xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 2-8 ต.ค.2559

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.“พล.อ.ประวิตร” ยันไม่ทุจริตงบ 20 ล้านนำคณะเหมาเครื่องการบินไทยไปประชุมที่ฮาวาย ด้าน สตง.ตรวจสอบแล้ว ไม่มีอะไรเกินความเหมาะสม!
(บน) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม (ล่าง) มีผู้นำภาพมาแฉเมนูมื้อแรกบนเครื่องการบินไทยที่บินไปฮาวาย ซึ่ง สตง.ตรวจสอบแล้วระบุว่า มีการเสิร์ฟให้วีไอพี 9 คนเท่านั้น
เมื่อวันที่ 2 ต.ค.มีข้อมูลเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียถึงรายละเอียดเงินงบประมาณการคำนวณราคากลางการจ้างการรับขนคนโดยสารทางอากาศโดยเครื่องบินพาณิชย์ ณ เมืองฮอนโนลูลู มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 29 ก.ย.-2 ต.ค. โดยมีรายละเอียดค่าใช้จ่ายรวม 20,953,800 บาท ซึ่งเมื่อมีการตรวจสอบพบว่า บุคคลของรัฐบาลที่เดินทางไปยังมลรัฐฮาวายในช่วงนี้คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และคณะ ซึ่งเดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนและรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 29 ก.ย.-1 ต.ค. ณ มลรัฐฮาวาย โดยคณะเดินทางกลับในวันที่ 2 ต.ค.

โดยข้อมูลดังกล่าว ระบุรายละเอียดว่า ค่าใช้จ่าย ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องบิน 3,835,200 บาท ค่าเชื้อเพลิงอากาศยาน 10,776,000 บาท ค่าอาหารและเครื่องดื่มระหว่างบิน 600,000 บาท ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการปฏิบัติการภาคพื้น 2,636,400 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ 3,106,200 บาท

ทั้งนี้ มีรายงานว่า เดิมคณะของ พล.อ.ประวิตร ที่จะเดินทางไปประชุมมีทั้งหมด 40 คน แต่ติดภารกิจ 2 คน จึงเหลือ 38 คน โดยการเดินทางเป็นการเช่าเหมาลำเครื่องบินการบินไทยแบบไป-กลับ คิดรายหัวรายละ 5 แสนบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 19 ล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่ายที่เหลือ เป็นค่าใช้จ่ายการเดินทางต่อ เมื่อลงจากเครื่อง ค่าที่พัก ค่าอาหาร

หลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตัวเลขงบที่ใช้ในการเดินทางไปประชุมดังกล่าว ปรากฏว่า พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ได้ชี้แจงว่า การเดินทางไปร่วมประชุมที่มลรัฐฮาวาย จำเป็นต้องเช่าเครื่องบินเหมาลำ เนื่องจากเดินทางเป็นหมู่คณะ และไม่มีเที่ยวบินที่บินตรงจากกรุงเทพฯ ขณะที่การบริการจากสายการบินพาณิชย์ทั่วไป ต้องต่อเครื่องบินหลายครั้ง และไม่ได้ทำการบินทุกวัน จึงไม่เหมาะสม ส่วนเครื่องบินของกองทัพอากาศก็ยังไม่พร้อม ไม่มีขีดความสามารถพอในเส้นทางดังกล่าว ซึ่งใช้เวลาบินถึง 19 ชั่วโมง ต้องบินลงเติมน้ำมันระหว่างเส้นทางถึง 2 ครั้ง

พล.ต.คงชีพ กล่าวอีกว่า การเช่าเหมาลำเส้นทางดังกล่าว ยังไม่เคยกำหนดราคากลาง จึงให้การบินไทยประมาณการค่าใช้จ่าย จัดทำเป็นราคากลางประกาศให้ทราบ ตามที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของหน่วยงานและกรมบัญชีกลาง ทราบว่าบริษัทการบินไทยคิดค่าใช้จ่ายระหว่างองค์กรของรัฐตามราคาต้นทุน ตรวจสอบได้และเรียกเก็บค่าใช้จ่ายตามที่เกิดขึ้นจริง

