อดีตกรรมการเนชั่น ร้องขอความเป็นธรรม กรณีสำนักงาน ก.ล.ต.ให้พ้นตำแหน่งเพราะขาดความน่าไว้วางใจ ชี้เป็นคำสั่งที่ไม่มีความชอบธรรม ไม่เปิดโอกาสให้ชี้แจง ขาดหลักการกำกับดูแลที่ดี และมีมุมมองแตกต่างจากศาลอย่างสิ้นเชิง
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่ข่าวฉบับที่ 95/2559 เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2559 เพื่อแจ้งว่ากรรมการบริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (NMG) ชุดเดิมทั้งคณะจำนวน 8 ราย เป็นบุคคลที่ขาดความน่าไว้วางใจที่จะให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการต่อไป ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้บุคคลทั้ง8 ราย ต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทุกบริษัทที่ตนเองดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบันในทันทีแล้ว บุคคลทั้ง 8 ยังถูกห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ หรือผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนอื่นๆ ทุกบริษัทอีกด้วย จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์
ทั้งนี้ กรรมการ บริษัทเนชั่นกรุ๊ป ชุดเดิมทั้งคณะจำนวน 8 รายประกอบด้วย 1) นายสุทธิชัย แซ่หยุ่น 2) นายเสริมสิน สมะลาภา 3) นางสาวดวงกมล โชตะนา 4) นายปกรณ์ บริมาสพร 5) นายเชวง จริยะพิสุทธิ์ 6) นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ 7) นางสาวเขมกร วชิรวราการ และ 8) นายพนา จันทรวิโรจน์ ซึ่งในปัจจุบันนายสุทธิชัย แซ่หยุ่น นายปกรณ์ บริมาสพร และนายเชวง จริยะพิสุทธิ์ ไม่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการของเนชั่นกรุ๊ปแล้ว แต่ยังคงได้รับผลกระทบโดยตรงจากประกาศขาดคุณสมบัติของ ก.ล.ต. โดยกรณีของนายปกรณ์ ต้องออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริหารและประธานกรรมการตรวจสอบของบริษัท ไลท์ติ้งแอนด์ อีควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (L&E) และบริษัท พรพรหมแม็ททอล จำกัด (มหาชน) (PPM) ในทันที
การประกาศขาดคุณสมบัติกรรมการของเนชั่นกรุ๊ปยกชุดของ ก.ล.ต.ครั้งนี้ ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัวของกรรมการแต่ละคน แต่การที่กรรมการและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจำนวน 5 คนต้องพ้นจากตำแหน่งในทันที คงเหลือกรรมการบริษัทที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งใหม่เพียง 2 ท่านคือ นายวัชรา ตันตริยานนท์ และ นางพิจิตรา มหาพล ยังส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการของเนชั่นกรุ๊ป
โดยตรงทั้งในเรื่องของเครดิตและสินเชื่อจากธนาคาร การดำเนินธุรกิจปกติที่ต้องหยุดชะงัก สร้างความเสียหายต่อเนื่องต่อธุรกิจของกลุ่มบริษัท นอกจากนี้ กรรมการที่เหลืออยู่เพียง 2 ท่านไม่เพียงพอที่จะจัดประชุมคณะกรรมการบริษัทให้ครบองค์ประชุมเพื่อกระทำกิจการใดๆ ได้ตามกฎหมายอีกด้วย จากเหตุการณ์ที่ ก.ล.ต. แบล็คลิสต์ กรรมการเนชั่นกรุ๊ป ยกชุดครั้งนี้เป็นเรื่องที่บริษัทเนชั่น ไม่เข้าใจเป็นอย่างยิ่งว่าเหตุใด ก.ล.ต. ถึงมีมุมมองต่อการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการชุดเดิมของเนชั่นกรุ๊ป ทั้ง 8 รายว่ามีความบกพร่องร้ายแรงถึงขนาดที่ต้องถือว่าขาดความน่าไว้วางใจที่จะให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการบริษัทได้ต่อไป
คำแถลงของกรรมการเนชั่นกรุ๊ป ตั้งคำถามต่อคำสั่งของ ก.ล.ต. โดยระบุว่า “มุมมองของ ก.ล.ต. แตกต่างจากศาลได้อย่างไร ทั้งที่เป็นเหตุการณ์เดียวกัน” เนื่องจากศาลจังหวัดพระโขนงได้มีคำพิพากษาในวันที่ 6 ต.ค.2559 ในคดีที่ผู้ถือหุ้นฟ้องกรรมการชุดเดิมของ เนชั่นกรุ๊ปทั้ง 8 ราย ซึ่งศาลตัดสินหลังจากที่ได้ฟังพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายแล้วว่า กรรมการชุดเดิมทั้ง 8 รายไม่ได้มีส่วนร่วมในการสั่งห้ามผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุม และไมได้กระทำการอันใดที่ถือเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ จึงไม่ต้องรับผิดและไม่มีเหตุให้ต้องออกจากการเป็นกรรมการของบริษัท
