โฆษกศาลปกครองเผย “บุญทรง-ยิ่งลักษณ์” มีสิทธิยื่นฟ้องศาลปกครองขอเพิกถอน-ทุเลาชดใช้ค่าเสียหายจำนำข้าวภายใน 90 วัน ระบุการพิจารณาไม่จำเป็นต้องรอผลคดีอาญา ชี้จำเป็นต้องมีหน่วยงานคานอำนาจ ป.ป.ช. เพื่อความเป็นธรรม
วันนี้ (30 ก.ย.) นายสมชาย งามวงศ์ชน ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด ในฐานะโฆษกศาลปกครอง กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้คำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงพานิชย์ที่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ชดใช้ค่าเสียหายกรณีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวมายังศาลปกครอง ซึ่งนายบุญทรง และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ สามารถยื่นฟ้องได้ภายใน 90 วันนับแต่ได้รับคำสั่งของกระทรวงพาณิชย์ และถ้ามีการฟ้องแล้วศาลก็จะดำเนินการพิจารณาคำร้องเต็มขั้นตอน โดยถ้ามีการขอทุเลาการบังคับคดี ศาลก็ยังจะให้ฝ่ายหน่วยราชการได้ส่งเอกสารชี้แจง ให้ตุลาการผู้แถลงคดีได้เสนอความเห็นส่วนตัวประกอบเช่นเดิม แม้ว่าขณะนี้จะมีการแก้กฎหมายลดขั้นตอนบางประการเพื่อให้การพิจารณาคำร้องเร็วขึ้นในกรณีที่เรื่องนี้มีความจำเป็นฉุกเฉินก็ตาม แต่กรณีนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งคาดว่าถ้ามีการยื่นคำร้อง และคำขอทุเลาการบังคับคดีศาลคงใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการพิจารณาว่าจะให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งไว้ก่อนหรือไม่ และแม้เรื่องดังกล่าวจะมีการฟ้องเป็นคดีอาญาไว้ในศาลยุติธรรมก็ไม่มีผลให้ศาลปกครองต้องรอผลในคดีอาญา โดยศาลปกครองสามารถพิจารณาไปได้เลยเพราะมีประเด็นพิจารณาเพียงว่าคำสั่งกระทรวงพานิชย์ออกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
เมื่อถามว่าหากในคดีอาญามีคำพิพากษายกฟ้องนายบุญทรงจะมีผลต่อคำสั่งให้ชดใช้อย่างไร นายสมชายกล่าวว่า ตามหลักแล้วคำสั่งทางแพ่งต้องดูผลของคดีอาญา แต่ในกรณีคำสั่งบังคับทางแพ่งอาจต้องแยกเพราะอาจมีปัญหาให้ต้องวินิจฉัยว่าคดีอาญาที่ยกฟ้องไปนั้นมีความผิดฐานประเมินเลินเล่อหรือเปล่า ทำให้ต้องแยกกัน ซึ่งนายบุญทรงก็อาจจะนำข้อเท็จจริงในคดีอาญามาต่อสู้ในศาลปกครองก็ได้
ส่วนที่หัวหน้า คสช.มีคำสั่งให้กรมบังคับคดีดำเนินการเรื่องการบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ทันทีนั้นเป็นเรื่องของการให้แนวทางกับกรมบังคับคดี แต่ถ้ามีการฟ้องคดีและศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับคดี กรมบังคับคดีก็ต้องหยุดดำเนินการไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
นายสมชายกล่าวถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ป.ป.ช.มีอำนาจพิจารณาเฉพาะคดีทุจริต โดยไม่รวมคดีวินัยข้าราชการตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดนั้นถูกต้องหรือไม่ ว่า เรื่องดังกล่าวมีการถกเถียงกันมาตลอด แต่ขณะนี้มีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว และมีการยื่นต่อศาลปกครองให้รื้อคดีใหม่ จึงขอไม่ออกความเห็นเพราะจะกลายเป็นการก้าวล่วงการวินิจฉัย แต่ส่วนตัวอยากให้ข้อสังเกตว่า ถ้ามีข้าราชการกระทำต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือการยุติธรรม แล้วมีการส่งเรื่องให้สอบสวน ซึ่งทำได้ 2 ทาง 1. หน่วยงานต้นสังกัดของข้าราชการดังกล่าวสอบ ถ้าผิด ผู้ถูกกล่าวหาสามารถอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม และยื่นต่อศาลปกครองสู้คดีได้ 2. ถ้า ป.ป.ช.สอบซึ่งผิดได้ทั้งอาญาและวินัย หากพบว่าผิดอาญาก็จะส่งให้อัยการฟ้องต่อศาล ผู้ถูกกล่าวหาสามารถสู้คดีพิสูจน์ในชั้นศาลได้ แต่ในทางวินัยเมื่อ ป.ป.ช.ชี้มูลแล้วหน่วยงานจะปฏิบัติตามการชี้มูล โดยผู้ถูกกล่าวหาไม่สามารถไปยื่นอุทธรณ์ต่อใครได้เลย จะเกิดคำถามว่ามันเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาหรือไม่ ซึ่งตนมองว่าการชี้มูลโดยไม่สามารถโต้แย้งได้จะเกิดการลักลั่น คนคนหนึ่งทำความผิดเหมือนกันแต่การสอบและการแสวงหาความจริงแตกต่างกัน ผลที่ออกมาก็ย่อมแตกต่างกันได้
“เรื่องนี้มันเป็นปัญหาเหมือนกัน ถ้าในคดีวินัยเขาโดน ป.ป.ช.ชี้มูล หน่วยงานต้นสังกัดไล่ออกจากราชการไปแล้ว แต่ต่อมาในคดีฟ้องอาญาผู้ถูกกล่าวหาเขาชนะศาลยกฟ้อง ถามว่าแล้วจะทำยังไงเพราะชีวิตราชการจบแล้วโดนไล่ออก จะอุทธรณ์กับใครก็ไม่ได้”