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร ได้ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องดังกล่าวว่า พล.ต.คงชีพ ได้ชี้แจงไปหมดแล้ว และว่า การเดินทางไปครั้งนี้ ทางสหรัฐฯ อยากให้ไปกันหลายคนเพื่อหารือหลายประเด็น เช่น เรื่องการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ กลุ่มไอซิส และเรื่องความมั่นคงทางทะเลส่วนของทะเลจีนใต้ ซึ่งสหรัฐฯ ขอร้องว่าให้ไปกันทุกหน่วยงาน ก็แค่นั้นเอง พล.อ.ประวิตร ยังย้ำด้วยว่า การไปประชุมครั้งนี้ ไม่ได้ไปเที่ยว ลงเครื่องเสร็จก็ไปทำงาน และเดินทางกลับ ส่วนอาหารที่รับประทานก็อาหารไทยธรรมดา เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ไม่ได้มีอาหารพิเศษจากที่ไหน พล.อ.ประวิตร ยังกล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ด้วยว่า “ความจริงเขาตั้งใจจะเล่นงานผม ความจริงผมไม่มีผลประโยชน์กับเงินสักบาท หรือไม่ได้รับเงินอะไรมา เป็นเรื่องของหน่วยงานกับหน่วยงานที่ว่ากันไป”

ด้านนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ออกมาโจมตี โดยกล่าวว่า ช่วงที่ตนเป็นรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เคยเดินทางไปประชุมเอเปคที่มลรัฐฮาวาย เดินทางโดยเครื่องบินโดยสารพาณิชย์ตามปกติ ใช้เงินไม่กี่บาท ไม่น่าจะถึง 2 ล้านบาท แต่รัฐบาล คสช.กลับใช้เงินประชุมสูงลิ่วกว่า 20 ล้านบาท

ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นเรื่องให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ตรวจสอบการใช้งบเดินทางไปประชุมที่ฮาวายของคณะ พล.อ.ประวิตร เข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 หรือไม่ ซึ่งส่วนตัวมองว่า กรณีดังกล่าวน่าจะเป็นการไปปฏิบัติภารกิจที่ขัดแย้งต่อนโยบายของ คสช.หรือ ครม.หรือนายกรัฐมนตรี ที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา และน่าจะขัดต่อค่านิยม 12 ประการของ คสช.หรือของนายกฯ ว่าด้วยความพอเพียง

ด้าน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม และนายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่(ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันแถลงชี้แจงถึงการใช้งบประมาณ 20.9 ล้านบาทในการเดินทางไปประชุมที่มลรัฐฮาวายของคณะ พล.อ.ประวิตร โดยยืนยันว่า การเดินทางไปต่างประเทศของรัฐบาลชุดนี้ ยึดถือหลักเกณฑ์ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยพัสดุ ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.2556 “เหตุที่ต้องแถลงข่าวครั้งนี้ เพราะทุกคนที่เกี่ยวข้องรู้สึกไม่สบายใจกับสิ่งที่สังคมกำลังคิดอยู่ว่าเราเล่นตามเกมของการเมืองหรือไม่ มีความพยายามของกลุ่มการเมืองที่กำลังถูกดำเนินคดีแล้วพยายามเปิดประเด็นให้เห็นว่าฉันชั่ว แกก็ชั่วเหมือนกันหรือไม่ ฉันเลวแกก็เลวเหมือนกันหรือไม่”

ขณะที่นายจรัมพร กล่าวว่า การคิดค่าใช้จ่ายของบริษัทการบินไทย ได้มีการเสนอบริการอย่างเป็นระบบ ทุกรัฐบาลใช้สูตรเดียวกัน ค่าใช้จ่ายจะแตกต่างกันที่ระยะทางเมืองที่ไป การเรียกเก็บเงินจากรัฐบาล จะเก็บจากค่าใช้จ่ายจริง ซึ่งต้องรอตัวเลขสรุปจากทางฮาวายด้วย คาดว่าตัวเลขจะออกมาประมาณ 2 เดือนจากนี้ ส่วนรายชื่อคณะที่เดินทางที่มีการเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียนั้น เป็นข้อมูลเท็จ เท่าที่ทราบเป็นเอกสารเบื้องต้น ซึ่งไม่ตรงกับการเดินทางจริง โดยการบินไทยได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่นำรายชื่อมาเผยแพร่แล้ว เพราะเป็นการผิดระเบียบของการบินไทย

ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 ต.ค. นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้แถลงผลการตรวจสอบการใช้งบประมาณในการเช่าเครื่องเหมาลำการบินไทยเดินทางไปประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน-รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐอเมริกา อย่างไม่เป็นทางการวงเงิน 20.9 ล้านบาทของ พล.อ.ประวิตร ที่มลรัฐฮาวายว่า สตง.ได้ตรวจสอบกับสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและการบินไทยแล้ว พบว่าคณะผู้เดินทางเที่ยวไปฮาวาย 38 คน แต่เที่ยวกลับมีบุคลากรด้านความมั่นคงกลับมาด้วยรวม 41 คน ไม่มีประเด็นเรื่องบุคคลอื่นหรือภาคเอกชนร่วมเดินทางด้วย โดยบริษัท การบินไทย เป็นผู้เสนอราคา 20.9 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์เหมือนกันทุกรัฐบาล

