xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.กกต.เซ็น กม.ลูกเลือกตั้ง 26 ก.ย.เพิ่มโทษ ขรก.เมินช่วย ให้อำนาจจับคนโกง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (แฟ้มภาพ)
ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงาน กกต.เผยประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เตรียมลงนามกฎหมายลูกเลือกตั้ง ชง กรธ.จันทร์นี้ พร้อมแจงต่อ 29 ก.ย.ให้ 5 กกต.คงตำแหน่งจนครบวาระ ส่วนที่เพิ่มมาอีก 2 ให้สรรหาตาม รธน.ใหม่ ส่วน กกต.จว.มี 5 คน เพิ่มโทษอาญา ขรก.เมินคำสั่งทำเลือกตั้งเสียหาย ให้ฝ่ายปกครองมีอำนาจจับคนทำผิดได้ จัดคุ้มครองพยาน ตั้งกองทุนป้องกันโกงใช้เป็นรางวัลนำจับ 3 หมื่น-1 แสนบาท

วันนี้ (23 ก.ย.) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง แถลงว่าประธาน กกต.จะลงนามร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และเสนอต่อกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในวันจันทร์ที่ 26 ก.ย. จากนั้น กกต.ก็จะเข้าหารือเพื่อชี้แจงความเป็นมาของร่างดังกล่าวกับ กรธ.ในวันที่ 29 ก.ย.

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.ป.กกต.ที่ที่ประชุม กกต.เห็นชอบมีหลักการใหม่ในเรื่องของ กกต.กลางให้ กกต. 5 คนดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระ ส่วน กกต.ใหม่ 2 คน ให้มีการสรรหาตามร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติมาตรา 222 วรรคหนึ่ง (1) หรือจากคณะกรรมการสรรหาภายใน 45 วันนับแต่วันที่ร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าวใช้บังคับ โดยการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.นั้นใช้คะแนนเสียงข้างมากในการลงมติ หากมี กกต.พ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ หรือยังไม่มีการแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้ กกต.ที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่หากเหลืออยู่ไม่ถึง 4 คนให้กระทำได้เฉพาะการที่จำเป็นอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่ กกต.จว.ให้มี 5 คน โดยพิจารณาแต่งตั้งบุคคลนั้นให้คำนึงถึงประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญในด้านการเมืองการเลือกตั้ง ด้านกฎหมายหรือสืบสวน ด้านความมั่นคงในพื้นที่และความรู้ประชาธิปไตยแก่ประชาชน และด้านภาคประชาสังคมเพื่อความหลากหลาย นอกจากนี้ ข้าราชการ พนักงานลูกจ้างที่ กกต.มีคำสั่งให้มาช่วยงานเลือกตั้ง หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง กกต.จนทำให้การเลือกตั้งเสียหาย นอกจากต้องรับโทษทางวินัยแล้วยังจะต้องมีโทษทางอาญาด้วย

ในด้านการสืบสวนไต่สวน ให้ประธาน กกต., กกต. หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่มีอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญาที่สามารถตรวจค้น จับกุมได้กรณีพบเห็นการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ให้พยานในคดีเลือกตั้งได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองพยาน และหากพยานคนใดให้ถ้อยคำหรือแจ้งเบาะแสข้อมูลสำคัญที่เป็นหลักฐานต่อการวินิจฉัยการกระทำผิด กกต.อาจไม่ดำเนินคดีได้อีกทั้งยังจะมีการตั้งกองทุนป้องกันปราบปรามการทุจริตเลือกตั้ง โดยรัฐบาลประเดิมทุนให้และประชาชนบริจาคผ่านการแสดงตนจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีละ 100 บาท ซึ่งสามารถนำไปลดหย่อนการจ่ายภาษีประจำปีได้ ซึ่งเงินกองทุนนั้นจะใช้เป็นรางวัลสินบนนำจับ ให้แก่ผู้แจ้งเบาะแสที่นำไปสู่การที่ศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยถ้าเป็นเบาะแสเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. หรือผู้บริหารท้องถิ่นจ่ายตั้งแต่ 5 หมื่นถึง 1 แสนบาท ผู้บริหารท้องถิ่น 3 หมื่นถึง 8 หมื่นบาท

ทั้งนี้ กกต.เชื่อว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะช่วยให้การทำงาน กกต.ในหาพยานหลักฐานเกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้งทำให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้นขณะที่ปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงที่มีมาแต่อดีตแก้ไขไม่ได้ การให้สินบนแจ้งเบาะแสทุจริตก็น่าทำให้ปัญหาดังกล่าวหมดไปจากประเทศได้


กำลังโหลดความคิดเห็น