“โฆษกกระทรวงกลาโหม” แจงจำเป็นต้องเช่าบินเหมาลำเดินทางไปร่วมประชุม รมว.กลาโหมอาเซียน-สหรัฐฯ เนื่องจากหากใช้บริการสายการบินทั่วไปต้องต่อหลายต่อ อีกทั้งการบินไทยมีความชำนาญมากกว่าเครื่องบินของกองทัพอากาศ บอกเป็นเรื่องดีที่สังคมตื่นตัวตรวจสอบภาครัฐ
วันนี้ (3 ต.ค.) พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีมีการเผยแพร่การคำนวณราคากลางค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการร่วมประชุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะ ระหว่างวันที่ 29 ก.ย. - 2 ต.ค. 59 ณ มลรัฐฮาวาย ที่ผ่านมาว่าการเดินทางไปร่วมประชุมดังกล่าวมีความจำเป็นต้องเช่าเครื่องบินเหมาลำเนื่องจากเป็นการเดินทางเป็นหมู่คณะที่มีกำหนดการแน่นอนไปยังจุดหมาย ที่ไม่มีเที่ยวบินตรงจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งการบริการจากสายการบินพาณิชย์ทั่วไป ต้องต่อเครื่องบินหลายครั้ง และไม่ได้ทำการบินทุกวันจึงไม่เหมาะสม ขณะเดียวกัน เครื่องบินของกองทัพอากาศเองก็ยังไม่พร้อม และไม่มีขีดความสามารถพอในเส้นทางดังกล่าว เนื่องจากต้องใช้เวลาบินถึง 19 ชม. และต้องบินลงเติมน้ำมันระหว่างเส้นทางถึง 2 ครั้ง การเช่าเครื่องบินเหมาลำจากการบินไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐด้วยกันที่มีความชำนาญ และมีบริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำอยู่แล้วจึงมีความเหมาะสมกว่า
สำหรับการคำนวณราคากลางที่เผยแพร่กันอยู่นั้น “เป็นเรื่องปกติที่หน่วยงานรัฐจะต้องปฏิบัติ ตามระเบียบของทางราชการ รวมทั้งข้อบังคับของ ป.ป.ช. และนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันที่ต้องเผยแพร่สู่สาธารณะ เพื่อความโปร่งใส เนื่องจากเป็นงบประมาณแผ่นดิน โดยการเช่าเหมาลำเส้นทางดังกล่าวยังไม่เคยกำหนดราคากลาง จึงต้องให้บริษัท การบินไทย ประมาณการค่าใช้จ่าย และเสนอหน่วยงานรัฐจัดทำเป็นราคากลางประกาศให้ทราบ ตามที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของหน่วยงานและกรมบัญชีกลาง ซึ่งทราบว่าบริษัท การบินไทย ได้คิดค่าใช้จ่ายระหว่างองค์กรของรัฐตามราคาต้นทุนซึ่งตรวจสอบได้ และจะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายตามที่เกิดขึ้นจริงเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ”
โดยส่วนตัวมองว่า “เป็นเรื่องดีที่สังคมปัจจุบันมีความตื่นตัว เรียนรู้และมีส่วนร่วมในการทำงานของภาครัฐมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้มีนโยบายที่ชัดเจนให้ทุกส่วนราชการต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการให้ถูกต้อง และให้เป็นไปตามข้อบังคับขององค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันสร้างบรรทัดฐานการทำงานของภาครัฐ ที่เน้นเปิดเผย โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งเรื่องดังกล่าว ทั้งภาครัฐและประชาชน จำเป็นต้องมีส่วนร่วมเรียนรู้และทำความเข้าใจไปด้วยกัน”