ทั้งนี้ สตง.ได้มีการเปรียบเทียบการเช่าเหมาลำในอดีตที่เดินทางไปมิลาน ประเทศอิตาลี แล้วพบว่าราคาไม่มีความผิดปกติ อย่างไรก็ตาม อาจจะต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมอีกทาง สตง.จึงยังไม่มีความเห็นใดๆ แต่จะเสนอให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.) ร่วมกันให้ข้อสรุปออกมา ส่วนกรณีการเสิร์ฟคาร์เวียบนเที่ยวบินดังกล่าวนั้น นายพิศิษฐ์กล่าวว่า เป็นการบริการของสายการบินไทยให้แก่บุคคลวีไอพีเพียง 9 คน นอกนั้นเป็นอาหารปกติ

นายพิศิษฐ์ ให้เหตุผลที่ต้องส่งเรื่องให้ คตง.ร่วมให้ข้อสรุปด้วยว่า “เพื่อไม่ให้ติฉินว่ามาเร็วเคลมเร็ว เพราะถ้าบอกว่าไม่ผิดก็เหมือนว่าเอาใจ ถ้าบอกว่าผิดก็สะใจ จึงคิดว่าเสนอ คตง.วันจันทร์ที่ 10 ต.ค.เพื่อให้วินิจฉัยจะเป็นทางออกที่ดีกว่า แต่ถ้าจะให้ผมวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ปรากฏมาก็ได้เท่านี้ ไม่มีข้อสังเกตที่จะเป็นประเด็น ค่าใช้จ่ายก็ไม่มีอะไรที่เกินความเหมาะสม และกรณีนี้ตัดเรื่องทุจริตไปได้ เนื่องจากไม่มีเรื่องนี้”

2.“มีชัย” เตรียมส่งร่าง รธน.ที่แก้ไขตามคำวินิจฉัยศาล รธน.ให้นายกฯ 11 ต.ค.นี้ พร้อมเตือน สนช.-ป.ป.ช.เร่งสางคดีถอดถอนก่อน รธน.ประกาศใช้!

(บน) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. (ล่าง) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.
ความคืบหน้ากรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนิฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไม่สอดคล้องกับคำถามพ่วงที่ผ่านประชามติ และให้ กรธ.ดำเนินการแก้ไขตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในส่วนที่เกี่ยวข้องในร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ประกอบด้วย 1.ผู้มีสิทธิเสนอขอยกเว้นการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อ คือ สมาชิกรัฐสภาจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา และ 2.กำหนดเวลาและวันเริ่มนับเวลาตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคหนึ่งและวรรคสอง คือ “ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้” นั้น

เมื่อวันที่ 4 ต.ค. นายนรชิต สิงหเสนี โฆษก กรธ. กล่าวถึงการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า กรธ.จะใช้เนื้อความตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทั้ง 2 ประเด็น คือ 1.กำหนดให้ ส.ว.มีสิทธิร่วมลงชื่อกับ ส.ส. เพื่อเสนอขอยกเว้นการใช้บัญชีรายชื่อนายกฯ ของพรรคการเมือง หากเกิดกรณีเลือกบุคคลในบัญชีนายกฯ ที่พรรคการเมืองเสนอไม่ได้ในคราวแรก และ 2.กำหนดระยะการบังคับใช้ข้อยกเว้นบัญชีนายกฯ ของพรรคการเมือง ให้เป็นในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่มีรัฐสภา จากเดิมที่ กรธ. กำหนดให้ใช้เพียงครั้งเดียวของรัฐสภาชุดแรก นอกจากนี้ ที่ประชุมมี กรธ.ยังมติจะส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขแล้วไปให้นายกรัฐมนตรีในวันที่ 11 ต.ค.นี้ เพื่อดำเนินการขั้นตอนต่อไป ส่วนประเด็นต้องแก้ไขอีกส่วนคือ คำปรารภที่ต้องปรับให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง โดยเพิ่มข้อความที่เกี่ยวกับขั้นตอนและผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และว่า ในการแก้ไขเนื้อหาตามที่ที่ประชุม กรธ.มีมติดังกล่าว เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว ไม่ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอีก เพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ไม่ได้กำหนดไว้ แต่หากมีประเด็นสงสัย อาจสอบถามไปยังศาลรัฐธรรมนูญเป็นการภายในได้

ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เผยเมื่อวันที่ 6 ต.ค.ว่า คิดว่าการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญครบถ้วนตามคำวินิจฉัยของศาลแล้ว กำลังดูความถูกต้องของถ้อยคำ และคำผิดคำถูกอยู่ โดยจะส่งให้นายกรัฐมนตรีในวันที่ 11 ต.ค.นี้ และว่า รู้สึกดีใจที่ทำสำเร็จตามขั้นตอนและระยะเวลาทุกอย่างแล้ว ทำให้โล่งใจได้บ้าง แต่ยังมีงานที่ต้องรีบทำ คือการร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญให้เสร็จ โดยเฉพาะเรื่อง กกต.และพรรคการเมือง ที่ต้องรีบทำให้เร็วที่สุด คาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนต่อฉบับ กรธ.ต้องรีบทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำ เหมือนนั่งอยู่บนเตาอั้งโล่ เพื่อส่งต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาโดยเร็ว ส่วน สนช.จะพิจารณาอย่างไร จะปรับแก้หรือไม่ก็อยู่ที่ดุลพินิจ แต่หากจะแก้ไข ต้องมีเหตุผลที่ชัดเจน นายมีชัย ยังยืนยันด้วยว่า ไม่มีความคิดที่จะเซตซีโร่พรรคการเมืองแต่อย่างใด

ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 ต.ค. นายมีชัยยังให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงกรณีที่หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้ ซึ่งไม่มีเนื้อหาในส่วนของการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทาง สนช. ที่กำลังพิจารณาเรื่องการถอดถอนนักการเมือง จะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งนายมีชัย กล่าวว่า คนที่ถูกถอดถอนไปแล้ว ไม่ว่าจะถูกตัดสิทธิ 5 ปี หรือ 10 ปี ก็ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้ง และถูกตัดสิทธิทางการเมืองต่อไป แต่ผู้ที่กำลังพิจารณาอยู่ ทั้งในส่วนของ ป.ป.ช. และ สนช. ก็จะต้องเร่งพิจารณาให้เสร็จภายในเดือนเศษ ก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะประกาศใช้ เพราะหากพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ก็จะต้องยุติไปโดยปริยาย และต้องเปลี่ยนเส้นทางไปทางอื่น เช่น การยื่นศาลรัฐธรรมนูญ การยื่นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นต้น เนื่องจากรัฐธรรมนูญได้เปลี่ยนจากการถอดถอน ไปเป็นให้ศาลพิจารณาว่าบุคคลนั้นขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังจากที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้ว ซึ่งไม่รู้ว่าทาง ป.ป.ช. และ สนช. รู้เรื่องนี้หรือไม่ ดังนั้นจึงขอฝากผ่านทางสื่อมวลชนไปเตือนหน่วยงานดังกล่าวด้วย

3.ก.ล.ต.สั่งแขวน 8 ผู้บริหารเนชั่น อ้างขาดความน่าไว้วางใจ ด้าน “สุทธิชัย หยุ่น” นำทีมแถลงชี้คำสั่งไม่เป็นธรรม-สวนทางศาลจังหวัดพระโขนง เตรียมอุทธรณ์!

นายสุทธิชัย หยุ่น นำทีมผู้บริหารเนชั่น แถลงชี้แจงหลังถูก ก.ล.ต.ขึ้นแบล็กลิสต์ ห้ามดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป หรือบริษัทอื่นใด จนกว่าคดีที่ถูกอัยการฟ้องจะยุติ
เมื่อวันที่ 6 ต.ค. มีรายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่า ได้มีคำสั่งแจ้งบุคคลที่มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัท เนชั่นมัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (NMG) จำนวน 8 ราย ประกอบด้วย 1.นายปกรณ์ บริมาสพร 2.นายเชวง จริยะพิสุทธิ์ 3.นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ 4.น.ส.เขมกร วชิรวราการ 5.นายพนา จันทรวิโรจน์ 6.น.ส.ดวงกมล โชตะนา 7.นายเสริมสิน สมะลาภา และ 8.นายสุทธิชัย แซ่หยุ่น

ทั้งนี้ ก.ล.ต.ให้เหตุผลในการฟัน 8 ผู้บริหารเนชั่นว่า สืบเนื่องจาก เมื่อเดือน ส.ค. 2559 พนักงานอัยการได้มีความเห็นและคำสั่งฟ้องบุคคลทั้ง 8 ราย ในฐานะกรรมการของ NMG ไม่อนุญาตให้ผู้ถือหุ้นบางรายเข้าร่วมประชุมและห้ามผู้ถือหุ้นบางรายออกเสียงลงคะแนนในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2558 ซึ่งพนักงานอัยการได้พิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนรวบรวมมาจากการดำเนินการของ ก.ล.ต. ในการกล่าวโทษนายณิทธิมน หัสดินทร ณ อยุธยา ประธานกรรมการ NMG และประธานในที่ประชุมผู้ถือหุ้น เมื่อเดือน ธ.ค. 2558 เป็นส่วนหนึ่งในคำฟ้องด้วย