ขณะที่ทางด้าน ก.ล.ต. เองในช่วงที่ผ่านมาก็ร้องทุกข์กล่าวโทษเฉพาะ นายณิทธิมน เพียงคนเดียวเท่านั้น และได้ชี้แจงต่อบุคคลทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องบนจุดยืนที่ ก.ล.ต. เห็นว่า กรรมการชุดเดิมทั้ง 8 รายไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และไม่ได้มีกรณีที่ถือว่าเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่กรรมการตามกฎหมาย
“ในแง่ของกระบวนการตรวจสอบและสอบทานของ ก.ล.ต. การแบล็คลิสต์ครั้งนี้ ยิ่งเป็นเรื่องที่เราชาวเนชั่น ไม่สามารถยอมรับได้ เพราะ ก.ล.ต. ได้หยิบยกกรณีแบล็คลิสต์ขึ้นพิจารณาใหม่ สืบเนื่องจากการสั่งฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการ โดยได้ประสานงานกับสำนักงานอัยการ หารือกับผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย และได้วินิจฉัยดำเนินการไปว่าบุคคลดังกล่าวสมควรต้องแบล็คลิสต์ ทั้งที่ ก.ล.ต. เองก็ยอมรับว่าการดำเนินการครั้งนี้เป็นการดำเนินการกับผู้ที่ ก.ล.ต. มิได้กล่าวโทษโดยตรงด้วย”
คณะกรรมการเนชั่นกรุ๊ป ยังแถลงด้วยว่า ที่ผ่านมาไม่ปรากฏว่าสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ตรวจสอบข้อมูลหรือข้อเท็จจริงใดๆ จากบุคคลที่โดนแบล็คลิสต์ทั้ง 8 ราย และไม่มีการเรียกให้ไปชี้แจงเพิ่มเติม หรือนำเสนอข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาของเลยแม้แต่น้อย การกระทำเช่นนี้เป็นการไม่เปิดโอกาสให้บุคคลที่ถูกบังคับใช้กฎหมายได้มีโอกาสพิสูจน์หักล้างข้อเท็จจริง หรือข้อสงสัยของ ก.ล.ต. ซึ่งขัดต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลในกระบวนการบังคับใช้กฎหมายอย่างสิ้นเชิง
ในประเด็นนี้ คณะกรรมการเนชั่นกรุ๊ป ขอยกข้อความเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายซึ่งระบุชัดเจนอยู่บนเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. เองด้วยซ้ำ เพื่อให้ร่วมพิจารณาว่าเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ กรรมการเนชั่นกรุ๊ปได้รับความเป็นธรรมแค่ไหนเพียงใด
*การบังคับใช้กฎหมาย*
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายผ่านช่องทางใด สำนักงาน ก.ล.ต. ดำเนินการบนพื้นฐานของกฎหมายและพยานหลักฐานที่ปรากฏ โดยคำนึงถึงสิทธิของบุคคลที่ถูกกล่าวหาในการที่จะมีโอกาสได้ชี้แจง แสดงพยานหลักฐานต่อสำนักงาน ตลอดจนได้วางกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลภายในองค์กรไว้รัดกุมตามสมควร ได้แก่ การมีคณะกรรมการตรวจสอบ และฝ่ายตรวจสอบกิจการภายใน ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำหน้าที่สอบทานรายงานการเงินและข้อมูลทางการเงินของสำนักงานเท่านั้น แต่ยังมีอำนาจหน้าที่ในการทบทวนและให้ความเห็นต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. เกี่ยวกับระบบการควบคุมภายใน ทบทวนและสอบทานการปฏิบัติตามกฎระเบียบ กำกับดูแลหน่วยงานตรวจสอบภายใน และปฏิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ด้วย นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการด้านตรวจสอบและคดี ซึ่งประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงและผู้อำนวยการจากหลายส่วนงานร่วมพิจารณาให้ความเห็นก่อนเสนอเรื่องต่อในระดับสำนักงานซึ่งเลขาธิการมิได้อยู่ในคณะกรรมการดังกล่าว และหากเป็นกรณีที่ต้องพิจารณาปัญหาทางเทคนิคเฉพาะด้าน สำนักงาน ก.ล.ต. ยังมีการแต่งตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเข้ามาให้ความเห็นในเชิงเทคนิค เช่น ด้านวิชาชีพผู้สอบบัญชี การปฏิบัติหน้าที่ของที่ปรึกษาทางการเงิน เป็นต้น”
(อ้างอิงข้อมูลที่มาจาก http://www.sec.or.th/TH/Enforcement/Pages/backup/LawEnforcement.aspx )
คณะกรรมการเนชั่น ได้มอบหมายให้ที่ปรึกษากฎหมายตรวจสอบ และให้ความเห็นว่าการแบล็คลิสต์ของ ก.ล.ต. ซึ่งไม่สอดคล้องกับคำพิพากษาของศาลจะมีผลอย่างไร รวมถึงสิทธิทางกฎหมายของกรรมการที่โดน แบล็คลิสต์ ทั้ง 8 รายในทางกฎหมายด้วย โดยในเบื้องต้นกรรมการทั้ง 8 รายจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งการขาดคุณสมบัติ ต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. ต่อไปซึ่งเชื่อว่าจะได้รับความเป็นธรรม