xs
xsm
sm
md
lg

รองนายกฯ ชี้ กม.ขัดประโยชน์ฟันแค่ 4 ชั่วโคตร ชี้ ลูกผู้มีอำนาจรับงานได้แต่เจ้าตัวจะเซ็นเองไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
รองนายกรัฐมนตรี เผย ศาลอาญาคดีทุจริตฯ เริ่ม 3 ต.ค. ใช้ระบบไต่สวน แย้มถ้านิยมจะเปิดตามภาค แจง พ.ร.บ. ขัดประโยชน์ส่วนรวม เล่นงานแค่ 4 ชั่วโคตร ฟันข้าราชการพ่วง ลูก พ่อแม่ และ พี่น้อง แล้วแต่เอื้อใคร ตอบไม่ได้เอาอยู่หรือไม่ แต่ทำให้คนกลัวได้ ถ้าทำต้องเนียนกว่าเดิม ยันไม่ได้เข้มขนาดห้ามชาร์จแบตมือถือ บอกกรณีลูก “บิ๊กติ๊ก” คนละเรื่อง ชี้ ลูกผู้มีอำนาจรับงานไม่มีปัญหา แต่จะเซ็นให้เองไม่ได้ ป้องเมียปลัดกลาโหม ขอใช้เครื่องบินได้ แต่ความผิดจะอยู่ที่คนให้ด้วย

วันนี้ (22 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 12.00 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ว่า จะมีการเปิดดำเนินการในวันที่ 3 ต.ค. โดยขอบข่ายคดีจะกำหนดไว้ชัดเจน อาทิ ความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ. ฮั้ว) ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ความผิดตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และบางคดีที่อยู่ในศาลยุติธรรมจะมีการถ่ายโอนเข้ามา แต่บางคดีให้พิจารณาต่อไป แล้วแต่ความจำเป็น เพราะถ้าถ่ายโอนมาทั้งหมดคดีที่ศาลอาญา คดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางจะแน่น แล้วเรื่องใหญ่ที่ควรจะทำอาจไม่ได้ทำ โดยกระบวนการพิจารณาจะเป็นระบบไต่สวน เช่นเดียวกับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งจะมี 2 ศาล เพื่อความรวดเร็ว ส่วนการฎีกานั้น ให้เป็นดุลพินิจว่าจะอนุญาตให้ฎีกาหรือไม่ ซึ่งหากได้รับความนิยมอาจจะไปเปิดที่ภาคต่าง ๆ ได้

นายวิษณุ ยังให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดอันเกิดจากประโยชน์ส่วนตนขัดกับผลประโยชน์ส่วนรวม ว่า วันนี้เราได้หยิบขึ้นมาใหม่ในความหมายที่ไม่ถึงกับ 7 ชั่วโคตร เพียง 4 ชั่วโคตร คือ ผู้กระทำผิดเป็นโคตรที่ 1 ถ้าเอื้อประโยชน์ต่อลูกเป็นโคตรที่ 2 เอื้อประโยชน์พ่อแม่เป็นโคตรที่ 3 เอื้อประโยชน์ต่อพี่น้องเป็นโคตรที่ 4 จบแค่นี้ แต่ไม่ใช่ว่าทำผิดและไปลงโทษ 4 ชั่วโคตรเหมือนสมัยก่อน คนที่โดนคือข้าราชการคนเดียว แต่ว่าเอื้อประโยชน์ต่อใคร ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการขณะนี้ ส่งไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจ และมีการตั้งคณะพิเศษขึ้นมาเพื่อพิจารณา ซึ่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ตนเห็นว่า เป็นกฎหมายที่มีผลกระทบต่อเจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการ ถือเป็นกฎหมายปราบโกงฉบับแท้จริง จึงสมควรจะต้องดูให้รอบคอบ โดยตนได้ขอให้นำขึ้นเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนได้ดู พร้อมส่งให้กระทรวงต่าง ๆ นำไปศึกษา หากคิดว่าหนักไป เบาไป หรือไม่ชัดเจน ปฏิบัติไม่ถูก ก็ให้บอกมาเพื่อจะได้ปรับปรุงแก้ไขโดยให้เวลาประมาณเดือนเศษ และเมื่อรวบรวมความเห็นได้และแก้ไขเรียบร้อยแล้ว จะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้ง ก่อนนำเข้าสภาเพื่อแก้ไข คาดว่า จะนำเข้าสภาได้ภายในปีนี้ และสภาจะใช้เวลาจากนี้ไปประมาณ 2 เดือน