การดำเนินการของพนักงานอัยการ จึงเป็นผลให้บุคคลทั้ง 8 ราย มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัท ตามประกาศ กลต. โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค. 2559 ซึ่งจะส่งผลให้บุคคลทั้ง 8 รายไม่สามารถดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนใด ๆ ได้ตลอดระยะเวลาที่ถูกดำเนินคดี

ด้านนายสุทธิชัย แซ่หยุ่น อดีตผู้บริหารเนชั่น กล่าวว่า "ทันทีที่คำสั่ง ก.ล.ต.ออกมา มีผลให้ต้องหยุดทำงานทันที ธุรกิจของบริษัทหยุดทันที เพราะไม่มีผู้มีอำนาจบริหาร ตลาดหลักทรัพย์ก็โทรศัพท์มาถามและให้ชี้แจง ผมก็บอกไม่ได้ว่าตกลงความผิดเราเป็นยังไง ทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ เพราะธุรกิจต้องหยุดชะงักทันที เพราะกว่าจะจบก็ 3 ศาล และความไม่ไว้วางใจติดอยู่กับเราอีก" และว่า ตกใจที่ ก.ล.ต.มีคำสั่งให้กรรมการ 8 คน ถูกแบล็คลิสต์ ไม่มีสิทธิเป็นกรรมการ ผู้บริหาร ทั้งๆ ที่ไม่เคยถูกเรียกหรือเชิญไปชี้แจงเลยแม้แต่ครั้งเดียว ขณะที่นายณิทธิมน หัสดินทร ณ อยุธยา ประธานกรรมการ NMG ซึ่งเป็นประธานถูกเรียกไปชี้แจงถึง 3 ครั้ง "ถือว่าไม่เป็นธรรม ซึ่งคำว่าบุคคลไม่น่าไว้วางใจถือว่ารุนแรง เพราะอาชีพนี้ความน่าเชื่อถือมีความสำคัญ... ถือเป็นการประหารชีวิต...เนชั่นก่อตั้งมา 45 ปี ผมเป็นมืออาชีพที่ซื่อสัตย์ สุจริตมาตลอด"

ด้านนายเสริมสิน สมะลาภา อดีตผู้บริหารเนชั่น กล่าวว่า หุ้นเครือเนชั่นที่ถูกพักการซื้อขายอยู่ เหมือนโดนหยุดทุกอย่างและไม่มีกำหนดและไม่ทราบว่าหุ้นจะหยุดเทรดนานเท่าใด เพราะปัญหาของบริษัทที่กำลังเดินหน้าอยู่ ที่จะเจรจาสัญญาทีวีดิจิทัล การจ่ายเช็ค หรือการกู้เงิน รวมทั้งพันธมิตรที่เจรจาอยู่ ไม่รู้ใครจะดำเนินการต่อและต้องเร็วด้วย ตรงนี้ใครจะรับผิดชอบ ตอนนี้ไม่มีผู้บริหารอยู่ และแต่งตั้งใครมาเป็นกรรมการแทนก็ไม่ได้ และว่า ในช่วงที่ผ่านมา ทางเนชั่นได้หาทางออกหลังมีการแข่งขันอย่างรุนแรงในทีวีดิจิทัล มีการเชิญพันธมิตรยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ หรือระดับโลก และมีการคุยกัน ธนาคารเซ็น MOU กันไว้หมดแล้ว "เรามีทางรอดแล้ว เป็นช่วงที่หมอกำลังผ่าตัดใหญ่เครือเนชั่นอยู่ แล้วอยู่ดีๆ ก.ล.ต.ก็สั่งหมอผ่าตัดหยุดทันที แม้แต่ธนาคารติดต่อมา เราก็ไม่รู้ว่าจะพูดอะไรได้บ้าง หรือพันธมิตรที่เจรจาอยู่โทร.มา ก็ไม่รู้ว่าจะรับสายได้หรือเปล่า ซึ่งตรงนี้บริษัทมีแผนซึ่งกำลังจะไปได้ดี การเอาหมอผ่าตัดออกไปจะแย่และแก้ไขไม่ทันการณ์ จึงอยากจะอ้อนวอนผู้มีอำนาจขอให้บริษัทเดินหน้า ไม่งั้นจะเดือดร้อนมาก ซึ่งผมยินดีจะลาออก แต่ระหว่างที่ผมลาออก ต้องมีผู้มีอำนาจมาทำงานแทน "การที่ ก.ล.ต.สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที กัปตันทั้ง 8 คนโดนหมด ต้องถาม ก.ล.ต.ว่าจะให้ทำอย่างไร เพราะไม่เคยมีมาก่อน ที่กรรมการทั้ง 8 คน โดนแขวนทั้งหมด"

