โรงพยาบาลกรุงเทพ กับ โรงแรมปาร์คนายเลิศ เกิดขึ้นในเวลาไล่เรี่ยกัน ในวันที่ บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าของ โรงพยาบาลกรุงเทพ ซื้อที่ดิน 15 ไร่ ของ โรงแรมปาร์คนายเลิศ ในราคา 10,800 ล้านบาท โรงพยาบาลกรุงเทพ มีอายุ 43 ปี ส่วนโรงแรม ปาร์ค นายเลิศ ก่อตั้งมาครบ 36 ปี และจะเลิกกิจการที่ “คุณยาย” ท่านผุ้หญิง เลอศักดิ์ สมบัติศิริ ก่อตั้งขึ้น ในสิ้นปีนี้
โรงแรมปาร์คนายเลิศ เลิกกิจการ เพราะไม่สามารถแข่งขันในธุรกิจโรงแรมซึ่งมีโรงแรมใหม่ๆ ทันสมัย ผุดขึ้นมาราวดอกเห็ด โดยเฉพาะในย่านชิดลม วิทยุ เพลินจิต สุขุมวิท ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับปาร์คนายเลิศ ส่วนใหญ่อยุ่ตามแนวรถไฟฟ้า ภูมิทัศน์กรุงเทพซึ่งเปลี่ยนแปลงเพราะรถไฟฟ้า ทำให้โรงแรมปาร์คนายเลิศ เหมือนอยู่โดดเดี่ยวห่างออกไป เป็นข้อเสียเปรียบในการแข่งขันที่สำคัญ
โรงพยาบาลกรุงเทพ ซื้อที่ดิน และอาคารโรงแรมปาร์คนายเลิศ เพื่อขยายกิจการ ต่อยอดธุรกิจการแพทย์ออกไป โดยลงทุนสร้างศูนย์สุขภาพครบวงจร ซึ่งเป็นธุรกิจที่กำลังมาแรง มีอนาคต และมีตลาดที่มีกำลังซื้อสูงรองรับอยู่แล้ว
ในขณะที่โรงแรมปาร์คนายเลิศ ไม่ได้ทำอะไรเพื่อรับมือกับการแข่งขัน และการเปลี่ยนแปลง ยกเว้น การจัดงาน ดอกไม้ ที่ทำต่อเนื่องกันมา 30 ปี และ การเปลี่ยนเชน บริหาร โรงพยาบาลกรุงเทพ มีเป้าหมายและยุทธศาสตร์ชัเจน คือ ขยายกิจการโรงพยาบาลให้ใหญ่ขึ้นๆ ด้วยวิธีการเข้าควบรวมกิจการ เช่น การควบรวมกับโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลเปาโล โดยการแลกหุ้น ไม่ต้องจ่ายเงินแม้แต่บาทเดียว การเข้าซื้อหุ้นของโรงพยาบาลอื่นๆ ทั้งในตลาดหลักทรัพย์ และโรงพยาบาล ที่อยูนอกตลาด และอยู่ในจังหวัดใหญ่ๆ เช่น อุดรธานี พิษณุโลก ขอนแก่น เป็นต้น และการสร้างโรงพยาบาลใหม่เอง
ปัจจุบัน บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ มี “ แบรนด์” โรงพยาบาลถึง 5 แบรนด์ คือ โรงพยาบาลกรุงเทพ 20 แห่ง โรงพยาบาลพญาไท 5 แห่ง โรงพยาบาลสมิติเวช 5 แห่ง โรงพยาบาลเปาโล 4 แห่ง โรงพยาบาลบีเอ็นเอช 1 แห่ง โรงพยาบาลรอยัล ซึ่งเป็นการลงทุนในกัมพูชา 2 แห่ง และโรงพยาบาลอื่นๆในท้องถิ่นอีก 7 แห่ง รวมจำนวนโรงพยาบาล 43 แห่ง จำนวนเตียงทั้งสิ้น ประมาณ 7,500 เตียง
นอกจากนั้นยังถือหุ้น ในโรงพยาบาลเอกอุดร โรงพยาบาลรามคำแหง และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีผลการดำเนินดีอย่างสม่ำเสมอ และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนได้รับการจัดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือจากบริษัทจัดอันดับเครดิตประเทศไทย ในระดับA + ซึ่งถือว่าเป็นเรตติ้งที่ดีมาก และเป็นเครื่องมือสำคัญในการหาเงินมาขยายเครือข่าย ด้วยการออกหุ้นกู้ ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ
การออกหุ้นกู้คือ การใช้เงินของคนอื่นมาทำธุรกิจ เหมือนกู้เงินแบงก์ แต่เสียดอกเบี้ยถูกกว่า
ปัจจุบัน บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ มีหุ้นกู้ที่ยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอน มูลค่าประมาณ 9,500 ล้านบาท มีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 4.5 % ถูกกว่า ดอกเบี้ยเงินกู้ของสถาบันซึ่งอยุ่ในอัตรา 6-7 % ต่อปี
นอกจากนั้นยังออกหุ้นกู้แปลงสภาพ ( คือหุ้นกู้ที่แปลงเป็นหุ้นสามัญในราคาที่กำหนด เมื่อครบอายุไถ่ถอน) แบบปลอดดอกเบี้ย มูลค่าถึง 10,000 ล้านบาท เมื่อสองปีก่อน
โรงพยาบาลกรุงเทพ เกิดขึ้นเมื่อปี 2515 ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท และเข้าตลาดหุ้น ในปี 2534 จากโรงพยาบาลเพียงแห่งเดียว ด้วยพลังแห่งตลาดทุน ภายในเวลา 20 ปี มีทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้น เป็น 1,700 ล้ารนบาท มีสินทรัพย์ แสนล้านบาท มีโรงพยาบาลในเครือ 43 แห่ง มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการแพทย์และสุขภาพ รวมทั้งประกันชีวิตและประกันสุขภาพ มีเงินเย็นหมื่นล้านไปซื้อที่ดิน 15 ไร่ ที่พระยานรเศรษฐภักดีและทายาทครอบครองมาเกือบ 100 ปี อย่างสบายๆ