รองประธาน สนช.บอกไม่เรียก “บิ๊กติ๊ก” สอบจริยธรรม ระบุเป็นเรื่องคู่สมรส ขณะเดียวกัน ไม่ขัด สปท.ขอร่วมใน กมธ.พิจารณาร่างกฎหมายลูกรัฐธรรมนูญ
นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 ในฐานะประธานคณะกรรมการจริยธรรม สนช. กล่าวถึงเรื่องที่มีการยื่นร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะสมาชิก สนช. และบุคคลระดับนายพลอีก 3 คน กรณีอำนวยความสะดวกให้นางผ่องพรรณ จันทร์โอชา นายกสมาคมภริยาข้าราชการสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ระหว่างการเดินทางเป็นประธานสร้างฝายชะลอน้ำที่อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ว่า สนช.จะยังไม่เรียกให้ พล.อ.ปรีชามาสอบเรื่องจริยธรรม เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของคู่สมรส ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของสมาชิก สนช.โดยตรง เราคงไม่หยิบมาพิจารณาเองหากไม่มีผู้ร้องเข้ามา แต่หากมีผู้ร้องต้องมาหารืออีกครั้งว่าเข้าข่ายที่ สนช.จะนำมาพิจารณาได้หรือไม่
นายพีระศักดิ์ยังกล่าวถึงกรณีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. ท้วงติงเจตนารมณ์ของมาตรา 107 เรื่องที่มา ส.ว.ในร่างรัฐธรรมนูญว่าสับสน ลักลั่น เกิดการบล็อกโหวตว่า งานหลักของ สปท.คือการปฏิรูปประเทศให้สำเร็จทั้ง 11 ด้าน การร่างกฎหมายลูกเรื่องที่มา ส.ว.เกี่ยวข้องกับด้านการเมืองโดยตรง สปท.การเมืองจึงเสนอไป เป็นเรื่องธรรมดา สนช.เองยังไม่ถึงเวลาหารือเรื่องนี้ แต่เคยเสนอไปที่ กรธ.ให้สรรหา ส.ว.ทั้งหมด แต่ กรธ.ก็เขียนอีกแบบ ข้อท้วงติงขณะนี้ สนช.ไม่ขอก้าวล่วงให้เป็นสิทธิแต่ละคน แต่ต้องแยกแยะ รัฐธรรมนูญผ่านประชามติไปแล้วต้องตรากฎหมายให้ตรงกับเจตนารมณ์ที่ประชาชนให้มา ไม่ใช่เวลาย้อนกลับไปเถียงถึงข้อเสนอก่อนร่างรัฐธรรมนูญแล้ว
“ต่อจากนี้ใครจะเสนออะไร หรือจะแก้ไขปรับปรุงอย่างไร สนช.ไม่มีปัญหาคงทำตามขั้นตอนความเหมาะสม เพราะ สนช.ทำงานปลายน้ำ”
ส่วนกรณีนายนิกร จำนง สปท.การเมืองเรียกร้องมาว่าขอให้ สปท.เข้ามามีสัดส่วนใน กมธ.ร่วมของ สนช. หลังได้รับร่างกฎหมายลูกที่แล้วเสร็จจาก กรธ.นั้น นายพีระศักดิ์กล่าวว่า เราคุยกันแต่คงไม่กำหนดเป็นกติกา ไม่มีใครปฏิเสธข้อเสนอ สปท. เราตั้ง กมธ.วิสามัญฯ ให้คนนอกเข้ามาร่วมได้ แต่ต้องดูความเหมาะสมร่างกฎหมายลูก 4 ฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ กรธ.อาจส่งมาก่อน ไม่มีข้อบังคับข้อใดห้ามให้ สปท.เข้ามาร่วม แต่ถึงเวลานั้นไม่รู้ว่าวาระของ สปท.หมดลงหรือยัง เพราะจะหมดวาระลงหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ 120 วัน แต่ปกติ กมธ.ที่พิจารณากฎหมายลูกมีสัดส่วนไม่เกิน 15 คน ยืดหยุ่นได้ไม่เกิน 21 คน ยกตัวอย่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ยุ่งยากหน่อย ต้องระดมความเห็นกันมาก อาจมีสัดส่วนถึง 21 คนได้