ขณะที่ น.ส.ดวงกมล โชตะนา อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NMG กล่าวว่า เร็วๆ นี้จะยื่นเรื่องอุทธรณ์ไปที่ ก.ล.ต.อย่างเป็นทางการ เพื่อให้ ก.ล.ต.ตั้งคณะทำงานมาพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคณะกรรมการฯ จะพิจารณาอย่างเป็นธรรม และรวดเร็วก่อนความเสียหายจะเกิดขึ้น ก่อนจะส่งผลกระทบต่อบริษัท ทั้งนี้ ผู้บริหารเนชั่นตั้งข้อสังเกตด้วยว่า คำสั่งของ ก.ล.ต.ที่แขวนผู้บริหารเนชั่น 8 คน เป็นคำสั่งที่แย้งกับศาลจังหวัดพระโขนง ที่มีคำสั่งยกฟ้องคณะกรรมการ บมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป ทั้ง 8 คน กรณีที่บริษัทนิวส์ เน็ตเวิร์ก คอร์ปอเรชั่น ฟ้องร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายและให้พ้นจากกรรมการ

ด้านนายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ อดีตผู้บริหารเนชั่น กล่าวว่า "ผู้บริหารชุดใหม่ของ ก.ล.ต.กำลังพยายามทำว่า ก.ล.ต.ไม่ใช่เสือกระดาษ ถ้ากรรมการ บจ.เกือบครึ่งตลาดจะต้องถูกแขวน จะส่งผลกระทบต่อ บจ.อื่นด้วย จะทำให้ความเชื่อมั่นของ บจ.ในตลาดสั่นคลอนมาก อยากจะฝากไปถึง รมว.คลังที่ดูแล ก.ล.ต.อยู่ได้รับทราบ เพราะช่วง 6 เดือนนี้ประกาศหลายอันของ ก.ล.ต. ใช้อำนาจเกินขอบเขตหรือเปล่า"

4.ศาลฎีกาพิพากษายืนยกฟ้อง “เริงชัย” อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ กรณีใช้เงินทุนสำรองปกป้องค่าเงินบาทปี ’40 ไม่ต้องชดใช้เงินคืน 1.8 แสนล้าน!

นายเริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
เมื่อวันที่ 5 ต.ค. ศาลแพ่งได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกองทุนรักษาระดับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่าการ ธปท. เป็นจำเลย เรื่องละเมิด จากกรณีออกคำสั่งทำธุรกรรมใช้เงินทุนสำรองไปปกป้องค่าเงินบาท (สวอป) เพื่อปกป้องค่าเงินบาท เมื่อมีวิกฤตเศรษฐกิจค่าเงินบาทลอยตัว ปี 2540 อันเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 186,015,830,720 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

ทั้งนี้ นายเริงชัยไม่ได้มาฟังคำพิพากษา แต่มอบอำนาจให้นายธนกร แหวกวารี มาฟังคำพิพากษาแทน ซึ่งคดีทางแพ่ง จำเลยไม่ต้องเดินทางมาศาลด้วยตัวเองก็ได้

หลังฟังคำพิพากษา นายธนกร เผยว่า ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้อง โดยเห็นว่าการกระทำของนายเริงชัยไม่ได้เป็นการกระทำละเมิด และไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายกว่า 1.8 แสนล้านบาท เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงถือว่าผลคดีเป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลฎีกา

ขณะที่นายนพดล หลาวทอง ทนายความของนายเริงชัยกล่าวว่า ผลคดีเป็นที่ยุติแล้วว่านายเริงชัยไม่ได้กระทำการให้เสียหายตามฟ้อง และว่า ยังไม่เคยมีการหารือกับนายเริงชัยว่าจะดำเนินคดีกับบุคคลหรือหน่วยงานใดที่สอบคดีนี้จนมีการกล่าวหานายเริงชัยหรือไม่ วันนี้ถือว่าเป็นการล้างมลทินแล้วที่ต้องต่อสู้คดีมายาวนานถึง 15 ปี โดยนายเริงชัยไม่เคยถูกกล่าวหาคดีทางอาญาว่าทุจริต เพียงแต่มีการเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง ซึ่งการสู้คดีได้ยืนยันแล้วว่านายเริงชัย ได้กระทำตามหน้าที่ขณะนั้นอย่างระมัดระวังที่สุดแล้ว

