xs
xsm
sm
md
lg

“สรรเสริญ” ระบุผู้นำเอเชียเข้าไทยร่วมถกเอซีดี สะท้อนความเชื่อมั่น และยอมรับของต่างชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด
โฆษกรัฐบาล เผย ผู้นำเอเชียตบเท้าเข้าไทย เพื่อร่วมประชุมเอซีดี 9 - 10 ต.ค. นี้ ชี้ สะท้อนภาพความเชื่อมั่นและยอมรับของต่างชาติ ย้ำ ไทยพร้อมแสดงบทบาทนำที่สร้างสรรค์ ผลักดันให้เอเชียช่วยสร้างความสมดุลต่อเศรษฐกิจโลก แนะคนไทยเป็นเจ้าบ้านที่ดี

พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 9 - 10 ต.ค. 25559 รัฐบาลไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 2 (ACD Summit) ณ กรุงเทพมหานคร ในหัวข้อ “เอเชียหนึ่งเดียว หลากหลายในพลัง” โดยมีประมุขแห่งรัฐ ผู้นำ และผู้แทนระดับสูงของประเทศสมาชิกเอซีดี 34 ประเทศ รวมทั้งไทย ตอบรับการเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้

“ผู้นำเอเชียมีความเชื่อมั่นและยอมรับรัฐบาลไทย และพร้อมให้ความร่วมมือเพื่อผลักดันให้เอเชียช่วยสร้างความสมดุลต่อเศรษฐกิจโลก และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกัน โดยประมุขและผู้นำที่จะเดินทางมายังไทย เช่น เจ้าผู้ครองรัฐคูเวต ประธานาธิบดี (ปธน.) อิหร่าน ปธน. ศรีลังกา รอง ปธน. จีน นายกรัฐมนตรี (นรม.) บาห์เรน นรม. เกาหลีใต้ นรม. มาเลเซีย นรม. ปากีสถาน เป็นต้น”

พลโท สรรเสริญ กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญต่อการประชุมครั้งนี้อย่างมาก เพราะไทยจะมีโอกาสได้แสดงบทบาทนำที่สร้างสรรค์ในเวทีระหว่างประเทศ ทั้งในฐานะผู้ก่อตั้งและสมาชิกเอซีดี และในฐานะประธานกลุ่ม 77 พร้อมทั้งย้ำว่า รัฐบาลส่งเสริมให้ทุกประเทศหันหน้าสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน และแบ่งปันให้เกิดการพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

“ท่านนายกฯ จะเป็นประธานเปิดการประชุมภาคธุรกิจ ACD Connect Business Forum ในวันที่ 9 ต.ค. ซึ่งเป็นกิจกรรมคู่ขนานที่ไทยได้ริเริ่มให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมกับเอซีดีมากขึ้น และมีกำหนดพบหารือทวิภาคีกับผู้นำเอเชีย เช่น ปธน. ศรีลังกา ปธน. อิหร่าน นรม. กัมพูชา นรม. ภูฏาน รอง ปธน. จีน รวมทั้งเป็นประธานการประชุมระดับผู้นำเอซีดี ในวันที่ 10 ต.ค. ที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยได้ฝากกำชับให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อม ทั้งด้านการต้อนรับ การจัดประชุม การรักษาความปลอดภัย และการจราจร พร้อมทั้งเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมเป็นเจ้าบ้านที่ดี เพื่อให้ผู้มาเยือนเกิดความประทับใจ”

ทั้งนี้ รัฐบาลจะผลักดันความร่วมมือที่สำคัญ 6 ด้าน คือ 1) ความเชื่อมโยงระหว่างประเทศ 2) วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม 3) การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากร 4) ความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และน้ำ 5) วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว 6) การส่งเสริมการพัฒนาที่ทั่วถึง โดยนำเสนอแนวปฏิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามเป้าหมายของสหประชาชาติ

ซึ่งผลสำเร็จจากการประชุมครั้งนี้ จะทำให้ไทยได้รับประโยชน์ในแง่ความเชื่อมั่นที่ประชาคมเอเชียและโลกมีต่อไทย และต่อยอดการพัฒนาร่วมกันในด้านต่าง ๆ เช่น การค้าการลงทุน การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งในภูมิภาค การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการศึกษา การเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกัน และการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลให้คนไทยในฐานะสมาชิกของเอเชียมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น