เมื่อถามว่า กฎหมายฉบับนี้จะแก้ปัญหาการคอร์รัปชันได้แบบเอาอยู่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เราตอบไม่ได้ว่าเอาอยู่หรือไม่อยู่ อย่างน้อยก็จะทำให้คนหวาดกลัวว่ามีเครื่องเอกซเรย์เราอยู่ มีคนจ้องจับผิดอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าคุณจะทำต้องทำให้แนบเนียนและระมัดระวังกว่าเดิม และไม่ใช่เรื่องที่จะไปเล่นงานเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วเรื่องใหญ่ ๆ ตัวใหญ่ ๆ รอดได้ แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวไม่ได้เข้มงวดจนถึงขนาดซองจดหมายตราครุฑใบเดียวก็ใช้ไม่ได้ ชาร์จโทรศัพท์นิดหน่อยก็ใช้ไม่ได้ เพราะมันมีข้อยกเว้นอะไรหลายอย่าง ถ้าอะไรเล็กน้อยก็ให้โอกาส ครม. หรือกระทรวงออกระเบียบได้ว่าขนาดนี้ยอมให้ทำ ขนาดนี้ไม่ยอมให้ทำ และในกฎหมายนี้ยังรวมถึงใครไปเสนอโปรเจกต์อะไรเป็นประโยชน์ต่อตัวเองมากกว่าประโยชน์ต่อส่วนรวม คือ ถ้าเป็นประโยชน์ต่อส่วนตัว 100 เปอร์เซ็นต์ ซวยแน่ แต่ถ้าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมด้วย แต่ของตัวเองได้ประโยชน์มากกว่า คนที่เสนอโปรเจกต์เหล่านี้ก็มีความผิดด้วย

“อย่างการรับของต่อไปจะเข้มงวดมาถึงข้าราชการด้วย ถ้ารับมาแล้วบอกว่ารับส่วนตัวแต่เกินอัตราราคาที่กำหนด ใครได้รับไว้ต้องส่งคืนราชการใน 30 วัน ถ้าส่งคืนถือว่าไม่ผิด ถ้าไม่ส่งผิด ถ้าไม่แน่ใจราคาให้ส่งไปก่อน แล้วค่อยตรวจสอบภายหลัง ทั้งหมดอยู่ในกฎหมายฉบับนี้” นายวิษณุ กล่าว

เมื่อถามว่า ถึงกรณีมีชื่อบุตรชาย พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม น้องชายนายกรัฐมนตรี มีผู้ถือหุ้นของบริษัทที่เข้ามารับทำโครงการของกองทัพภาคที่ 3 นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ยังไม่ออกมาบังคับใช้ และถึงจะบังคับใช้แล้ว จะผิดหรือไม่ผิดข้อเท็จจริงตนไม่รู้

เมื่อถามว่า กรณีคนรับงานมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจ นายวิษณุ กล่าวว่า ตรงนี้ไม่ได้มีปัญหา ไม่อย่างนั้นคนนามสกุลเดียวกับคนที่มีอำนาจก็ไม่ต้องทำมาหากินอะไร เพราะคนที่มีอำนาจในการอนุมัติโครงการนั้น จะต้องไม่มีส่วนได้เสียกับโครงการนั้น ต่อให้เป็นลูกหรือญาติเสนอเรื่อง และเจ้าตัวเป็นผู้มีอำนาจในการเซ็นอนุมัติ เจ้าตัวจะเซ็นไม่ได้ ต้องให้คนอื่นเป็นผู้เซ็นอนุมัติ เพื่อเขาจะได้ใช้ดุลพินิจ เจ้าตัวก็ต้องมีน้ำใจไม่ลงไปเซ็นอนุญาต หรือไม่อนุญาต

เมื่อถามถึงกรณี ภริยา พล.อ.ปรีชา ขอใช้เครื่องบินหลวง นายวิษณุ กล่าวว่า ใครก็ยืมได้ อยู่ที่ดุลพินิจของคนให้อนุญาต ซึ่งความผิดจะอยู่ที่คนให้อนุญาตเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น