อนึ่ง คดีนี้อัยการยื่นฟ้องเมื่อ 12 ธ.ค. 2544 ว่า ขณะนายเริงชัยเป็นผู้ว่าการ ธปท. และกรรมการกองทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ในปี 2539-2540 ได้อนุมัติให้นำเงินทุนสำรองทางการ แทรกแซงในตลาดเงินตราเพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท ทำให้ ธปท.ต้องรับภาระส่งมอบเงินดอลลาร์ จากการทำธุรกรรมขายดอลลาร์ในตลาดเงินตราคิดเป็นเงินบาทถึง 193,812.59 ล้านบาท แต่เนื่องจากการทำธุรกรรมซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (สวอป) ในช่วงวันที่ 1 พ.ย. 2539 - 30 มิ.ย. 2540 มีผลกำไร 7,298.771 ล้านบาท หักออกจากความเสียหายทั้งหมดแล้ว จำเลยต้องรับผิดชดใช้ในส่วนที่ขาดทุนในการทำธุรกรรมดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้น 185,953,740,000 บาท นับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 62,090,720 บาท รวมทั้งสิ้นเป็นทุนทรัพย์ที่ฟ้องเป็นเงิน 186,015,830,720 บาท

โดยศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2548 ให้นายเริงชัย จำเลยใช้เงิน 185,953,740,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย. 2541 แก่ ธปท.โจทก์ที่ 1 และยกฟ้องกองทุนฯ โจทก์ที่ 2 เนื่องจากไม่มีหน้าที่ทำธุรกรรมค่าเงินบาท ซึ่งนายเริงชัยได้ยื่นอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2553 ให้ยกฟ้องนายเริงชัย เนื่องจากเห็นว่าการกระทำของนายเริงชัยขณะนั้นไม่ได้เป็นการกระทำโดยประมาท แต่เป็นไปตามวิสัยที่เกิดขึ้นขณะนั้นตามความเหมาะสม และการพิจารณาถึงมาตรการใดๆ ก็ได้หารือในคณะ ไม่ใช่การตัดสินใจด้วยความประมาทเลินเล่อเพียงลำพัง

5.อัยการเลื่อนสั่งคดี “ศุภชัย-ธัมมชโย” กับพวกรวม 5 คน เป็นครั้งที่ 4 คดีฟอกเงิน อ้างได้รับผลสอบจากดีเอสไอยังไม่ครบ นัดใหม่ 7 พ.ย.!

(บน) พระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ถูกศาลออกหมายจับ 2 ใบ คดีฟอกเงิน-รับของโจร และรุกป่า จ.เลย (ล่าง) นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์ฯ คลองจั่น ผู้ต้องหาคดีฟอกเงินและรับของโจร
เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ร.ท.สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้เผยแพร่เอกสารแถลงข่าวการเลื่อนนัดสั่งคดีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานบริหารสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ต้องหาที่ 1 และพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ผู้ต้องหาที่ 2 กับพวกรวม 5 คน กระทำความผิดฐานสมคบกันฟอกเงิน และรับของโจร

ทั้งนี้ อัยการอ้างเหตุในการเลื่อนสั่งคดีว่า เนื่องจากพนักงานอัยการ คณะทำงานคดีนี้ยังได้รับผลการสอบสวนเพิ่มเติมจากพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไม่ครบถ้วน อีกทั้งเอกสารในสำนวนคดี และเอกสารเพิ่มเติมที่พนักงานสอบสวนส่งให้อัยการพิจารณามีจำนวนมาก และเนื้อหามีความสลับซับซ้อน ประกอบกับคดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน โดยมีผู้เสียหายที่ได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก และมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนสูงมาก พนักงานอัยการ คณะทำงานต้องใช้ความละเอียดรอบคอบในการพิจารณาสำนวนและสั่งคดีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และเพื่อให้เกิดความกระจ่างแก่สังคม พนักงานอัยการจึงเลื่อนการสั่งคดีนี้ออกไปก่อน และนัด น.ส.ศรัณยา มานหมัด ผู้ต้องหาที่ 3 และนางทองพิน กันล้อม ผู้ต้องหาที่ 4 ที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว มารายงานตัวเพื่อฟังคำสั่งคดีในวันที่ 7 พ.ย.นี้ เวลา 10.00 น.

