมีรัฐ เพราะรัฐมีไว้เพื่อจัดระเบียบสังคมให้อยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข ถ้ารัฐใช้หลักนี้ในการปกครองประเทศก็ยิ่งควรคิดว่าจะคงมีโทษประหารไว้อยู่หรือไม่

“ในฐานะผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ คิดว่าโทษประหารไม่มีความหมายอะไรทางเศรษฐกิจเลย ไม่ได้ทำให้อาชญากรรมลดลง ซ้ำเป็นสูญเสียทรัพยากรมนุษย์อย่างมหันต์ เพราะกว่าคนคนนั้นจะเติบโต สังคมต้องสูญเสียงบประมาณที่เป็นภาษีอากรของประชาชนไปมาก การให้เขามีโอกาสกลับเนื้อกลับตัวมาเป็นหน่วยผลิตของสังคมน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากกว่า ซึ่งประเทศไทยควรยกเลิกโทษประหารชีวิตโดยต้องมีการทำความเข้าใจ ปรับทัศนคติของประชาชน หากยังมีเรื่องการแก้แค้น ไม่เชื่อกระบวนการยุติธรรม และไม่เชื่อเรื่องการสั่งสอนเปลี่ยนนิสัยได้ก็แก้ไขได้ยาก แต่ก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะทำอย่างไรให้เปลี่ยนแปลงตรงนี้ได้”

นางกาญจนา ภัทรโชค รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กล่าวว่า โทษประหารมีพัฒนาการมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ 3 ใน 4 ของประเทศทั่วโลกไม่มีโทษประหารชีวิตแล้ว ส่วนท่าทีไทยในเวทีสากลเปลี่ยนจากการคัดค้านการยกเลิกโทษประหารมาเป็นการงดออกเสียงตั้งแต่ปี 2553 ถือว่าท่าทีของไทยในเรื่องนี้เป็นไปอย่างสมดุล เรามีแง่บวกที่ไม่ได้ประหารชีวิตในทางปฏิบัติมาตั้งแต่ปี 2552 แต่แง่ลบคือยังมีโทษประหารในคดียาเสพติด ไทยได้รับพิจารณาข้อเสนอการยกเลิกโทษประหารแล้ว ยกเลิกหรือไม่ต้องดูงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ และขึ้นอยู่กับความเข้าใจของสังคมไทย การยกเลิกโทษประหารไม่ได้ทำเพราะพวกมากลากไปตามประเทศอื่น แต่ทำเพราะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยแท้จริง

นายน้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ประเทศที่ไม่ยกเลิกโทษประหารบางประเทศมีการประหารเฉพาะคดีร้ายแรงที่สุด การปรับปรุงหรือยกเลิกโทษประหารต้องพิจารณาบริบททางสังคมด้วย ไม่ใช่ทางกฎหมายอย่างเดียว เหตุของอาชญากรรมที่เป็นการฆ่ามี 3 ประการ คือ เกิดจากอารมณ์ แอลกอฮอล์ หรือความป่วยทางสติปัญญา การป้องกันอาชญากรรมจึงต้องดูสาเหตุจากสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม ส่วนกระบวนการยุติธรรมเป็นปลายเหตุที่ต้องปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพจะช่วยได้

นางกรรณิการ์ แสงทอง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า จากการทำแบบสำรวจสอบถามประชาชนพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังเห็นด้วยต่อการมีโทษประหารชีวิต และคิดว่าจะช่วยยับยั้งอาชญากรรมได้ซึ่งต้องมีการศึกษากันต่อไป หากใช้แนวคิดตาต่อตาฟันต่อฟันก็เป็นการสนับสนุนให้คนใช้ความรุนแรง การปราบอาชญากรรมนั้นพบว่าเมื่อศึกษาจากต่างประเทศเปรียบเทียบกันพบว่า รัฐที่มีโทษประหารมีสถิติอาชญากรรมสูง แต่ไม่มีโทษประหารชีวิต สถิติอาชญากรรมกลับลดลง ในทางสากลบางประเทศให้โทษประหารทำได้เฉพาะคดีอุกฉกรรจ์ที่สุด เราต้องมาดูว่าคดีอุกฉกรรจ์ที่สุดหมายถึงความผิดลักษณะใดบ้าง เนื่องจากโทษประหารของไทยยังกว้าง บางความผิดบทโทษกำหนดให้ศาลไม่สามารถใช้ดุลพินิจเป็นอื่นนอกจากต้องพิพากษาประหารอย่างเดียว ทั้งนี้ การแก้ปัญหาต้องมีการเผยแพร่ความรู้และงานวิจัยเชิงประจักษ์ในเรื่องนี้ รวมถึงการพักโทษที่ต้องมีกลไกติดตามความประพฤติ

ทั้งนี้ นางกรรณิการ์ยังตั้งข้อสังเกตว่า ในคดียาเสพติดที่มีโทษประหารชีวิต ปัจจุบันพบว่าคดีที่อยู่ระหว่างการอุทธรณ์ มีผู้หญิงตกเป็นผู้ต้องหามากถึง 51 ราย ขณะที่คดีที่พิพากษาเด็ดขาดไปก่อนหน้านี้มีเพียงแค่ 2 รายเท่านั้น ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนว่ามีการใช้ผู้หญิงเป็นเครื่องมือหรือไม่ หรือผู้หญิงเข้าไปอยู่ในขบวนการเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ขณะที่นายชาติชาย สุทธิกลม กสม.กล่าวว่า ในสังคมไทยมองว่ายาเสพติดเป็นเรื่องร้ายแรง ทำให้บทลงโทษรุนแรงมาตลอดมีข้อสังเกต 2 ประการ คือ 1. ผลประโยชน์จากการค้ายาเสพติด ที่เมื่อเน้นการปราบปรามมากขึ้นก็ทำให้ราคายาเสพติดสูงขึ้น จึงมีคนเข้ามายอมเสี่ยงมากขึ้นเพราะผลประโยชน์ 2. การค้ายาเสพติดเป็นองค์กรอาชญากรรม คนที่เกี่ยวข้องระดับต่ำเสี่ยงมากที่สุด แต่นายทุนระดับสูงมีโอกาสรอดพ้นมากกว่า จะต้องประหารชีวิตคนระดับล่างกี่คนกว่าจะถึงระดับสูงตัวจริงเอามาลงโทษได้ ในเมื่อผลประโยชน์ของการว่าจ้างทำให้คนระดับล่างรับโทษแทน การประหารชีวิตจึงยับยั้งยาเสพติดไม่ได้ และที่มีตัวเลขผู้หญิงเข้ามาเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดมากส่วนมากทำด้วยความรัก ความอยากร่ำรวย ฟุ้งเฟ้อ อยากให้ตนเองและครอบครัวสบาย เมื่อถูกจับก็ต้องรับโทษเท่ากับผู้ขาย เพราะบทบัญญัติของกฎหมายค่อนข้างแข็งตัวไม่ยืดหยุ่น ส่วนตัวเห็นว่าการจะยับยั้งให้ได้ผลควรตัดทอนวงจรค้ายาเสพติดโดยการริบทรัพย์จากผลกำไรของนายทุนเหล่านั้น การบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพรวดเร็วจึงจะลดอาชญากรรมได้จริง พร้อมทั้งขจัดสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เป็นเหตุอาชญากรรมจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด


กำลังโหลดความคิดเห็น