xs
xsm
sm
md
lg

สปท.ชงปราบโกง บอร์ดรัฐวิสาหกิจ ขรก.พร้อมลูกเมียต้องแจงทรัพย์สิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ที่ประชุมสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)
สปท.ชงมาตรการปราบทุจริตภาครัฐ และเอกชน บอร์ดรัฐวิสาหกิจ-ข้าราชการพร้อมลูกเมียต้องแจงบัญชีทรัพย์สิน “เสรี” จี้ตรวจสอบหน่วยงานรัฐตั้งงบเผื่อโกง

ที่ประชุมสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) วันนี้ (19 ก.ย.) ได้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ 2 ฉบับ คือ การปฏิรูปมาตรการเสริมสร้างระบบการบริหารงานที่มีธรรมาภิบาลในภาครัฐ และการปฏิรูปมาตรการเสริมสร้างระบบการบริหารงานที่มีธรรมาภิบาลในภาคเอกชฟน

โดยนายอนุสิษฐ์ คุณากร กรรมาธิการฯ กล่าวว่า กมธ.มีข้อเสนอแนะให้กำหนดเป็นนโยบายเพื่อความโปร่งใสในการดำเนินงานภาครัฐที่จะต้องมีการติดตามประเมินผลทุกหน่วยงาน มีการประเมินตนเองผ่านโครงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ ป.ป.ช. รวมทั้งกำหนดบุคคลที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเพิ่มเติม นอกจากที่กฎหมายกำหนด ประกอบด้วย ผู้บริหารที่มีอำนาจอนุมัติจัดซื้อจัดจ้าง ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการ (บอร์ด) องค์กรในกำกับของรัฐ องค์การมหาชน หน่วยงานของรัฐที่มิใช่ส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ ที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. เช่น คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และคณะกรรมการประกันสังคม รวมไปถึงข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง อนุมัติอนุญาต การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐไปดำรงตำแหน่งต่างๆ

นายอนุสิษฐ์กล่าวว่า ขณะเดียวกันยังมีข้อเสนอให้ ป.ป.ช.ปรับปรุงแบบแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ให้แสดงข้อมูลรายชื่อบริษัทนอกอาณาเขตที่ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐมีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินส่วนใดส่วนหนึ่ง และการแสดงหลักฐานการจดทะเบียนบริษัท รายงานงบดุลประจำปีหรือรายละเอียดการทำธุรกรรมของบริษัทนอกอาณาเขตดังกล่าวให้ครบถ้วนด้วย นอกจากนั้นยังมีการกำหนดให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนรวมทั้งสามีหรือภรรยาและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องยื่นบัญชีรายได้ ทรัพย์สิ้นและหนี้สินทุก 1-3 ปี โดยให้ส่วนราชการต้นสังกัดเป็นผู้ดำเนินการติดตาม ตรวจสอบ เก็บข้อมูลไว้ในแฟ้มประวัติข้าราชการ และรายงานการยื่นบัญชีของข้าราชการในสังกัดเพื่อเป็นกลกลป้องกันและปราบกรมการทุจริต

นายอนุสิษ์ฐ์กล่าวว่า ทั้งนี้ ในส่วนการปฏิรูปมาตรการเสริมสร้างระบบการบริหารงานที่มีบรรษัทภิบาลในภาคเอกชน เพื่อเป็นการป้องกันการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากคุณสมบัติผู้เข้าประมูลต้องมีวงเงินตั้งแต่ 2 ล้านบาทแล้ว องค์กรเหล่านั้นต้องได้รับการรับรองเป็นแนวร่วม จากบริษัทหรือองค์กรเอกชนที่กรมบัญชีกลางขึ้นทะเบียนไว้ และเพื่อป้องกันหลีกเลี่ยงภาษีผ่านการทำธุรกรรมกับบริษัทนอกอาณาเขต กำหนดให้บุคคลหรือนิติบุคคลที่จะทะเบียนในประเทศ เปิดเผยข้อมูลรายชื่อบริษัทนอกอาณาเขตที่มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินส่วนใดส่วนหนึ่ง และแสดงหลักฐานต่อ ปปง.พร้อมทั้งเพิ่มบทลงโทษกรรมการบริษัทกรณีในการเข้าไปรู้ข้อมูลล่วงหน้าอีกด้วย

จากนั้นที่ประชุมได้เปิดให้มีการอภิปรายโดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับรายงานทั้ง 2 ฉบับ โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ สปท.กล่าวว่า ในส่วนของกาณแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ข้าราชการใหม่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วย โดยให้ยื่นไว้ที่หน่วยงานตัวเองจัดทำเป็นฐานข้อมูลไว้เพื่อจะได้ตรวจสอบได้ ทั้งนี้ข้อเสนอที่พยายามวางรูปแบบการตรวจสอบที่ไม่มีในรายงาน คือ เรื่องการตั้งงบประมาณแผ่นดินของแต่ละหน่วยงานทำไมจึงมีการคอร์รัปชันมาตลอด แสดงว่าการตั้งงบประมาณดังกล่าวเป็นการตั้งงบประมาณเผื่อโกงได้ เพราะมีพ่อค้าวาณิชออกมาเปิดเผยว่าถูกเรียกรับเงินจากหน่วยงานราชการ 20-40% พวกนี้ยอมจ่ายเงินให้ได้งาน ถ้าไม่ตั้งงบเกินจริงจะไปโกงอย่างนี้ได้หรือไม่ ในรายงานควรใส่เรื่องการตั้งงบประมาณเผื่อโกงนี้ไว้ด้วย

ด้านนายวิทยา แก้วภราดัย สปท.กล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่จะให้จัดการกับนักการเมืองเลวและข้าราชการโกง ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก แต่ขอเสนอว่าให้รายงานดังกล่าวครอบคลุมไปถึงข้าราชการระดับล่างด้วย เพราะเชื่อมั่นว่าเมื่อดำเนินการถึงข้าราชการระดับล่างแล้ว ภาคเอกชนก็ต้องทำตามด้วย

ต่อมาที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบในรายงานทั้งสองฉบับ โดย กมธ.จะนำความเห็นและข้อเสนอของสมาชิกไปปรับปรุงรายงานก่อนส่งรายงานไปยังประธาน สปท. และ ครม.ต่อไป
พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
นายนิกร จำนง ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา



นายกษิต ภิรมย์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

กำลังโหลดความคิดเห็น