สนช.ถกถอด “สุกำพล” พ้น รมว.กลาโหมยุคยิ่งลักษณ์ “ป.ป.ช.สุภา” ชี้จุ้นตั้งบิ๊กทหารขัดรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนจริยธรรมชัด สับตีความกฎหมายเลื่อนลอย แถมยังพูดเองถ้าไม่ล้วงลูกเลยก็ไม่ต้องเป็นรัฐมนตรี ยันเสียหายต่อระบบราชการทำ ขรก.วิ่งหานักการเมือง ด้านเจ้าตัวยืนยันทำถูกต้อง อ้างไม่เรียก “พิณภาษณ์” ถกโผเหตุมีหน้าที่แค่จดและอยากรักษาความลับ เผย “ประยุทธ์” พร้อม 3 ผบ.ก็เห็นชอบตั้งปลัด กห. จวกละเลยคำแจงของบิ๊กเหล่าทัพ แถมกลาโหมก็ยืนยันตั้งเองได้ ขณะที่ที่ประชุมนัดลงมติพรุ่งนี้
วันนี้ (15 ก.ย.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.00 น. การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาดำเนินกระบวนการถอดถอน พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2557 ประกอบมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 โดยเป็นการรับฟังคำแถลงการณ์ปิดสำนวนด้วยวาจาของคณะกรรมกรรมการ ป.ป.ช. ผู้กล่าวหา และ พล.อ.สุกำพล ผู้ถูกกล่าวหา โดย น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.ได้แถลงข้อกล่าวหาว่า พล.อ.อ.สุกำพล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติราชการในการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล สำนักปลัดกระทรวงกลาโหมซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (1), (2) รวมถึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยประมวลจริยธรรมข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2551 ข้อ 15 มีมูลส่อว่าจงใจในการใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2550 และขัดต่อมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง
น.ส.สุภากล่าวว่า การที่ พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวอ้างว่าการประชุมในวันที่ 17 ส.ค. 2555 เพื่อแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของสำนักปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นการประชุมชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่เป็นการปรึกษานอกรอบ เป็นคำกล่าวอ้างที่คลาดเคลื่อน เพราะการประชุมเพื่อพิจารณาแต่งตั้งจะต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบข้าราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2511 มาตรา 25 และการที่อ้างว่าตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมขึ้นตรงต่อ รมว.กลาโหม จึงมีสิทธิเสนอชื่อได้ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมฯ ข้อที่ 15 เป็นการตีความโดยที่ไม่มีกฎหมายรองรับ เป็นการตีความอย่างเลื่อนลอยในเชิงขยายอำนาจ เพื่อมีเจตนาเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการแต่งตั้ง และที่อ้างว่าการพิจารณาตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมไม่มีข้อกฎหมายหรือข้อบังคับใดให้มีบัญชีรายชื่อเป็นบัญชีเดียวกันตั้งแต่การประชุมครั้งแรก แต่การประชุมให้ความเห็นชอบครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2555 ได้มีบัญชีรายชื่อทุกตำแหน่งในบัญชีเดียวกันพิจารณาพร้อมกันนั้น โดยข้อเท็จจริงการที่ พล.อ.อ.สุกำพลเสนอชื่อเพียงชื่อเดียวโดยไม่มีรายชื่อนายทหารชั้นนายพลรายอื่นเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามธรรมเนียมหรือแนวทางที่เคยปฏิบัติและไม่มีเหตุผลข้อเท็จจริงใดรองรับ
น.ส.สุภากล่าวว่า การกระทำของ พล.อ.อ.สุกำพล ในการแต่งตั้ง พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ผู้ช่วย ผบ.ทบ.เป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนอย่างมีสาระสำคัญ และขัดต่อ พ.ร.บ.จัดระเบียบข้าราชการกระทรวงกลาโหม ชี้ให้เห็นถึงเจตนาอย่างชัดแจ้งว่าได้ใช้สถานะหรือตำแหน่งรัฐมนตรีก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติราชการการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม โดยจากที่ พล.อ.อ.สุกำพลระบุว่า “ถ้าไม่แทรกแซงล้วงลูกเลยก็ไม่ต้องเป็น รมว.กลาโหมเลยดีกว่า” ไม่อาจตีความหรือวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นได้ กรณีนี้ยิ่งกว่าคดีของนายประชา ประสพดี อดีต รมช.มหาดไทย ที่เข้าไปแทรกแซงการตั้ง ผอ.องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย ที่เป็นจุดเล็กๆ แต่ พล.อ.สุกำพลเข้าไปแทรกแซง รั้วของชาติ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ระบบราชการ การเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงย่อมให้เกิดปัญหาให้ฝ่ายการเมืองมาแทรกแซงไม่จบสิ้นเหมือนในอดีต ทำให้ข้าราชการประจำวิ่งเข้าหานักการเมืองเพื่อตำแหน่ง เพื่อความก้าวหน้า
“รัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศหมดความศักดิ์สิทธิ์ และทำลายความน่าเชื่อถือและศรัทธาของประชาชนที่ให้การสนับสนุนมาบริหารประเทศ ประกอบกับกระทรวงกลาโหมมีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญคือ การพิทักษ์รักษาเอกราชและความมั่นคงของชาติจากภัยคุกคามทั้งจากภายในและภายนอกราชอาณาจักร หากปล่อยปละละเลยให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใช้สถานะของตนเองเข้าไปดำเนินการดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดความอ่อนแอในการบังคับบัญชา แตกความสามัคคีในคณะทหาร ซึ่งระบบการแต่งตั้งที่กฎหมายกำหนดไว้ดีต้องล่มสลาย ขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ราชการของข้าราชการทหารต้องเสื่อมถอยลง และต้องเสื่อมประสิทธิภาพ ดังนั้น แม้ พล.อ.อ.สุกำพลจะได้พ้นตำแหน่งไปแล้ว ก็สมควรที่ สนช.จะใช้ดุลพินิจลงมติถอดถอนเพื่อแสดงความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย และป้องกันไม่ให้ พล.อ.อ.สุกำพล กลับเข้ามีอำนาจหรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือตำแหน่งใดอื่นในหน่วยงานของรัฐได้อีก” นางสุภาระบุ
ด้าน พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวว่า ยืนยันว่าได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 และข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการแต่งตั้งทหารชั้นนายพล พ.ศ. 2551 และแบบธรรมเนียมปฏิบัติของกระทรวงกลาโหมทุกขั้นตอน มีการนัดประชุม มีกรอบเวลาในการทำงาน มีองค์ประชุมครบ โดยมีการจัดประชุม 2 ครั้ง โดยครั้งแรกมีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาแต่งตั้งปลัดกระทรวงกลาโหมเพียงตำแหน่งเดียว ซึ่งส่วนได้เสนอชื่อ พล.อ.ทนงศักดิ์ ต่อที่ประชุมร่วมกับ พล.อ.ชาตรี ทัตติ ขอยืนยันว่า พล.อ.ทนงศักดิ์ ไม่ใช่รุ่นเดียวกับตนแต่เป็นรุ่นน้องหนึ่งปี ส่วนสาเหตุที่ไม่ให้ พล.อ.พิณภาษณ์ สริวัฒน์ เข้ามาร่วมการประชุมด้วย เพราะ พล.อ.พิณภาษณ์ เป็นแค่ผู้ช่วยเลขานุการเท่านั้น มีหน้าที่จดบันทึกการประชุมอย่างเดียว ไม่มีสิทธิออกเสียงทั้งสิ้น ประกอบกับตนเองต้องการรักษาความลับ อีกทั้งการประชุมครั้งนี้มีแค่วาระเดียวเท่านั้น สามารถจำเอาก็ได้ ไม่ต้องจดบันทึกการประชุมผลการพิจารณา
พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวว่า ในครั้งนั้นผู้บัญชาทหารสูงสุด คือ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารบก คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารเรือ คือ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ และตน รวม 4 คน มีมติเลือก พล.อ.ทนงศักดิ์เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม มีเพียง พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ คนเดียวที่เสนอชื่อ พล.อ.ชาตรี ประเด็นสำคัญคือ การได้มาซึ่งปลัดกระทรวงกลาโหมนั้นจากการลงมติเป็นการถามทีละคน ส่วนการประชุมครั้งที่ 2 เป็นการพิจารณาโยกย้ายนายทหารทุกหน่วยราชการ 811 คน ทุกรายชื่อได้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างถูกต้อง โดยมีการพิจารณาคณะกรรมการของแต่ละส่วนราชการสังกัดกระทรวงกลาโหมทั้งหมด และกรรมการตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 ที่เข้าร่วมประชุมซึ่งประกอบด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพทุกคนได้เห็นชอบและร่วมลงนามทั้งหมด
“ผมขอยืนยันอีกครั้งว่าเป็นการประชุมที่ถูกต้องทุกประการ สิ่งที่สำคัญคือ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการเหล่าทัพ ได้ให้การยืนยันต่อคณะกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช.เป็นลายลักษณ์อักษรยืนยันว่า เป็นการประชุมที่ถูกต้องตามกฎหมายและข้อบังคับทุกประการ แต่ ป.ป.ช.ละเลยที่จะพิจารณาคำชี้แจงของท่านทั้งหลายเหล่านี้อย่างสิ้นเชิง ทั้งๆ ที่ลายลักษณ์อักษรที่เขาตอบมานั้นเป็นช่วงที่ผมออกจากตำแหน่งรมว.กลาโหมแล้ว” พล.อ.อ.สุกำพล
พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวว่า การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.โดยเสียงข้างมากละเลยไม่พิจารณาคำยืนยันของส่วนราชการในกระทรวงกลาโหม ประกอบด้วย สำนักนโยบายและแผน กระทรวงกลาโหม กรมเสมียนตรา และกรมพระธรรมนูญที่ยืนยันตรงกันว่า รมว.กลาโหมเป็นผู้บังคับบัญชาของปลัดกระทรวงกลาโหม ดังนั้น ปลัดกระทรวงกลาโหมจึงเป็นนายทหารชั้นนายพลที่ขึ้นตรงต่อ รมว.กลาโหม โดยรัฐมนตรีมีอำนาจเสนอบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมต่อที่ประชุมคณะกรรมการการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของกระทรวงกลาโหมได้
จากนั้น นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ในฐานะประธานที่ประชุม ได้นัดที่ประชุม สนช.ประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะลงมติถอดถอน พล.อ.อ.สุกำพลหรือไม่ในวันที่ 16 ก.ย. ซึ่งการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 กำหนดให้ต้องใช้เสียง 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิก สนช.เท่าที่มีอยู่ หรือ 131 คนจากสมาชิก สนช.ที่มีอยู่ 217 คน