เป็นที่น่าสังเกตว่า การเลื่อนสั่งคดีนี้ของอัยการ นับเป็นครั้งที่ 4 แล้ว ตั้งแต่พนักงานอัยการได้รับสำนวนการสอบสวนจากดีเอสไอเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยขณะนี้นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น ยังคงถูกคุมขังในเรือนจำฯ ในคดีที่ถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 8 กระทง 32 ปี คดียักยอกทรัพย์สหกรณ์ฯ, พระเทพญาณมหามุนี หรือนายไชยบูรณ์ สุทธิผล หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ถูกออกหมายจับ ยังติดตามตัวมาไม่ได้, น.ส.ศรัณยา มานหมัด, นางทองพิน กันล้อม มอบตัวแล้ว อยู่ระหว่างปล่อยตัวชั่วคราว และนางศศิธร โชคประสิทธิ์ ถูกออกหมายจับ ยังติดตามตัวมาไม่ได้ ซึ่งเป็นผู้ต้องหาที่ 1-5

6.ศาลไต่สวนคำร้องอัยการขอถอนประกัน 5 แกนนำ นปช.ทำผิดเงื่อนไขปล่อยตัวชั่วคราวคดีก่อการร้ายแล้ว นัดฟังคำสั่ง 11 ต.ค.นี้!

5 แกนนำ นปช.ที่ถูกอัยการยื่นศาลขอถอนประกัน ประกอบด้วย นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นพ.เหวง โตจิราการ และนายนิสิต สินธุไพร
เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ศาลอาญาได้นัดไต่สวนคำร้องของพนักงานอัยการคดีพิเศษ 1 ที่ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาสั่งเพิกถอนการปล่อยชั่วคราว 5 แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ประกอบด้วย นายวีระ หรือวีระกานต์ มุสิกพงศ์, นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นพ. เหวง โตจิราการ และ นายนิสิต สินธุไพร จำเลยในคดีร่วมกันก่อการร้าย ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์

ทั้งนี้ ศาลได้สอบถามจำเลยทั้งห้าว่า ได้อ่านและทราบคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวของโจทก์แล้ว ยอมรับว่าได้มีการพูดออกอากาศผ่านรายการทีวีพาดพิงเกี่ยวกับเรื่องสมเด็จพระสังฆราช, อุทยานราชภักดิ์ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการยั่วยุปลุกปั่นให้บ้านเมืองเกิดความไม่สงบอันเป็นพฤติการณ์ผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวที่ทำไว้กับศาลหรือไม่ ซึ่งนายจตุพรได้เป็นตัวแทนแถลงต่อศาลว่า ได้ทราบคำร้องของกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ที่ร้องต่อพนักงานอัยการคดีพิเศษแล้วยอมรับว่า ตนและพวกได้พูดถ้อยคำเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวออกอากาศผ่านรายการจริง แต่คำพูดที่ตนและจำเลยที่ถูกยื่นถอนประกัน เป็นการแสดงความเห็นแสดงความห่วงใยในการบริหารบ้านเมือง และเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ติชมโดยสุจริตในฐานะประชาชนผู้ห่วงใยประเทศ ไม่เคยพูดในลักษณะยุยง แต่พูดให้ประชาชนอยู่ในความสงบ และว่า ถ้าเห็นว่าการกระทำของพวกตนมีลักษณะพาดพิงกระทบกับบุคคลใด ก็มีกฎหมายเรื่องการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทที่บุคคลนั้นจะใช้สิทธิยื่นฟ้อง หรือหากเห็นว่าก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ดีเอสไอและอัยการสามารถยื่นฟ้องพวกตน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ได้ แต่ในความจริง ยังไม่ปรากฏว่ามีการแจ้งความฟ้องร้องดำเนินคดีตนในความผิดฐานก่อความไม่สงบและสร้างความวุ่นวายแต่อย่างใด

ด้านศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ในเมื่อจำเลยทั้ง 5 คน ยอมรับข้อเท็จว่าได้มีการกล่าวพูดออกทีวีจริง แต่เป็นการดำเนินรายการปกติไม่มีการยั่วยุให้เกิดความวุ่นวาย และไม่มีเจตนาละเมิดหรือผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวที่ให้ไว้กับศาล ข้อเท็จจริงโจทก์จึงฟังได้เป็นที่ยุติและไม่ต้องไต่สวนพยานอีก แต่โจทก์ได้แถลงนำส่งพยานซึ่งเป็นซีดีบันทึกรายการทีวีที่พวกจำเลยจัด ส่งให้ศาล ซึ่งศาลจะวินิจฉัยเนื้อหาในแผ่นซีดีว่า การพูดออกรายการของจำเลยทั้งห้า เป็นการยุยงปั่นป่วนให้เกิดความวุ่นวายอันเป็นการผิดเงื่อนไขและเพียงพอที่จะให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ พร้อมนัดฟังคำสั่งว่า จะเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งห้าหรือไม่ ในวันที่ 11 ต.ค.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น